เวลานี้ธุรกิจที่กำลังเป็น Sunrise Industry ในโลกยุคดิจิทัล คือ “On Demand Platform” แบบ O2O (Online to Offline) ที่ก่อนหน้านี้มี 2 ผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ “LINE MAN” ที่มีความได้เปรียบของการมีฐานผู้ใช้ “LINE” กว่า 44 ล้านคน และ “GRAB” สตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปัจจุบันขยาย Business Ecosystem ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรรายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ
แต่เมื่อไม่นานนี้ มีอีกหนึ่ง Player เข้ามาในตลาด On Demand Platform ที่น่าจับตามอง คือ “GET!” ที่มีสตาร์ทอัพรายใหญ่ของอินโดนีเซีย และอาเซียนอย่าง “GO JEK” มาสนับสนุนด้านเงินลงทุน และเพียง 2 เดือนหลังจากเปิดให้บริการแก่คนในกรุงเทพฯ ได้แนะนำ 3 บริการใหญ่ติดๆ กันทันที คือ “GET WIN” บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง – “GET DELIVERY” บริการรับส่งพัสดุ – “GET FOOD” บริการส่งอาหาร
จากเริ่มต้นให้บริการเพียง 3 เขตในกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน 41 เขตในกรุงเทพฯ โดยอีกไม่นานจะครอบคลุมทุกเขตของกรุงเทพฯ และในช่วง 2 เดือนที่เปิดให้บริการมา มียอดดาวน์โหลดกว่า 200,000 ครั้ง มีการเรียกทริปใช้บริการแล้วกว่า 2 ล้านครั้ง
โดย 70% ของลูกค้าที่ใช้ GET! จะเรียกบริการ “GET WIN” ซึ่งปัจจุบันมีพี่วินมอเตอร์ไซค์ ลงทะเบียนมาอยู่บนแพลตฟอร์ม GET! แล้วประมาณ 10,000 คน
ขณะที่อีก 30% มาจาก “GET FOOD” ขณะนี้มีพันธมิตรร้านอาหารกว่า 20,000 ร้าน ทั้งร้านสตรีทฟู้ด จนถึงร้านระดับมิชลินสตาร์ และ “GET DELIVERY” บริการส่งพัสดุต่างๆ ผ่านมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งคนขับที่เป็นวิน และไม่ใช่วิน
“On Demand Platform” เปลี่ยนพฤติกรรมคนจาก “Offline” สู่ “Online” – ถอดกรณีศึกษา “GO JEK”
หัวใจสำคัญที่จะทำให้แพลตฟอร์มประเภท On Demand ที่ทำผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แจ้งเกิดได้จริง ประการแรก คือ การเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จากที่คุ้นชินกับการใช้บริการแบบ Offline มาตลอด เช่น เรียกรถแท็กซี่ ส่งพัสดุที่ต้องไปที่ทำการไปรษณีย์ หรือจุดรับส่งพัสดุตามโลเกชันต่างๆ หรือการรับประทานอาหารไปที่ร้าน ให้เปลี่ยนมาดำเนินการบน “Online” แทน ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตก็ตาม
ดังเช่นกรณีศึกษาของ “GO JEK” ชื่อนี้ อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในผู้บริโภคไทยวงกว้าง แต่สำหรับในวงการสตาร์ทอัพ และตลาด On Demand Platform แล้ว ชื่อนี้เป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้บริการ On Demand Platform อันดับ 1 ของอินโดนีเซีย ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการ Digital Payment รายใหญ่ในอินโดนีเซีย
ปัจจุบันมี 19 บริการ ตั้งแต่ขนส่ง รับส่งอาหาร ร้านค้า บริการนวด บริการทำความสะอาดบ้าน โลจิสติกส์ บริการ e-Money ลอยัลตี้โปรแกรม ฯลฯ และเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกในอินโดนีเซีย และอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่ทำให้ “GO JEK” ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย เป็นเพราะ 1. อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนสูง
