รีวิวจัดเต็ม! “DAAT Score” สอบวัดความรู้การตลาดดิจิทัลครั้งแรกของไทย

  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) ได้จัดสอบ DAAT Score ซึ่งอาจใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับและรับรองความรู้ Digital Marketing Communication ระดับประเทศ โดยวันนี้ (25 พ.ค. 2562) ได้จัดสอบที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพทั้งช่วงเช้าและบ่าย  โดยหมวดที่สอบจะมีอยู่ 9 หมวด หมวดละ 10 ข้อ 

  1. Digital Marketing Strategy
  2. Display & Programmatic
  3. Performance Marketing
  4. Search (SEO & SEM)
  5. Website & Mobile Site & Mobile App
  6. Social Media
  7. Data & Digital Measurement
  8. E-commerce
  9. Cyber Law & Ethic

ซึ่งคำถามของแต่ละหมวดจะถูกสุ่มมาจากฐานข้อมูล แต่ละคนจะได้คำถามและลำดับคำถามไม่เหมือนกัน ฉะนั้นใครที่คิดจะมาชำเลืองคำตอบคนข้างๆตอนสอบละก็ คงต้องคิดใหม่ 

 

ก่อนสอบ

  1. สามารถสมัครสอบที่ daatscore.exammax.co ละทะเบียนและกรอกรายละเอียดให้เรียบร้อย (ที่นั่งสอบแต่ละรอบมีจำนวนจำกัด) ส่วนค่าสมัครสอบอยู่ที่ 800  บาท (นิสิต นักศึกษา) 1,250 บาท (สมาชิกสมาคมโฆษณาดิจิทัล) 1,500 บาท (บุคคลทั่วไป) อย่างไรก็ติดตามการรับสมัครสอบได้ที่นี่
  2. จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาหาเราเพื่อคอนเฟิร์มการมาสอบล่วงหน้า 2-3 วัน และเราจะได้อีเมลจากทาง DAAT เกี่ยวกับกำหนดการสอบ หัวข้อที่จะสอบ และที่สำคัญคือ Username และ Password ที่เราต้องจดบนกระดาษที่ทาง DAAT เตรียมไว้ เพราะเราไม่สามารถเปิดมือถือระหว่างสอบได้
  3. 2 อย่างที่ต้องพกมาด้วยตอนสอบคือ บัตรประชาชน (หรือบัตรนักศึกษา) กับเครื่องคิดเลข เพราะทาง DAAT ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขจากในมือถือหรือในคอมพิวเตอร์ที่นั่งสอบได้ เจ้าหน้าที่จะเตรียมกระดาษทดเลขให้บนโต๊ะ ส่วนปากกา เจ้าหน้าที่ก็มีให้ยืม แต่แนะนำเอามาเองดีกว่า
  4. ควรไปถึงห้องสอบอย่างมากครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าจะไปก่อนนิดหน่อย วันนี้ก็มีให้ลงทะเบียนแล้ว อย่าลืมยื่นบัตรประชาชนหรือนักศึกษาให้เจ้าหน้าที่และเซ็นชื่อกำกับ และรับหมายเลขบัตรประจำโต๊ะที่นั่งสอบ

หน้าตา Dashboard ของระบบการสอบ DAAT Score

 

รอกประวัติส่วนตัว และสามารถเปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้ล็อกอินได้

