ยุทธศาสตร์ธุรกิจของกลุ่ม “Chain Restaurants” คือ การเติมเต็ม Brand Portfolio ให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการบริโภค ทั้งมื้อหลัก และมื้อว่างในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค
เวลานี้หนึ่งใน Key Chain Restaurants รายใหญ่ในไทยอย่าง “CRG” (Central Restaurants Group) ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป กำลังเดินหน้าเติมเต็มแบรนด์ร้านอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจ “Multi-large Brand Portfolio” หมายความว่า เซ็กเมนต์ร้านอาหารที่ “CRG” จะเข้าไปลงทุนสร้างแบรนด์ขึ้นเอง หรือแม้แต่ใช้โมเดลซื้อกิจการ หรือร่วมทุนพันธมิตรในธุรกิจร้านอาหารด้วยกัน ต้องมี Market Size ใหญ่ และเป็น Mass Segment
ปัจจุบันแบรนด์ร้านอาหารของกลุ่ม CRG มีแบรนด์ 12 แบรนด์ กว่า 900 สาขา ได้แก่
– มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) เปิดสาขาในไทยในปี 1978
– เคเอฟซี (KFC) โดย CRG เป็นหนึ่งในผู้ได้สิทธิ์ทำตลาดและขยายสาขาในไทย มาตั้งแต่ปี 1984
– อานตี้ แอนส์ (AUNTIE ANNE’S) เปิดสาขาแรกในไทยปี 2004
– เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) ได้ลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น นำเข้ามาเปิดในไทยปี 2007
– ชาบูตง (Chabuton) เริ่มต้นเปิดในไทยปี 2010
– โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) จากอเมริกา นำเข้ามาเปิดสาขาในไทยเมื่อปี 2010 \
– เดอะ เทอเรส (The Terrace) ร้านอาหารไทยสไตล์ Casual Dining
– โยชิโนยะ (Yoshinoya) ร้านอาหารข้าวหน้าญี่ปุ่น เปิดในไทยปี 2011
– โอโตยะ (Ootoya) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นความเป็น Homemade Style เปิดในไทยปี 2011
– เทนยะ (Tenya) ร้านข้าวหน้าเทมปุระ เปิดให้บริการครั้งแรกในไทยปี 2013
– คัตสึยะ (Katsuya) ร้านเมนูทงคัตสึ นำเข้ามาเปิดในไทยปี 2014
– เฟซท์ (Fezt) แบรนด์ไอศกรีมพรีเมียม
และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ได้เปิดร้าน “อร่อยดี” ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ด ที่คนไทยคุ้นเคย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Best of Street Food at affordable price” ในราคาเริ่มต้น 59 บาท สาขาแรกตั้งอยู่ที่โครงการ “Silom 32 Market” พร้อมทั้งเปิดตัวการให้บริการรูปแบบ Food Delivery โทรสั่ง “1312”
แชร์ตลาดสตรีทฟู้ด มูลค่ากว่า 2.7 แสนล้าน
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยโดยรวม อยู่ที่กว่า 410,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 60 – 70% เป็นร้านอาหารประเภท “สตรีทฟู้ด” (Street Food) โดย “Euromonitor International” บริษัทวิจัยระดับโลก เผยมูลค่าตลาดสตรีทฟู้ดในไทยเมื่อปี 2560 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 276,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 340,000 ล้านบาท
จากมูลค่าตลาดสตรีทฟู้ดดังกล่าว ทำให้เวลาบรรดา Chain Restaurants และ QSR เล็งเห็นโอกาสธุรกิจ จึงพยายามเข้ามาแบ่งเค้กในตลาดร้านอาหารข้างทาง เพราะสตรีทฟู้ด เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย และอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมื้อเช้า – มื้อกลางวัน – มื้อเย็น หรือแม้แต่มื้อดึก
