ใครจะรู้บ้างว่า แม้แต่ซีรีย์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Game of Thrones ก็ยังต้องใช้โดรนของ DJI เข้ามาทำให้มุมมองแบบภาพยนตร์ดูสมจริง อวดความโอ่อ่า และอลังการมากขึ้น
เมื่อกล่าวถึงโดรนแล้ว มีผู้เล่นในตลาดอยู่หลายราย ทั้งบริษัทในตะวันตกและเอเชีย แต่หากสังเกตดูให้ดี จำนวนโดรน 7 ใน 10 ตัวที่คุณเห็นบินไปบินมาในที่ต่าง ๆ นั้นเป็นของบริษัท Da-Jiang Innovations Science and Technology (DJI) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนที่ครองส่วนแบ่งการตลาดโดรนทั่วไปและการพาณิชย์ทั่วโลกถึง 85% ในปัจจุบัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดรนมีบทบาทอย่างมากในเมืองไทย โดยเฉพาะงานคอนเทนท์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้โดรนบินขึ้นฟ้าเพื่อเก็บภาพแบบเบิร์ดอายวิว ไม่ว่าจะเป็นบนตึกสูงระฟ้า เหนือน่านน้ำทะเล หรือบนภูเขาสูง ซึ่งเป็นงานที่ยาก และเมื่อมีโดรนเข้ามาก็ทำให้งานด้านนี้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำโดรนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นอีก เช่น งานก่อสร้าง งานกู้ภัย โลจิสติกส์ และงานอื่น ๆ ที่ต้องการระบุพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงงานถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น และยิ่งมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอย่าง “Drone Specialist”หรือ นักถ่ายภาพอากาศยานไร้คนขับ ที่รายได้สูงถึง 10,000 – 50,000 บาทต่อวันแล้ว ยิ่งเป็นที่สนใจของใครหลาย ๆ คนที่อยากมีอาชีพนี้
ไอเดียจากหอพักแคบ ๆ สู่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
DJI ก่อตั้งในปี 2006 ซึ่งเกิดจากไอเดียเล็ก ๆ ของ Frank Wang Taoซีอีโอและผู้ก่อตั้ง DJI ภายในห้องพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง และเขาเป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต่างจากนักธุรกิจชื่อดังทั่วไปตรงที่เขาไม่ได้มีดีกรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก
Wangเป็นคนที่เรียนได้เกรดไม่ค่อยดีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่า เขาใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับเครื่องบินมากเกินไป จนเกรดไม่สวยพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ อย่าง MIT หรือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกาได้ตามที่พ่อแม่ตั้งใจ แต่ในปี 2003 Wang ได้รับเลือกให้เข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงแทน
สามปีในรั้วมหาวิทยาลัย Wang ได้รับทุนวิจัยจากทางมหาวิทยาลัย 18,000 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 77,000 บาท) เพื่อทำโครงการงานวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์บังคับขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ก่อนจบ แต่โชคร้ายที่โครงการนี้ล้มเหลว เพราะเกิดความเสียหายในคืนสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นนำเสนอผลงาน
“สมัยเรียนมัธยม พ่อแม่ของผมซื้อเฮลิคอปเตอร์ลำเล็กลำหนึ่งเป็นรางวัลให้ผมตอนที่สอบได้คะแนนดี แต่ผมเล่นเฮลิคอปเตอร์ตัวนี้ที่ไร ผมรู้สึกผิดหวังทุกที มันชอบร่วงตกลงมาเพราะระบบควบคุมการบินไม่เสถียร ต่อมา ผมก็ได้ไอเดียดี ๆ ที่จะทำให้เฮลิคอปเตอร์บินได้นิ่งและนานกว่านี้ และผมก็สร้างระบบนี้ขึ้นมาเองกับมือ” Wang กล่าว
