‘ขยะพลาสติก’ จะหายไปจากไทยในปี 2570?

  • 704
  •  
  •  
  •  
  •  

หลังจากภาคเอกชนหลาย ๆ รายในบ้านเรา มีการตื่นตัวในเรื่องมลภาวะจากขยะพลาสติก และบางแห่งได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ขององค์กร ด้วยการลด ละ เลิกการใช้พลาสติกที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ ก็ถึงคราวภาครัฐออกมาเป็นแกนนำบ้าง โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 วางเป้าหมายต้องการลด-เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดภายในปี 2565 และนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

ร่างโรดแมปดังกล่าว จะเป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งมี 2 เป้าหมาย ได้แก่

  1. ลดและเลิกใช้พลาสติก โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ช่วง คือ ระยะแรก ภายในปี 2562 กำหนดให้เลิกใช้พลาสติกจำนวน 3 ชนิด ประกอบด้วย พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม , พลาสติกผสมสารอ๊อกโซและพลาสติกผสมสารไมโครบีต (Microbead) เช่น ถุงที่ใช้ตามซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ (ที่แม้จะสามารถย่อยสลายได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนและแสงแดดจแต่ยังไม่มีผลวิจัยรองรับว่า จะสามารถย่อยสลายหายไป ไม่หลงเหลือสิ่งตกค้างในธรรมชาติ จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก)

ส่วนระยะที่ 2 ภายในปี 2565 จะยกเลิกการใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (ใช้แล้วทิ้ง) , กล่องโฟมบรรจุอาหาร , หลอดพลาสติก ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ในเด็ก คนชรา และผู้ป่วย) และแก้วพลาสติกแบบบางประเภทที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

  1. การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยเป้าหมายในส่วนนี้จะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ส่วนที่เป็นของเสีย จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งได้มีการร่างแผนปฏิบัติการในเรื่องนี้ไว้ 3 มาตรการคือ 1. ลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด , 2. ลดและเลิกใช้พลาสติกในขั้นตอนบริโภค ด้วยการขับเคลื่อนการลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถนำมากลับเข้าสู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3. จัดการขยะพลาสติกหลังจากการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริมสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ภาพจาก shutterstock

สำหรับผลที่คาดว่า จะได้รับจากโรดแมปนี้ คือ จะความสามารถในการลดขยะพลาสติกได้ถึง 0.78 ล้านตันต่อปีโดยประมาณ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สาเหตุภาวะโลกร้อน) 1.2 ล้านตันหรือเทียบเท่า

ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศได้วางโรดแมปเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก อาทิ คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการกับพลาสติกฉบับใหม่ (EU Plastics Strategy) เพื่อลดใช้พลาสติกในภาคอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ตั้งเป้าหมายในการรีไซเคิลพลาสติกภายใน EU ให้ได้ 55% ในปี 2572 และลดการใช้ถุงพลาสติกจาก 90 ถุงต่อคนต่อปีให้เป็น 40 ถุง ภายในปี 2568

ขณะที่แบรนด์ระดับโลกเอง ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น แมคโดนัลด์ เริ่มยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในอังกฤษ และสตาร์บัคส์ ที่ประกาศยกเลิกใช้หลอดพลาสติกทุกสาขาทั่วโลกภายในปี 2563

รวมถึง Adidas จับมือกลุ่ม Parley for the Oceans ทำโปรเจคคัดเลือกขยะก่อนที่จะลงสู่ทะเล จากนั้นก็เปลี่ยนขยะพลาสติกมาเป็นเส้นด้ายในการมาผลิตเป็นรองเท้า ตั้งแต่ปี 2560


  • 704
  •  
  •  
  •  
  •