2. สร้าง Business Ecosystem ให้แข็งแกร่ง ด้วยการขยายบริการที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตประจำวัน” และ “ไลฟ์สไตล์” ของคน พร้อมทั้งเปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจ และคนจากหลากหลายอาชีพที่ GO JEK เปิดให้บริการ มาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ ทำให้สามารถเพิ่มทั้งฐานผู้ใช้งาน – ผู้ประกอบการธุรกิจ – คนอาชีพต่างๆ มาอยู่ใน Ecosystem ของ GO JEK
ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม GO JEK มีกลุ่มคนขับ 1.3 ล้านคน และสำหรับบริการส่งอาหาร GO FOOD มีร้านค้าเข้าร่วม 300,000 ร้านทั่วอินโดนีเซีย หรือคิดเป็น 80% ของวิสาหกิจขนาดย่อม
ทำให้เกิด win-win-win ทั้ง 3 ฝ่าย คือ “GO JEK” มีระบบนิเวศธุรกิจแข็งแกร่ง – “ผู้ประกอบการธุรกิจ และคนในอาชีพต่างๆ” มีรายได้ และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น – “ผู้บริโภค” ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย
นอกจากนี้ “GO JEK” ยังขยายเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ แถบอาเซียน ทั้ง “เวียดนาม” นำร่องบริการเรียกมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากการจราจรของเวียดนาม เดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก / “สิงคโปร์” นำบริการรถยนต์เข้าไปเจาะตลาด / “ฟิลิปปินส์” เปิดให้บริการ Payment ก่อนจะขยายสู่บริการอื่น / “ไทย” ด้วยการจับมือกับสตาร์ทอัพไทย “GET!” เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้
พัฒนาการของธุรกิจ “On Demand Platform” ในไทยขณะนี้ จึงอยู่ในสเต็ปของการ Educate และกระตุ้นให้คนไทย เปลี่ยนพฤติกรรมจากเรียกใช้บริการแบบ “Offline” มาเรียกใช้บริการบน “Online”
ดังนั้นเจ้าของแพลตฟอร์ม On Demand แต่ละราย จึงพัฒนาบริการใหม่ พร้อมทั้งเร่งสร้างฐานผู้ใช้งาน พันธมิตร ทั้งในส่วนผู้ประกอบการธุรกิจ SME – ร้านค้า – เชนร้านอาหาร/บริการด้านต่างๆ คนขับ และพันธมิตรจากกลุ่มธุรกิจอื่น ให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจของแพลตฟอร์มตัวเองให้มากที่สุด
เปิดเหตุผลที่ทำให้ “GET!” ขยายธุรกิจได้เร็ว ?!?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลังจากเปิดทดลองให้บริการใน 2 เดือน ผลปรากฏว่ามีการเรียกทริปใช้บริการแล้วกว่า 2 ล้านครั้ง นั่นเพราะ
1. “GO JEK” สนับสนุนเงินลงทุน – เทคโนโลยี – องค์ความรู้
ถึงแม้มาทีหลัง แต่สิ่งที่ทำให้ก้าวแรกของ “GET!” มั่นใจว่าจะสามารถแจ้งเกิด และแข่งขันได้ในธุรกิจ On Demand Platform ในไทย คือ การได้รับการสนับสนุนจาก “GO JEK” ทั้งในด้านเงินลงทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ โดยที่ GET! ไม่ได้เป็นบริษัทลูกของ GO JEK
ปัจจัยสำคัญที่ “GO JEK” ตัดสินใจเป็นพาร์ทเนอร์กับ GET! “คุณนาดีม มาคาริม” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GO JEK มาจาก 3 เหตุผลหลัก คือ
1. เป็นเพราะการจราจร และรูปแบบการเดินทางของอินโดนีเซีย และประเทศไทยคล้ายกัน โดยนิยมใช้ “รถจักรยานยนต์” และ “รถแท็กซี่” เดินทางไปยังที่ต่างๆ ดังนั้นมี Demand ในตลาดไทยอยู่แล้ว และคนไทยคุ้นเคยกับการนั่งมอเตอร์ไซค์ จึงมีโอกาสทางธุรกิจครั้งนี้
2. ธุรกิจอาหาร และจัดส่งอาหาร เป็นธุรกิจใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันคนไทย และคนอินโดนีเซีย ชื่นชอบการหาอาหารอร่อย และหลากหลาย โดยที่ต้องตอบโจทย์ความสะดวก และเมืองไทย มีความหลากหลายของประเภทอาหาร และร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจ “Food Delivery” เติบโต
3. GET! มีทีมงานที่ดี มี Mindset และวัฒนธรรมการทำงานใกล้เคียงกับ GO JEK
2. Pain Point & Localization