จะสังเกตได้ว่าเชน QSR ทั้งแมคโดนัลด์, เคเอฟซี, เบอร์เกอร์คิง พัฒนากลุ่ม Local Menu เช่น เมนูข้าวต่างๆ ที่นำวัตถุดิบที่มีอยู่ มาพัฒนาเป็นเมนูยอดนิยมในกลุ่มคนไทย เช่น ข้าวกะเพรา ข้าวยำไก่แซ่บ ข้าวไก่เขียวหวาน ขณะที่ฝั่ง Chain Restaurant เปิดแบรนด์ที่เน้นให้บริการอาหารจานเดียว เช่น เมนูข้าวหน้าหมู-ข้าวหน้าเนื้อสไตล์ญี่ปุ่น ฯลฯ หรือแม้แต่ Retailer ทั้งเชนร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต ทำเมนูอาหารพร้อมรับประทานให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตเร่งรีบ ที่ต้องการสินค้า-บริการรูปแบบ Grab & Go
ดังนั้นการที่ “CRG” เปิดร้าน “อร่อยดี” ที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนในการเป็นร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ด และวางราคาเริ่มต้น 59 บาทสำหรับบางเมนูใกล้เคียงกับร้านอาหารข้างทาง แต่ก็มีบางเมนู ที่ราคาเฉลี่ย 70 – 100 บาท เมื่อเทียบกับร้านอาหารสตรีทฟู้ดทั่วไปแล้ว ราคาของ “อร่อยดี” สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม การเปิดร้าน “อร่อยดี” สะท้อนให้เห็นว่า Chain Restaurants ต้องการเข้าไปแชร์ตลาดสตรีทฟู้ด เพราะสร้างโอกาสการเติบโตมหาศาล ยิ่งเป็น “อาหารไทย” เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดคนไทยอยู่แล้ว ที่ผูกพันและคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้น “CRG” หวังผลักดันแบรนด์นี้เข้าไปเป็นหนึ่งในทางเลือกหนึ่งของคนไทย
“Brand Portfolio” แข็งแกร่ง สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
เหตุผลสำคัญที่ CRG และ Chain Restaurants รายอื่น ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Brand Portfolio นั่นเพราะ
1. เข้าถึงผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม หลายไลฟ์สไตล์ และทุกวันนี้ผู้บริโภคมี Demanding สูง ในวันที่เร่งรีบ ต้องการความเร็ว ก็เลือกใช้บริการจาก QSR หรือบางวันอยากรับประทานเมนูหม้อไฟ เช่น สุกี้ ชาบู หรือบางวันอยากรับประทานอาหารเมนูตะวันตก บางวันอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่น
2. เพื่อนำแบรนด์ที่มีไป Match เข้ากับโลเกชันสาขา เพราะทุกวันนี้ค้าปลีกในไทย มีหลายเซ็กเมนต์ และหลาย Store Format กระจายตามทำเลต่างๆ ทั่วไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกแบรนด์ นำไปเปิดในทุกโลเกชันได้ แต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ควบคู่กัน ทั้งสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งประชากร กำลังซื้อ วิถีชีวิตคนในย่านนั้นๆ พฤติกรรมผู้บริโภค และคู่แข่งในโซนนั้นๆ เพื่อเลือกแบรนด์ที่จะนำไปเปิดสาขาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับ Brand Positioning
3. สร้างอำนาจการต่อรองกับเจ้าของพื้นที่ ยิ่งมี Brand Portfolio ที่หลากหลาย และแต่ละแบรนด์มีความแข็งแกร่ง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีฐานลูกค้าเหนียวแน่น ย่อมสร้างอำนาจการต่อรองทางธุรกิจให้กับ Chain Restaurant ในการนำแบรนด์เข้าไปเป็น “ผู้เช่าหลัก” และได้ตั้งอยู่บน “ทำเล” ที่คนผ่านไปมาเห็นง่าย