แม้จะล้มในครั้งแรก แต่ Wangก็ไม่ละความพยายาม และในที่สุดเขาก็สร้างระบบนี้ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จในห้องพักนักศึกษาเดิม จนกระทั่งในปี 2006 เขาและเพื่อนร่วมชั้นอีก 2 คนได้ย้ายออกจากหอพักมหาวิทยาลัยไปตั้งบริษัท DJI ในเซินเจิ้น ทั้งนี้ก็ด้วยแรงสนับสนุนจาก Li Zexiang อาจารย์ที่ปรึกษา และปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาบริษัท โดยถือหุ้นบริษัท 10% เป็นค่าตอบแทน
Wang ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นในจีนว่า ในช่วงแรกที่ DJI เปิดตัว มีคู่แข่งเยอะมาก แต่ก็ยังเป็นผู้เล่นรายเล็ก ๆ แต่ที่ผ่านมา DJI ดำเนินกิจการด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่งเสมอ และความสำเร็จของ DJI ก็คือ บริษัททำให้อุตสาหกรรมโดรนดึงดูดนักลงทุนและผู้ใช้มากมาย
แม้แต่ Chris Anderson ผู้บริหารจาก 3D Roboticsซึ่งเป็นคู่แข่งยักษ์ใหญ่ของ DJI ยังต้องยอมรับว่า DJI ดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างไร้ที่ติและ 3D Roboticsก็ยังแพ้ราบคาบ
ในปี 2008 บริษัทได้ผลิตโดรนและออกวางจำหน่ายครั้งแรก และต่อมาก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดขายโดรนเพิ่มขึ้น 100 เท่าในปี 2015 ก้าวกระโดดจากปี 2011
Cao Zhongxiong ผู้บริหารของสถาบันเพื่อการพัฒนาจีน (China Development Institute)บอกว่า จนถึงทุกวันนี้ แทบจะไม่มีคู่แข่งรายได้แข็งแกร่งไปกว่า DJI และ DJI จะยังเป็นเจ้าตลาดโดรนของโลกไปอีกหลายปี
เคล็ดลับนำธุรกิจโดรนสู่ความสำเร็จ
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า DJI ประสบความสำเร็จได้ เพราะผลิตโดรนจำนวนมาก มีหลากหลายประเภทและหลากหลายราคาให้เลือก เพื่อตอบโจทย์ตลาดทุกกลุ่ม ดังนั้น ไม่ว่าคนที่อยากใช้โดรนจะมีงบตั้งแต่ 20,000 บาท ไปจนถึงหลักแสน ก็สามารถเป็นเจ้าของโดรนแบรนด์ DJIและนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของตัวเองได้ แต่ความสำเร็จของ DJI มีมากกว่านั้น
Wangบอกกับนิตยสารฟอร์บในปี 2015 ว่า ความสำเร็จของเขาคือการทำให้ตัวฉลาดกว่าคนอื่น และพยายามอยู่ห่างอะไรที่เป็นแมสให้หมด
“ถ้าคุณสามารถอยู่ห่างอะไรที่เป็นแมสได้ คุณจะประสบความสำเร็จ” Wangกล่าว
และด้วยความมุ่งมั่นที่จะไม่เจาะตลาดแมส Wangได้ผลิตโดรนที่มีราคาต่ำกว่า 700 เหรียญสหรัฐ (ราว 2 หมื่นกว่าบาท) โดยเฉพาะรุ่นแฟลกชิฟ Phantom quadcopter เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีงบน้อยแต่อยากมีโดรนไว้ใช้งาน ซึ่งฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีอยู่มาก
[ภาพจาก engadget]
ก้าวต่อไปของ DJI
หลังจากชิงส่วนแบ่งสามในสี่ของตลาดโดรนคอนซูมเมอร์ได้สำเร็จ DJI ตั้งเป้าเจาะตลาดเอ็นเตอร์ไพรซ์เป็นเป้าต่อไป โดยเปิดตัว Mavic 2 ที่สนนราคาตัวละ 1,999 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 หมื่นบาท) เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดอุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดโดรนโลกที่อยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Bill Chen ผู้จัดการพาร์ทเนอร์ชิปตลาดเอ็นเตอร์ไพรซ์ของ DJI บอกว่า บริษัทประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในตลาดคอนซูมเมอร์ และตอนนี้ บริษัทก็พร้อมที่เดินหน้าในขั้นต่อไปในสิ่งที่บริษัทเชี่ยวชาญกับอุตสาหกรรมอื่น
“นอกจากนี้ เราจะขยายธุรกิจเพื่อให้บริการบริษัท ส่วนการผลิต และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก และโดยเฉพาะโดรนของเราจะเจาะตลาดภาคเกษตรกรรมมากขึ้น” Chenกล่าว
