แม้กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามที่ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยตัวเลขการเติบโตว่าสูงถึงปีละ 8-10% มาตั้งแต่ปี 2557 และแนวโน้มก็ยังคงอยู่ในภาวะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้แพลทฟอร์มถูกพัฒนา ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้แต่เรื่องโลจิสติกส์ที่ผู้ให้บริการก็พยายามพัฒนาให้แข่งขันกันอย่างดุเดือดเช่นกัน นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ทำให้ผู้คนหันมายอมรับ และกล้าจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
แต่ภายใต้มูลค่าการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซที่มากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเจ้าของแพลทฟอร์มจะยิ้มรับกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างสถานการณ์ของ Shopee (ช้อปปี้) ซึ่งล่าสุดได้ประกาศ “เพิ่ม” ค่าธรรมเนียมการให้บริการ (ผ่านเว็บ Shopee) โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งอัตราและประเภทค่าธรรมเนียม จะเริ่มต้นเรทใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป
เรื่องดังกล่าวถือเป็นการขยับตัวที่น่าติดตาม เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมในครั้งนี้อาจเป็นหมากสำคัญที่ Shopee พยายามหาช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการขาดทุนตลอดระยะที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการขาดทุนเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ระบุว่า Shopee มีตัวเลขการขาดทุนสูงเกือบ 6,000 ล้านบาทเลยทีเดียว (ราว 188.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)
สำหรับรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ได้แก่…
- ค่าธรรมเนียมการขาย (Commission Fee) จะจัดเก็บเฉพาะร้านค้าใน Shopee Mall เท่านั้น
อัตราใหม่ : ค่าธรรมเนียมการขาย คิดเป็น 1% ของราคาตั้งต้นของสินค้าในหมวดหมู่อิเล็กทรอนิกส์ หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ (ไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น) ส่วนสินค้าที่ไม่อยู่ในหมวดหมู่อิเล็กทรอนิกส์ จะคิดเป็น 3% ของราคาตั้งต้นของสินค้า หักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ (ไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น)
อัตราเดิม : ค่าธรรมเนียมการขาย คิดเป็น 1% ของราคาตั้งต้นของสินค้าหักด้วยส่วนลดสินค้าที่ผู้ขายรับผิดชอบ (ไม่รวมค่าขนส่งสินค้าและส่วนลดอื่น)
- ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (Credit Card / Debit Card Transaction Fee)
อัตราใหม่ : ค่าธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตคิดเป็น 2% ของยอดที่ผู้ซื้อต้องชำระบวกค่าขนส่งสินค้า ที่ลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต (จะคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coin)
อัตราเดิม : ค่าธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตคิดเป็น 1.5% ของยอดที่ผู้ซื้อต้องชำระบวกค่าขนส่งสินค้า ที่ลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต (จะคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coin)
- ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบัตรเครดิต แบบผ่อนชำระ (Credit Card Installment Payment Transaction Fee)
อัตราใหม่ : ค่าธุรกรรมบัตรเครดิตแบบผ่อนชำระคิดเป็น 5% (2% จากค่าธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และ 3% จากค่าธุรกรรมการผ่อนชำระ) ของยอดที่ผู้ซื้อต้องชำระบวกค่าขนส่งสินค้า ที่ลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิตแบบผ่อนชำระ (จะคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coin)
อัตราเดิม : ค่าธุรกรรมบัตรเครดิตแบบผ่อนชำระคิดเป็น 4.5% (1.5% จากค่าธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และ 3% จากค่าธุรกรรมการผ่อนชำระ) ของยอดที่ผู้ซื้อต้องชำระบวกค่าขนส่งสินค้า ที่ลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิตแบบผ่อนชำระ (จะคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coin)
- ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมแบบชำระเงินปลายทาง (Cash on Delivery Transaction Fee)
อัตราใหม่ : ค่าธุรกรรมแบบชำระเงินปลายทาง คิดเป็น 2% ของยอดที่ผู้ซื้อต้องชำระบวกค่าขนส่งสินค้า ที่ลูกค้าเลือกชำระเงินปลายทาง (จะคิดจากราคาหลังใช้โค้ดส่วนลดและ Shopee Coin)
ส่วนรายละเอียดที่ Shopee แจ้งกับผู้ขายบนแพลทฟอร์มนั้น ระบุว่า…”ขอบคุณที่เลือกใช้บริการกับ SHOPEE เสมอมา เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ยอดเยี่ยม และได้รับความสะดวกสบายในการชำระเงิน ทางบริษัทฯ จึงได้กำหนด และปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตและเดบิต ธุรกรรมแบบผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตและธุรกรรมแบบชำระเงินปลายทาง ของยอดขายที่ชำระผ่านช่องทางการชำระเงินที่กำหนด ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.62 เป็นต้นไป”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องน่าติดตามต่อไป ว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมของ Shopee ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าขึ้นหรือไม่ เพื่อลดภาระจากต้นทุนการขายซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงแก่ผู้ซื้อบนแพลทฟอร์มดังกล่าวไปด้วย