นับวันคนในยุคดิจิทัล จะยิ่งมีความเป็น “Hyper Connected” คือ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เรียกได้ว่าเกือบ 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
นับตั้งแต่ตื่นนอน ก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็คทั้ง e-Mail และ Social Network ขณะที่ระหว่างวัน เข้าเน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ คู่กับมือถือ กระทั่งเมื่อเลิกงาน หรือเลิกเรียน กลับมาบ้าน ไปจนถึงก่อนนอน โทรศัพท์มือถือยังคงอยู่ในมือ พร้อมกันเลื่อน Feed บนหน้า Social Network ของตนเอง หรือตอบแชทกับเพื่อน
พฤติกรรม “Hyper Connected” เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมาก และใช้ Facebook ติดอันดับต้นๆ ของโลก !!!
สำรวจพฤติกรรมเสพติดเน็ตคนไทย
ประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ตัวเลข Urban Population ดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปัจจุบัน “ความเป็นเมือง” หรือ “Urbanization” ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ เหมือนอย่างในอดีตที่ทุกอย่างอยู่รวมกันที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ แต่ได้ขยายไปยังเมืองรอง และกระจายสู่พื้นที่ต่างๆ เปลี่ยนแปลงให้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ หรือจังหวัดนั้นๆ มีวิถีชีวิตแบบ “Urban Lifestyle”
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทย ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใด สามารถอัพเดทเทรนด์ หรือข้อมูลข่าวสารได้เร็วไม่น้อยไปกว่าทั่วโลก คือ อัตราการเข้าถึง “อินเทอร์เน็ต”
ปัจจุบัน 82% ของประชากรไทย สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมี 79% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยในจำนวนคนไทยที่เข้าถึงออนไลน์ มี 57 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ (Internet Active User)
ขณะที่พฤติกรรมคนไทย ต่อการใช้เวลาอยู่บนออนไลน์ โดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน ในจำนวนเวลาอยู่บนออนไลน์ ใช้เวลาไปกับ 3 กิจกรรมหลัก คือ
- Social Media เฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน
- ดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มทีวี ครอบคลุมทัง broadcast, video streaming, video on demand) 3 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน
- ฟัง Music Streaming 1 ชั่วโมง 30 นาที
ส่วนแพลตฟอร์ม Social Media ยอดนิยมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ Facebook / YouTube / LINE / Facebook Messenger / Instagram / Twitter / Skype / LinkedIn / Pinterest / WeChat
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนได้ว่าทุกวันนี้คนไทยจำนวนมาก มีพฤติกรรม “FOMO” (Fear Of Missing Out) คือ กลัวที่ตัวเองจะตกกระแส กลัวที่ตัวเองจะไม่ทันข่าวร้อนมาแรงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และอยากจะรู้ – อยากจะแชร์ก่อนใคร จึงทำให้เกาะติด Social Network ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามในขณะที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึง ทำให้คนกลายเป็น Globalization สิ่งที่ตามมา คือ เมื่อคนรับข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ บนออนไลน์ในระดับที่ “มากเกินไป” ย่อมส่งผลให้เกิดอีกหนึ่งพฤติกรรมตามมา คือ “JOMO” (Joy of missing out) ซึ่งเป็น Mega Trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเร่ิมปรากฏให้เห็นแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ คนใช้ Facebook น้อยลง
พฤติกรรม JOMO คือ ลดการใช้อินเทอร์เน็ต และลดการเกาะติด Social Network และหันไปมีความสุขกับการที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องราวในสื่อสังคมออนไลน์บ้าง
Checklist คุณเข้าข่าย “FOMO” หรือเปล่า ?!?
รู้หรือไม่…? ปัจจุบันมีคนไทย จำนวน 25.3 ล้านคน ที่มีพฤติกรรมเสพติดอินเทอร์เน็ตในระดับ “FOMO” โดยอยู่ในทุก Generation เพียงแต่คนแต่ละรุ่น มีพฤติกรรม FOMO ในระดับแตกต่างกัน
- Gen Z และ Gen Millennials เสพติดอินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยพฤติกรรม FOMO ในกลุ่ม Gen Z อยู่ที่ 67% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว และกลุ่ม Gen Millennials 57% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกลุ่ม Gen Z และ Gen Millennials มีอาการ FOMO มากสุด เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงสามารถ adopt เทคโนโลยีต่างๆ ได้เร็ว และใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลา
- Gen X มีพฤติกรรม FOMO 36% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว ขณะที่คนกลุ่ม Baby Boomers มีอาการ FOMO 16% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว
เพราะฉะนั้นแล้ว มา Checklist กันว่าคุณเป็น “FOMO” หรือไม่ ?!?
1. รู้สึกว่าชีวิตนี้ขาด “โทรศัพท์มือถือ” ไม่ได้ ต้องอยู่ติดตัวในทุกๆ เวลา ในทุกๆ ที่
2. มีอาการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็คทุกๆ 1 นาที เพื่อเลื่อนดู Feed บน Social Network หรือทุกๆ ครั้งที่มีแจ้งเตือน (Notification) เด้งขึ้นมา อดใจไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู
3. ไม่อยากตกกระแส ไม่อยากพลาดเรื่องที่กำลังเป็น Talk of the town เพราะกลัวว่าตัวเองจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง !!
