กลุ่มอภิมหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์เนม ร่วมกันบริจาค เพื่อบูรณะและก่อสร้างมหาวิหาร Notre-Dameที่มีอายุกว่า 850 ปี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองปารีส ให้กลับมาสร้างความภูมิใจให้กับชาวฝรั่งเศสอีกครั้ง
- เจ้าของแบรนด์ Gucci, Saint Laurent และอีกหลายแบรนด์ ร่วมบริจาคเงิน 100 ล้านยูโร
- LVMH เจ้าของแบรนด์ Louis Vuitton, Christian Dior, Fendi, Loewe ฯลฯ ร่วมบริจาคให้อีก 200 ล้านยูโร
- L’Oreal ร่วมบริจาคในจำนวน 200 ล้านยูโร
ล่าสุด ยอดบริจาคจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมตัวเลขล่าสุดที่ 650 ล้านยูโร หรือประมาณ 23,200 ล้านบาท
อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส[1] (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Paris) เป็นอาสนวิหารประจำอัครมุขมณฑลปารีส ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คำว่า Notre Dame แปลว่า แม่พระ (Our Lady) ซึ่งเป็นคำที่ชาวคาทอลิกใช้เรียกพระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันอาสนวิหารก็ยังใช้เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกและเป็นที่ตั้งคาเทดราของอาร์ชบิชอปแห่งปารีส อาสนวิหารน็อทร์-ดามถือกันว่าเป็นโบสถ์ที่สวยงามที่สุดในลักษณะกอทิกแบบฝรั่งเศส โบสถ์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
การก่อสร้างเป็นแบบกอทิก นับเป็นอาสนวิหารแรกที่สร้างในลักษณะนี้ และการก่อสร้างก็ทำต่อเนื่องมาตลอดสมัยกอทิก ประติมากรรม และหน้าต่างประดับกระจกสี (stained glass) มีอิทธิพลจากศิลปะแบบแนทเชอราลลิสม์ ทำให้แตกต่างจากศิลปะโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนหน้านั้น
น็อทร์-ดามเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้ “ครีบยันลอย” ตามแบบเดิมไม่ได้บ่งถึงกำแพงค้ำยันรอบอาสนวิหาร “บริเวณร้องเพลงสวด” หรือ รอบบริเวณกลางโบสถ์ เมื่อเริ่มสร้างกำแพงโบสถ์สูงขึ้นกำแพงก็เริ่มร้าวเพราะน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เพราะสถาปนิกสมัยกอทิกจะเน้นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูง บาง และโปร่ง เมื่อสร้างสูงขึ้นไปกำแพงก็ไม่สามารถรับน้ำหนักและความกดดันของกำแพงและหลังคาได้ทำให้กำแพงโก่งออกไปและร้าว สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ด้วยการเติม “กำแพงค้ำยัน” ที่กางออกไปคล้ายปีกนกด้านนอกตัววัด เพื่อให้กำแพงค้ำยันนี้หนุนหรือค้ำกำแพงตัวโบสถ์เอาไว้ เมื่อทำไปแล้วนอกจากจะมีประโยชน์ทางการใช้สอยแล้วยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างความสวยงามขึ้น ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของโบสถ์ที่สร้างแบบกอทิกไปในตัว
ในปี ค.ศ. 1793 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส โบสถ์ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประติมากรรมและศิลปะทางศาสนาถูกทำลายไปมาก อาสนวิหารได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนมีสภาพเหมือนก่อนหน้าที่ถูกทำลาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 เกิดเหตุเพลิงไหม้อาสนวิหาร สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยไฟได้โหมไหม้ตรงด้านบนของอาสนวิหาร (สาเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าเกิดมาจากการบูรณะวิหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบัน) บริเวณยอดแหลมของอาสนวิหารได้พังลง กระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติได้รับความเสียหาย งานศิลปะบางส่วนก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เหลือทิ้งไว้เพียงโครงเหล็ก และคาดการณ์ว่าไฟอาจจะลามมายังอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตกได้ โดยทางโฆษกของอาสนวิหารน็อทร์-ดามระบุว่า โครงสร้างทั้งหมดกำลังไหม้ และ “จะไม่มีอะไรเหลือ”
วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2019 หลังจากการระดมกำลังร่วมกันดับไฟที่โหมกระหน่ำอยู่ภายในอาสนวิหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว โดยสามารรักษาโครงสร้างหลักของอาสนวิหารเอาไว้ได้ ซึ่งกางเขนและแท่นมิซซาที่อยู่ภายในไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดทางด้านประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นายแอมานุเอล มาครง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อขณะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายว่า “จะบูรณะอาสนวิหารให้กลับมามีสภาพดังเดิม โดยอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ และจะจัดตั้งกองทุนระดมเงินสำหรับการบูรณะในครั้งนี้” พร้อมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทุกนายที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
Source:
Wikipedia, LVMH Instagram, Townandcountry