แม้เป้าในอนาคตจะชัดเจน แต่ DJI ก็ไม่ได้ทิ้งตลาดคอนซูมเมอร์ไป Chen บอกว่า DJI จะยังคงยึดหลักการทำธุรกิจเดิม นั่นคือ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของโดรนและเข้าถึงโดรนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะต้องปรับในส่วนของอายุของแบตเตอรี่ หรือปรับขนาดของโดรนให้เล็กลง และยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ DJI ได้เปิดตัวอุปกรณ์เพื่อการพัฒนาชิ้นหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนแอพพลิเคชันให้กับโดรนเพื่องานเฉพาะกิจได้ อันเป็นการส่งสัญญาณว่า บริษัทกำลังเปลี่ยนผ่านจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ไปสู่การเป็นโอเปอเรเตอร์ด้านแพล็ตฟอร์มไปด้วย
Chen บอกว่า “เราตั้งใจจะสร้างแพล็ตฟอร์มเอนกประสงค์ ที่สามารถปรับแต่งในแบบนี้นักพัฒนาอื่น ๆ สามารถซื้อไปและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเองได้”
ดังนั้น โครงการส่วนนี้จะต้องทำร่วมกันกับคู่แข่ง ในปี 2017 Wang จับมือกับ 3D Robotics เพื่อ integrate ซอฟต์แวร์โดรนจาก 3D Robotics เข้ากับโดรนของ DJI เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้ารายย่อยในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ความท้าทายของยักษ์ใหญ่ในตลาด
จากการเป็นผู้ผลิตกลายมาเป็นผู้ให้บริการด้านแพล็ตฟอร์ม DJI ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy)โดยเฉพาะช่วงที่มีความตึงเครียดระหว่างสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ ประเด็นนี้ถูกดึงเข้ามาเป็นประเด็นทางการเมืองไปด้วย ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา DJI จึงได้เริ่มทำวิจัยเพื่อตรวจสอบและยืนยันว่า ผู้ใช้โดรนมีการควบคุมการเก็บ รวบรวม และส่งต่อข้อมูลของตัวเองเป็นอย่างดี เหตุที่ DJI ต้องทำเช่นนี้เพราะปีที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้โดรนในกรณีใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับความมั่นคง
Chenไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าดังกล่าว เพียงแต่บอกว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของ DJI และบริษัทก็ยังคงจับตาดูสถานการณ์กันต่อไป Chen เชื่อว่า แม้สงครามการค้าจะขยายตัวรุนแรงขึ้น การที่ DJI เป็นพันธมิตรที่ดีกับลูกค้าในอเมริกาจะเป็นเหมือนเกราะคุ้มภัยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตตรงนี้ไปได้ และโดยเฉพาะ DJI มีพาร์เนอร์ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมในอเมริกาด้วยนั้นสำคัญมาก เพราะบริษัทเหล่านี้จะออกมาบอกว่า DJI เท่านั้นที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรา
อนาคตของ DJI
DJI จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และหัวใจสำคัญอีกประการที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้และผลกำไรคือ ทุกอย่างทำและผลิตกันเองในบริษัท ดังนั้น จึงสามารถควบคุมเรื่องต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการทำงานและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
“หากมีข้อผิดพลาด เราสามารถแก้กันที่นี่ได้เลยในวันเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบไปจนถึงสินค้าตัวอย่าง” Chenบอก
นั่นแปลว่า ปัจจุบัน ทุกการสื่อสารของทุกการพัฒนาหรือแก้ปัญหาจะยังคงอยู่ในบริษัทแม่ในเซินเจิ้น ส่วนออฟฟิศใหม่ของ DJI ที่จะยังอยู่ในเซินเจิ้นและดูอลังการยิ่งกว่าในหนัง Si-Fi จะเปิดใช้ในปี 2022 และพนักงานทุกคนก็จะต้องมาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อให้การประสานงานต่าง ๆ สะดวกยิ่งขึ้
ที่มา scmp.com