4. อัพเดทเรื่องราวบน Social Network ของตัวเองต่อเนื่อง
5. ชอบมากกับโปรโมชั่นดีลสุดพิเศษบนออนไลน์ เช่น โปรโมชั่น Deal of the day ลด 80% 3 วันนี้เท่านั้น หรือเจอข้อความอัพเดทสถานะสินค้าคงเหลือในสต็อค เช่น ขณะนี้สินค้าที่คุณกำลังสนใจอยู่ มีอยู่ในสต็อค 3 ชิ้น หรือขายไปแล้ว 90% ยิ่งทำให้คุณรู้สึกว่า ตัวเองจะพลาดโปรเด็ดๆ และสินค้าที่เหลือน้อยเต็มที่ไม่ได้ !!! จึงต้องรีบคลิ๊กซื้อทันที
หากมีอาการดังนี้ นั่นหมายความว่าคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีพฤติกรรม หรืออาการ “FOMO”
เสพติดเน็ตมาก! คนไทย “เครียด” ติดอันดับ 3 ของโลก
จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลสถิติคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต และพฤติกรรมการใช้เวลาอยู่บน Social Network แพลตฟอร์มต่างๆ ถือว่า “มาก” เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
สิ่งที่ตามมาคือ “ภาวะความเครียด”
- คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 36% รู้สึกว่าตนเองมี “ความเครียด” จากการเสพติดอินเทอร์เน็ต และ Social Network
- ภาวะความเครียดจากพฤติกรรม “FOMO” ในกลุ่มคนไทย สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อินเดีย และ อันดับ 2 รัสเซีย
เครียดมาก ก็ผ่อนบ้าง เกิดกลุ่ม “JOMO” ลดใช้เน็ต และหันไปทำ “Digital Detox”
เนื่องด้วยดิจิทัล เข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในวันทำงาน และในวันหยุดให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ส่งผลให้ทุกวันนี้ หลายคนใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ มากกว่าออฟไลน์
อย่างคนไทยใช้เวลาอยู่บนออนไลน์มากถึง 9 ชั่วโมง มีผลให้คนไทยเกิดความเครียด ทำให้เวลานี้ เกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “JOMO” (Joy of missing out) เป็นโมเมนต์ที่ผู้บริโภคอยากพักจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโลกออนไลน์ โดยรู้สึกมี “ความสุข” ที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องใน Social Media บ้าง และใช้เวลาออฟไลน์เต็มที่ เช่น ไปสปา เดินทางท่องเที่ยว นัดเพื่อน
“JOMO” เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในประเทศไทย มีคนกลุ่มนี้ประมาณ 5.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรไทย โดยคนกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็น “JOMO” มากที่สุด คือ Gen X
ปัจจัยที่ทำให้เกิดคนกลุ่ม “JOMO” มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. คนมองว่าบนโลกดิจิทัล มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ในขณะที่คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม คนจึงเร่ิมพักจากออนไลน์ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกจริง เช่น สปา, ท่องเที่ยว
2. คนทำงานยุคนี้ ต้องการ “Work-Life Balance” เป็นการสร้างความสมดุลในการทำงาน และการใช้ชีวิต จึงต้องการให้เวลากับครอบครัว ไม่ต้องการอยู่กับหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อทำงานตลอดเวลา
3. คนต้องการ Real Life Experience และ Healthy Living
สิ่งที่ตามมาจากการเกิดเทรนด์ JOMO คือ ทำให้แนวโน้ม “Digital Detox” ขยายตัวทั่วโลก ซึ่งเป็นการบำบัดพฤติกรรมติดหน้าจอ หรือติดออนไลน์ แล้วหันไปอยู่กับ Real Life มากขึ้น เช่น พักผ่อน ไปท่องเที่ยว ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือไปนั่งตามร้านคาเฟ่ อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมงานอดิเรกที่ไม่มีออนไลน์เข้ามา
นอกจากนี้ “JOMO” ยังทำให้เทรนด์การฟัง “Podcast” เติบโตด้วยเช่นกัน เพราะในขณะที่กำลังฟัง ก็สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นไปได้ด้วย โดยไม่ต้องอยู่กับหน้าจอตลอดเวลา
คนๆ หนึ่ง เป็นทั้ง “FOMO – JOMO” ในคนเดียว – แบรนด์ต้องเข้าใจ “Right Moment”
คุณกนกกาญจน์ ประจงแสงศรี กรรมการผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและการวิเคราะห์ บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย ถึงแม้คนเราจะไม่สามารถอยู่ได้ถ้าขาดการเชื่อมตนเองเข้ากับโลกดิจิทัล แต่ก็มีคนอยู่หลากหลายกลุ่มที่เริ่มที่จะมีความสุขกับการที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องในโซเชียลบ้าง
การจะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ในขณะที่เขากำลังอยู่ในโมเมนต์ใหม่ หรือ JOMO (Joy of missing out) ต้องมีการบริหารจัดการสื่อเป็นอย่างดีและมีความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อที่จะผสมผสานสื่อที่อยู่ในโมเมนต์ที่เค้าแปลกแยกออกไปนั้นได้
ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อนอกบ้านหรือการจัดกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มคน Gen X ในประเทศไทยเริ่มที่จะเป็นกลุ่ม JOMO มากขึ้น โดยมีการเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1.5 เท่าจากปีที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้ว ผู้บริโภคคนๆ หนึ่ง เป็นได้ทั้ง “FOMO” และ “JOMO” เพราะเป็น “โมเมนต์” ที่ในบางเวลาคนเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอด แต่ในบางช่วงก็พักจากออนไลน์ มาอยู่บนออฟไลน์ เพื่อให้เวลากับตัวเอง ใช้เวลากับครอบครัว และการพักผ่อน เพียงแต่น้ำหนักของฝั่งใดจะมากน้อยกว่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ดังนั้น นักการตลาด และนักสื่อสาร จึงต้องจับ “Right Moment” ของผู้บริโภคให้ถูกว่า โมเมนต์ไหน ผู้บริโภคกำลังเป็น FOMO และโมเมนต์ไหนผู้บริโภคเป็น JOMO เพื่อนำมาวางกลยุทธ์ “Moment Planning” และสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เหมาะกับโมเมนต์ของผู้บริโภค