ช่วงสอบ

  1. ข้อสอบมี 90 ข้อ แต่ละข้อมี 4 ตัวเลือกให้ตอบภายใน 3 ชั่วโมง แต่เอาจริงๆใช้เวลาไม่ถึง  เพราะช่วงเกือบ 10 นาทีแรกจะมีเจ้าหน้าที่อธิบายถึงรายละเอียดและขั้นตอนการสอบตั้งแต่ล็อกอินเข้าระบบ และส่วนตัวก็ทำสอบเสร็จแค่ชั่วโมงเดียว
  2. เราสอบกับคอมพิวเตอร์ของมหาฯลัยกรุงเทพ โดยใช้ Username และ Password ที่ทาง DAAT ส่งมา 2-3 วันก่อนวันสอบ หลังจากล็อกอินแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกรายละเอียดส่วนตัว เปลี่ยน Username กับ Password ที่เราอยากใช้ก้ได้
  3. ความยากของข้อสอบมีอยู่ 3 ระดับ: Easy, Average และ Hard คำถามง่ายเช่นคำถามที่ถามนิยามตรงๆ เช่นต้องรู้ว่า Social Media คืออะไร? SEO คืออะไร? แต่สำหรับคำถามยากก็ไม่ได้ยากมาก หากใครเตรียมตัวมาดีหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับคำถามนั้นๆมาก่อนก็น่าจะทำได้
  4. บางข้อถ้าแม่นเรื่อง Customer Journey จะเข้าใจว่าข้อสอบถามอะไรได้ง่ายขึ้น บางทีเจอคำถามที่ต้องคิด เช่นลูกค้ามี Campaign Objective แบบนี้ เราควรแนะนำอย่างไร ถึงจะทำการตลาดออกมาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  5. มีคำนวนด้วย ฉะนั้นพวกเมตริกซ์จำเป็นและใช้บ่อยอย่าง CTR, CPM, CPC แม้แต่ Reach, Impression, Frequency ก็ต้องรู้ด้วยว่าคืออะไร ใช้ตอนไหน คำนวนอย่างไรด้วย
  6. ส่วนเรื่องวัดผลความรู้ทางเทคนิคและศัพท์เฉพาะก็พอมีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะเรื่อง Website และ Mobile App ซึ่งส่วนตัวไม่ได้รู้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าใครใช้ซอฟท์แวร์หรือเครื่องมือดิจิทัลเป็นประจำ เช่น Google Adwords, Google Analytics, Facebook, Twitter, Line, Youtube ก็ไม่น่าจะมีปัญหา (รู้ว่าเครื่องมือแต่ละอย่างใช้ทำอะไร อย่างไรก็ยังดี!)
  7. ทักษะและข้อควรระวังในการเขียนคำโฆษณาก็มีในข้อสอบด้วย เราต้องคิดให้รอบคอบและเป็นเหตุเป็นผลว่าคำโฆษณานั้นเหมาะสมและได้ผลดีหรือไม่ ส่วนตัวชอบคำถามแนวนี้ เพราะมันมีผลกับการเขียน Ad ให้ตรงกับ Google Adwords Policy ด้วย
  8. เราควรรู้เรื่องเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการตลาดดิจิทัลไว้บ้าง เช่น Programmatic, AI, Machine Learning แต่บอกให้หายห่วงว่าข้อสอบไม่ได้ถามลึกมาก (หรือตัวเองโชคดีที่เจอคำถามไม่ยากในหมวดนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน)
  9. ส่วนข้อกฎหมายกับจริยธรรม ก็พอทำได้โดยไม่ต้องรู้ข้อกฎหมายแบบนักกฏหมายก็ได้ แต่โลกในการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ อย่างน้อยก็อยากให้มองในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนตอบคำถาม
  10. ข้อสอบไม่ได้ทดสอบแค่ความรู้ทางด้าน Digital Marketing Communication อย่างเดียว แต่ยังทดสอบเรื่องตรรกะและการใช้เหตุผลด้วย บางข้อที่ไม่ต้องใช้ความรู้เรื่องโฆษณาการตลาดเลยก็ใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์คำนวนและตอบได้เลย

หลังสอบ

สอบเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งรีบออกจากห้องสอบ เพราะนอกจากเราจะใช้เวลาทีเหลือทบทวนคำถามคำตอบแล้ว เราสามารถรู้ผลสอบได้เลยทันทีผ่าน DAAT Scorecard วิเคราะห์เป็นชาร์ตให้คร่าวๆว่าความรู้ด้านไหนที่เราถนัดและต้องปรับปรุง เวลาที่เราใช้ทำข้อสอบในแต่ละข้อและเวลาที่เราใช้ทำข้อสอบทั้งหมด หรือใครอยากจะไปดูผลสอบแบบละเอียดๆที่บ้านเลยก็ได้ โดยเข้าเว็บไซต์ที่ใช้สอบ Username และ Password และดูผลสอบ

 

ส่วนหนึ่งของ DAAT Scorecard ที่บอกหมดว่าเราทำถูกหรือผิดในคำถามที่ยากหรือง่ายแค่ไหน อยู่ในหมวดอะไร ใช้เวลาไปเท่าไหร่

 

ที่เซอร์ไพรส์คือ ระบบนับด้วยนะว่าเราเปลี่ยนคำตอบจากคำตอบที่ผิดเป็นคำตอบที่ถูก คำตอบที่ผิดเป็นคำตอบที่ผิด และคำตอบที่ถูกเป็นคำตอบที่ผิด น่ากลัวจริงๆ (ฮา) 

 

สอบเสร็จ ได้ใบรับรองจาก DAAT และคะแนนที่สอบจะอยู่ได้ถึง 2 ปี

 

ความเห็นส่วนตัว คิดว่าควรจะมีการเทียบคะแนนระหว่างคนที่มาสอบหรืออาจจะเริ่มเก็บสถิติผลสอบของคนที่มาสอบทั้งหมดตั้งแต่วันนี้ได้เลย เพราะต่อให้ระบบบอกว่า Good หรือ Very Good เราก็ไม่รู้ว่าบริษัทฯในอุตสาหกรรมการตลาดดิจิทัล ต้องให้ได้เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าดีพอสำหรับบริษัทฯเพื่อคัดหรือพัฒนาคนที่กำลังทำงานด้านนี้ หากทาง DAAT ต้องการให้ DAAT Score เป็นมาตรฐานความรู้การสื่อสารการตลาดดิจิทัล คงต้องสำรวจความต้องการของบริษัทฯเพิ่มเติม แต่สอบครั้งแรกสำหรับบุคคลทั่วไปก็ถือว่าจัดสอบได้ประทับใจ

 

อ่านถึงตรงนี้ ใครที่ไปสอบมาแล้วอยากแชร์ มาบอกกันได้เลยครับ


  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th