การทำธุรกิจยุคนี้ จะได้ใจผู้บริโภค สินค้าหรือบริการนั้น ต้องสามารถแก้ปัญหาคนในสังคม ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี บนพื้นฐานของการตอบโจทย์ “Pain Point” ของกลุ่มคนที่ต้องการเจาะตลาด
เหมือนเช่นกรณีบริการของ “GO JEK” และ “GET!” ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม มาแก้ปัญหาการเดินทาง ที่การเรียกวินมอเตอร์ไซค์ และแท็กซี่ในบางครั้ง ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาติดขัดบางประการ
หรือในสังคมเมืองใหญ่ วิถีชีวิตเร่งรีบ แต่คนก็ยังอยากรับประทานอาหารอร่อย แต่การจะเดินทางไปที่ร้าน ต้องฝ่าสภาพการจราจรติดขัด และร้านไหน มีชื่อเสียง ก็ต้องเจอสภาพคนต่อคิวยาว
เพราะฉะนั้นจึงได้เกิดบริการ Ride Hailing และ Online Food Delivery ที่ทุกอย่างดำเนินการได้บนสมาร์ทโฟน เข้ามาขจัดความยุ่งยากในชีวิตคน
ขณะเดียวกันเทคโนโลยี และองค์ความรู้ของ “GO JEK” จะนำมาประยุกต์ใช้กับแพลตฟอร์ม “GET!” ในประเทศไทย ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย คนขับ และผู้ประกอบการธุรกิจ SME เพื่อทำความเข้าใจ Local Insight สำหรับพัฒนาบริการ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคไทย คนขับ และผู้ประกอบการธุรกิจ SME
อย่างบริการ GET FOOD ได้นำฟีเจอร์ Shuffle Card ของ “GO JEK” มาใช้กับแอปพลิเคชัน “GET!” สำหรับแนะนำอาหารที่เหมาะเฉพาะบุคคล ซึ่งคำนวณจากเวลา และตำแหน่งที่ผู้ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน
เช่น มื้อเที่ยง พฤติกรรมคนจะรับประทานอาหารที่สะดวก รวดเร็ว ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบจะนำเสนอร้านอาหารที่เน้นให้บริการเร็ว และถ้าเป็นช่วงบ่ายๆ ระบบจะแนะนำร้านขนมหวาน และร้านเครื่องดื่ม ส่วนมื้อเย็น ระบบจะแนะนำร้านอาหารสำหรับรับประทานเป็นครอบครัว หรือร้านที่ขายอาหารมื้อหนัก
ขณะเดียวกัน Pain Point อย่างหนึ่งของผู้ประกอบการร้านอาหาร คือ เมื่อมาอยู่บนแพลตฟอร์ม On Demand แล้ว ในบริการ Food Delivery จะเต็มไปด้วยร้านอาหารมากมายหลายหมื่นร้าน แน่นอนว่าร้านชื่อดัง ย่อมได้รับความนิยมในการสั่งอาหาร เพราะโดยพฤติกรรมคน จะสั่งร้านดัง ร้านยอดนิยม และร้านที่ตัวเองคุ้นเคย แต่สำหรับร้านขนาดเล็ก หรือร้านที่ยังไม่มีชื่อเสียง ก็อาจจะไม่ค่อยมีออเดอร์เข้ามา
เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาที่ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน GET! ใส่คำค้นหาเป็นประเภทอาหาร เช่น ส้มตำ ไก่ทอด ระบบจะนำเสนอร้านอาหารที่มีอาหารประเภทที่ค้นหา ขึ้นแสดงให้เห็น ก็จะทำให้ผู้ใช้งานแอปฯ เห็นร้านอาหารอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากร้านดัง และร้านที่ตัวเองคุ้นเคย จึงเพิ่มโอกาสการขายให้กับร้านเล็ก และร้านที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
3. เร่งขยายคนขับ – ผู้ประกอบการรายย่อย – เชนร้านอาหาร
ตามที่กล่าวข้างต้นถึงหัวใจสำคัญของธุรกิจ On Demand Platform ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างเครือข่ายคนขับ – ผู้ประกอบการรายย่อย – แบรนด์ใหญ่ ให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มให้มากที่สุด เพราะยิ่งมากเท่าไร ฐานธุรกิจก็ยิ่งกว้าง และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
หลังจากเปิดให้บริการ 2 เดือน ปัจจุบัน “GET!” มีคนขับ GET WIN 10,000 คนที่มาลงทะเบียนในระบบ GET! จากจำนวนคนขับวินมอเตอร์ไซค์ที่ลงทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทั้งหมด 80,000 คน ขณะที่ “GET FOOD” มีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 20,000 ร้าน