รุกขยายสาขาในศูนย์การค้า–นอกศูนย์การค้า พร้อมพัฒนา Store Format โฉมใหม่ และเปิดแพลตฟอร์ม Food Delivery
นอกจากสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Brand Portfolio แล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ “CRG” ทำควบคู่กันคือ การขยายสาขา ทั้งในศูนย์การค้า และที่น่าจับตามอง คือ การเติบโตนอกศูนย์การค้า เช่น คอมมูนิตี้มอลล์, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, โรงพยาบาลขนาดใหญ่, ย่านออฟฟิศ บิวดิ้ง, สถานีให้บริการน้ำมัน, สถานีรถไฟ และสนามบิน และรูปแบบ Stand Alone เพราะที่ผ่านมาร้านอาหารในเครือ CRG ส่วนใหญ่เน้นขยายสาขาไปตามศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัล
แต่เชื่อว่านับจากนี้ จะเห็นการรุกเปิดสาขานอกศูนย์การค้าในเครือกลุ่มเซ็นทรัลมากขึ้น เพราะยังมีอีกหลายโลเกชันที่มีศักยภาพสูง และเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคหลากหลาย
สาขาเปิดใหม่ ยังคงมีทั้งรูปแบบเดิม ขณะเดียวกันพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งการพัฒนา Store Format ให้มีความหลากหลาย จะทำให้มีความยืดหยุ่นในการเปิดสาขาให้เหมาะกับแต่ละทำเล
อย่าง “ร้านอร่อยดี” เปิดสาขาแรกในพื้นที่โครงการ “Silom 32 Market” เป็นศูนย์อาหารที่มีร้านอาหารประเภทต่างๆ อยู่รวมกันในโครงการนี้ ซึ่งการเลือกทำเลที่นี่เปิดสาขาแรกของ “ร้านอร่อยดี” เพราะต้องการเจาะกลุ่มคนทำงานในย่านสีลม โดยเฉพาะมื้อกลางวัน – มื้อเย็น และเป็นการขยายการเติบโตออกนอกศูนย์การค้า
หรือก่อนหน้านี้เปิดตัว “Food Heaven” ที่รวม 3 แบรนด์ในเครือ คือ เปปเปอร์ลันช์, คัตสึยะ, โยชิโนยะ มาไว้ในพื้นที่เดียวกัน 370 ตารางเมตร นำร่องเปิดสาขาแรกที่เทสโก้ โลตัส บางใหญ่
นอกจากขยายสาขาแล้ว อีกหนึ่งเทรนด์ใหญ่ของธุรกิจร้านอาหาร คือ “Food Delivery” ทั้งโทรสั่งเบอร์เดียว “1312” ให้บริการจัดส่งอาหารแบรนด์ในเครือ CRG โดยเริ่มให้บริการในย่านที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และพื้นที่ใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่มีร้านอาหารในเครือ CRG เปิดให้บริการ นอกจากนี้ยังสามารถสั่งผ่านออนไลน์ พร้อมทั้งเป็นพารทเนอร์กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทำหน้าที่จัดส่งสินค้า
จะสังเกตได้ว่าการขยายสาขาครอบคลุมทั้งศูนย์การค้า ค้าปลีกเซ็กเมนต์ต่างๆ และเจาะเข้าไปตามโลเกชันที่มีศักยภาพ และมีประชากรหนาแน่น “สาขา” เหล่านี้จะเป็น “Network” ที่ทรงพลัง ใช้เป็นจุดรับออเดอร์ในโซนรัศมีที่สาขานั้นๆ ตั้งอยู่ และจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค
ขณะเดียวกันการเปิดสาขา และ Food Delivery จะทำให้ “CRG” มีฐาน Big Data พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ได้จากการใช้บริการร้านอาหารในเครือ และนำไป Synergy กับบัตร The 1 เพื่อในที่สุดแล้วจะทำให้ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล ที่รวมถึง CRG รู้เทรนด์ตลาด และความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ใช้ในการวางแผนธุรกิจ