สิ่งที่น่าสนใจของการทำธุรกิจท่ามกลางภาวะ Digital Transformation ก็คือ การเติบโตของตลาด ออฟไลน์ยังรักษาการเติบโตไว้ได้หรือไม่ ตลาดออนไลน์ขยายหัวหาดไปได้มากแค่ไหนแล้ว เชื่อว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า…ยุคนี้ Go Online คือทางรอด!
“ตัวเลขตลาดค้าปลีกโลก ปี 2018 ยังคงเติบโตที่ 6% ขณะที่ ตลาดอีคอมเมิร์ซ เติบโตถึง 23%”
นอกจาก ตัวเลขการเติบโตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เกือบ 4 เท่าตัว ยังมีข้อมูลจาก Amazon ที่เปิดเผยเกี่ยวกับเทรนด์การค้าบนแพลตฟอร์มของตนเองซึ่งระบุว่า…
– สินค้ามากกว่า 50% ที่ขายบนแพลตฟอร์มของ Amazon เป็นธุรกิจ SME
– มี SME จาก 130 ประเทศทั่วโลก เลือก Amazon เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า
– ในปี 2018 มี SME กว่า 200,000 ราย สามารถสร้างยอดขายมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐบน Amazon ซึ่งคิดเป็นการเติบโตราว 20%
แม้ว่าการดำเนินงานของ Amazon จะมีเว็บไซต์ใน 18 ประเทศ รองรับถึง 27 ภาษา ทำให้ Amazon แต่ภายใต้เทรนด์การเติบโตของตลาดและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้ Amazon ได้จัดตั้งทีมงานในชื่อ “Amazon Global Selling” เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้ SME ทำการค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศมากขึ้น
ถ้าถามว่า เทรนด์อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ น่าสนใจแค่ไหน ต้องลองตัดสินจากตัวเลขการเติบโตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวเคยมีสัดส่วนเพียง 15% แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 29% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดรวมอีคอมเมิร์ซนั่นเอง
อะไรคือ “ความโดดเด่น” ของ “Amazon Global Selling”
หากมองถึงจุดเด่นของ Amazon Global Selling คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องเครือข่ายและฐานลูกค้า และระบบโลจิสติกส์ เนื่องจาก Amazon มีฐานลูกค้ากว่า 300 ล้านรายอยู่บนแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้แพลตฟอร์ม Global Selling สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนดังกล่าวโดยปริยาย ซึ่งหมายถึงโอกาสในการขยายเข้าสู่กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่ในตลาดใหญ่อย่างอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนเรื่องของโลจิสติกส์ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นเนื่องจาก Amazon มีศูนย์จัดส่งสินค้ากว่า 175 แห่งทั่วโลก ซึ่งสามารถกระขายสินค้าไปสู่ลูกค้าใน 185 ประเทศ รวมถึงการเปิดให้บริการ FBA (Fulfillment by Amazon) ที่ช่วยจัดการออเดอร์และจัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าระหว่างประเทศ
ในส่วนของนวัตกรรมการบริการและเครื่องมือ Amazon Global Selling จะช่วย SME ดูแลตั้งแต่การเปิดบัญชีผู้ขาย การลงรายการสินค้า การบริหารราคาสินค้า บริการโลจิสติกส์ การจัดส่งสินค้า การแสดงความคิดเห็นของลูกค้า รายงานธุรกิจและการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเครื่องมือและบริการใหม่ ๆ นับ 50 รายการภายในปีนี้ เพื่อช่วย SME และขยายธุรกิจบนมาร์เก็ตเพลสของ Amazon ซึ่งลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และบริการ
SME ไทย จะได้โอกาสอะไรจากแพลตฟอร์ม Amazon
แม้จะไม่ได้รับการเปิดเผยตัวเลขผู้ประกอบการไทยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Amazon แต่ตอนนี้ก็มีสินค้าไทยที่ขายดีครองใจชาวอเมริกัน (บนรายการ Amazon Choice) ได้แก่ RoiThai น้ำแกงปรุงสำเร็จรูป, PJ Wood เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา, Wilkins Cleanser ปากกาทำความสะอาดรองเท้า, Banana JOE ขนมเพื่อสุขภาพ และ Fairtex Muay Thai อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
ส่วนเทรนด์สินค้าที่อยู่ในความสนใจของชาวอเมริกันในตอนนี้ ได้แก่ เสื้อผ้า, บ้านและของตกแต่ง, สินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง, อุปกรณ์กีฬา และของเล่น
กลับมาที่ประโยชน์ของ SME ไทย กับการใช้ Amazon Global Selling ที่ Amazon ชูประโยชน์ คือ การสร้างความตื่นตัวในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการชาวไทย เนื่องจากเป็นทักษะที่ SME จำนวนไม่น้อยยังขาดอยู่จนกลายเป็นปัญหา ซึ่ง Amazon พยายามนำจุดแข็งในการเข้าถึงตลาดและลูกค้านับร้อยประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มของ Amazon และให้ความรู้การค้าออนไลน์ การจัดคอร์สอบรม เพื่อวางรากฐานทางธุรกิจระหว่างประเทศ ถือเป็นการปลดล็อกปัญหาของ SME ไทย ที่มีความกังวลทั้งเรื่องขั้นตอน เอกสาร ระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเรื่องโลจิกติกส์ และกฎหมายในต่างประเทศอีกด้วย
ไทยแลนด์…แดนทองอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ
การประกาศจัดตั้งทีม Amazon Global Selling เพื่อสนับสนุน SME ไทยในครั้งนี้ ทาง Amazon ย้ำว่าเป็นการจัดตั้งทีมงานและสำนักงานในไทยเท่านั้น โดยความพิเศษ คือ ไทยเป็นประเทศแรกที่มีการจัดตั้งทีมงานและสำนักงาน นอกเหนือจากสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจาก Amazon ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME ไทย ซึ่งมีศักยภาพที่โดดเด่นใน 3 ด้าน ได้แก่ เป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งของโลก ทั้งยังมีศักยภาพในการทำธุรกิจนำเข้า – ส่งออก โดยเห็นได้จากฐานการส่งออกที่เติบโตขึ้นถึง 7.7% และการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นการส่งออกของ SME นอกจากนี้ Amazon ยังเคยมีความร่วมมือกับ ThaiTrade ในการจัดอบรมแก่ผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนการค้าออนไลน์มาแล้ว
Amazon จะได้ประโยชน์อะไรจากผู้ประกอบการไทย
เรื่องนี้ คุณเบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ Amazon Global Selling ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายว่า การเข้ามาของ Amazon Global Selling ในประเทศไทย จะโฟกัสที่กลุ่มธุรกิจหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น SME แบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงภาคอุสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย โดย Amazon จะดำเนินการจัดเก็บรายได้จาก 3 ส่วน คือ ค่าบริการ, ค่าคอมมิทชั่น และค่า FBA ซึ่งเป้าหมายของ Amazon ก็คือการพา SME ไทย ขึ้นสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศให้ได้มากที่สุด