4. สื่อสาร พร้อมอัดโปรโมชั่น ดึงความสนใจคนไทย
ในช่วงทดลองเปิดให้บริการก่อนหน้านี้ ฐานผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มาจาก “ปากต่อปาก” และยังไม่ได้สื่อสารการตลาดมากนัก แต่หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มการรับรู้ในกลุ่มคนกรุงเทพฯ “GET!” จึงเปิดตัวแคมเปญโฆษณาในสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน ทั้งบนรถไฟฟ้า ป้ายบิลบอร์ด จอโทรทัศน์ตามอาคารสำนักงาน และที่พักอาศัยทั่วกรุงเทพฯ
ทั้งสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน เป็นสื่อสองประเภทหลักที่เข้าถึงคนในกรุงเทพฯ ได้ดีมากที่สุด ด้วยโฆษณาชุด “We Get You เก็ททุกความต้องการ” สะท้อนถึงแบรนด์ ที่เข้าใจความต้องการของคนกรุง และโฆษณา GET FOOD ที่มาพร้อมกับการเปิดตัวบริการส่งอาหารอย่างเป็นทางการ บวกกับการใช้ “โปรโมชั่น” เพื่อกระตุ้นให้ดาวน์โหลด และทดลองใช้บริการ
สเต็ปต่อไป “Digital Payment” และอนาคตต้องการเป็น “Super App”
สำหรับเป้าหมายภายในปีนี้ ตั้งเป้าจะ Make Impact ในเชิงของการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งผู้ใช้บริการ และคนขับ ให้ได้ 1 ล้านคน
อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้แพลตฟอร์ม On Demand ครบวงจร นอกเหนือจากบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน และไลฟ์สไตล์ให้สะดวกสบาย รวดเร็วแล้ว ยังต้องมี “Digital Payment” หรือบริการธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัล
“GO JEK” มี GO-PAY บริการ e-Money และธุรกรรมการเงินดิจิทัล ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
แน่นอนว่าเมื่อ “GO JEK” เป็นพาร์ทเนอร์กับ “GET!” นั่นเท่ากับว่าในอนาคต “GET!” ต้องเปิดตัวบริการ Digital Payment อย่างแน่นอน เพื่อให้แพลตฟอร์มของ “GET!” ครบวงจร และสร้างความสะดวกให้กับทั้งฝั่งคนขับ และผู้ใช้งาน
ที่สำคัญการมี Digital Payment นอกจากตอบโจทย์ความสะดวกแล้ว การพัฒนาระบบ Payment ของตัวเอง จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้งาน ยิ่งโลกยุคดิจิทัลมีคำกล่าวที่ว่า “Data is the new oil” แสดงให้เห็นว่า Big Data เป็นสินทรัพย์อันมีค่ามหาศาล เปรียบดั่งน้ำมันที่ใครมี ย่อมมี Power และ Competitive Advantage สูง
ดังนั้น Digital Payment จะทำให้ GET! เห็นความเคลื่อนไหวของ Transaction ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทั้งหมด เช่น พฤติกรรมการสั่งอาหาร เมนูยอดนิยม ร้านยอดนิยม พฤติกรรมการเดินทาง ยอดการใช้จ่ายต่อครั้ง ช่วงไหนของวัน และวันไหนของสัปดาห์มีการใช้บริการสูงสุด และน้อยสุด เป็นต้น
Big Data เหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาบริการใหม่ และปรับปรุงแพลตฟอร์ม – บริการส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจาก On Demand Platform จะประสบความสำเร็จได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแต่ผู้เล่นเบอร์ใหญ่ จึงต้องสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้า เพราะ “Customer Experience” จะเป็นตัวชี้วัดว่าลูกค้าจะกลับมาใช้ต่อ หรือบอกลาแอปพลิเคชันนั้น !!
ขณะเดียวกัน “บริการ” ที่เพิ่มขึ้น เพื่อในที่สุดแล้ว เป้าหมายใหญ่ของ “GET!” ต้องการเป็นหนึ่งใน “Super App” ที่คนไทยใช้มากที่สุด เหมือนเช่นวันนี้ที่ “GO JEK” เป็น Super App ในชีวิตประจำวันของคนอินโดนีเซียไปแล้ว