ใคร ๆ ก็รู้ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสุดจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล แต่ไม่ควรหลงลืมว่านวัตกรรมอาจไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ สร้างโอกาส แต่ “ไม่สร้างความแตกต่าง” ให้กับคุณ
เรื่องนี้ถูกตอกย้ำด้วยผลวิจัยที่ “Microsoft” และ “IDC” ร่วมกันจัดทำ เพื่อเปิดเผยทักษะสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โดยข้อมูลที่น่าสนใจของภาคธุรกิจในไทยคือ มีองค์กรเพียง 20% เท่านั้นที่เดินหน้าแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มที่! ขณะที่โลกยุคใหม่อยู่ในเทรนด์ที่ใช้ AI ขับเคลื่อนธุรกิจ
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการสำรวจองค์กรธุรกิจ 101 แห่งในไทย ซึ่งนอกจากข้อมูลที่ระบุว่ามีเพียง 20% ที่เริ่มต้นแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อเข้าสู่ยุค AI อีก 32% ยังระบุว่าได้เริ่มการพัฒนาในบางส่วนแล้ว ขณะที่ 48% ระบุว่ายังไม่เริ่มดำเนินการใด ๆ และอีก 21% ระบุว่ายังไม่มีแผนดำเนินงานด้านทักษะของพนักงานเลย
คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) อธิบายแนวโน้มดังกล่าวว่า ศักยภาพของ AI สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ ทำให้สายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีลดน้อยลง ความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่จึงเต็มไปด้วยตำแหน่งงานเกิดใหม่ที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้ความสนใจศักยภาพของ AI ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถขององค์กร ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาลงทุนด้านการพัฒนาคนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้วย
คุณไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ ขยายความถึงเทรนด์ดังกล่าวว่า เรายังมีข่าวดีอยู่บ้างด้านการยอมรับว่าบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต โดยธุรกิจไทย 77% ระบุว่าพวกเขาจะลงทุนในตัวพนักงานให้ทัดเทียมหรือมากกว่าเทคโนโลยี AI ด้วย หากกล่าวถึงผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ต่อการทำงานในอนาคต ผู้นำองค์กรกว่า 77% และพนักงานอีก 58% ล้วนคาดหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้พวกเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผู้นำธุรกิจเพียง 5% และพนักงาน 13% เท่านั้นที่เชื่อว่า AI จะมาแย่งงานจากมนุษย์
จากรายงานวิจัยฉบับดังกล่าว ผู้นำองค์กรธุรกิจไทยระบุว่าทักษะที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับบุคลากรในอนาคต ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ (52%) ทักษะทางดิจิทัล (51%) และทักษะการคิดวิเคราะห์หรือทักษะด้านสถิติ (50%) นอกจากนี้ ผลวิจัยยังคาดการณ์ว่าปริมาณแรงงานที่มีทักษะในทั้งสามด้านนี้ และความสามารถในการวิจัยและการพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในองค์กรไทยเชื่อว่าบุคลากรที่มีความสามารถ จำเป็นต้องมีมากกว่าแค่ทักษะทางเทคนิค โดย 3 ทักษะที่มีช่องว่างมากที่สุดระหว่างมุมมองของผู้นำและพนักงาน คือ การบริหารจัดการโครงการ (แตกต่างกัน 16%) ความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการคน (แตกต่างกัน 14%) และความคิดสร้างสรรค์ (แตกต่างกัน 13%) นอกจากนี้ พนักงานจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกไม่เชื่อมั่นด้านความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรสำหรับการนำเทคโนโลยี AI มาใช้มากกว่าผู้บริหาร โดยพนักงานถึง 72% เชื่อว่าองค์กรของตนไม่อนุญาตให้พนักงานรับมือกับความเสี่ยง ทำการตัดสินใจ หรือปรับเปลี่ยนระบบงานให้รวดเร็วฉับไวยิ่งขึ้น ขณะที่ราว 45% มองว่าผู้บริหารในองค์กรของตนยังขาดการผลักดันให้ทุกคนร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกจากระดับผู้นำ