5G กลายเป็นเรื่องที่หลายคนเฝ้าติดตาม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มหันมาพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ยุค 5G ยุคที่จะทำให้ทั้งการโอนถ่ายข้อมูลรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่ม Productivity จากการเชื่อมต่อกับ Device อย่าง IoT ในจำนวนมหาศาล รวมถึงการตอบสนองจากเครือข่ายที่รวดเร็วในระดับที่ใกล้เคียงคำว่า Real Time Effectiveness มากที่สุด
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนต่างออกมาขานรับตรงกันว่า 5G น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาพลิกโฉมหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจหลักของการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าในช่วงนี้คือ การเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด ก่อนที่เทคโนโลยีจริงจะพร้อมให้นำมาใช้
ฉะนั้น คำถามสำคัญที่เราต้องรู้และเห็นภาพในช่วงนี้ให้ได้ก็คือ ศักยภาพที่แท้จริงของ 5G คืออะไร เพราะเท่าที่สัมผัสมา 5G ไม่ใช่ เพียง 4G ที่เร็วขึ้นเท่านั้น และ 5G ก็ไม่ใช่การตอบโจทย์ Consumer หากแต่เป็นการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่างหาก
แล้วจริงๆ 5G มีประโยชน์อย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้างล่ะ?
การค้นหาคำตอบนี้ เริ่มขึ้นจาก AIS ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายและบริการดิจิทัล ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามายกระดับศักยภาพเครือข่ายต่อเนื่อง เป็นหัวหอก เริ่มเป็นรายแรกที่จัดโชว์การสาธิตระบบ 5G ครั้งแรกของไทย หลัง กสทช.อนุญาตให้ดำเนินการทดสอบระบบดังกล่าวได้บนคลื่นความถี่จริง
ทดสอบ 5G ในยุค Digital Disruption
โดยการทดสอบ 5G ของเอไอเอส ในชื่อ “5G the First LIVE in Thailand by AIS” จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561 ที่ AIS DC ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (ชมฟรี) มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้สัมผัสประสบการณ์และเห็นศักยภาพของ 5G อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือพลิกโฉมและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในยุค Digital Disruption
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส อธิบายว่า “เดือนตุลาที่ผ่านมา เอไอเอสและโนเกียได้ยื่นเรื่องขอทดสอบ 5G และได้รับอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์เพื่อดำเนินการสาธิต 5G จาก กสทช. ซึ่ง กสทช. ได้อนุมัติให้เราสามารถเปิดการสาธิต 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26.5-27.5 GHz ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า นอกจากทีมวิศวกรเอไอเอสจะได้เรียนรู้โครงสร้างของเทคโนโลยี 5G ในเชิงลึก อันจะทำให้เราพร้อมพัฒนาทันทีเมื่อเทคโนโลยีมาถึงแล้ว ยังจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนใน Ecosystem เห็นภาพการประยุกต์ใช้ และเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที”
สำหรับคุณสมบัติที่โดดเด่นของเทคโนโลยี 5G ซึ่งไม่ใช่ 4G ที่เร็วขึ้นเท่านั้น หากแต่คุณสมบัติเด่นของ 5G มีมากกว่านั้น ประกอบด้วย
แน่นอนว่าเรื่องแรก คือ ความเร็ว (Speed) ที่ หรือ Enhanced Mobile Broadband (EMBB) ซึ่งเป็นการกระจายคลื่นความถี่ ผ่านคลื่นความถี่ย่าน High-Band เพื่อให้มีประสิทธิภาพความเร็วสูงสุด ควบคู่กับการใช้คลื่นความถี่ย่าน Low-Band เพื่อให้สามารถทะลุทะลวงอุปสรรคที่ขวางกั้นและครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน
คุณสมบัติต่อมาก็คือ 5G จะเพิ่มคุณภาพเครือข่ายให้สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด (Ultra-reliable and low latency communications) หรือที่เรียกว่า Low Latency ณ ที่นี้ Latency หมายถึง ความหน่วง นั่นคือ ความหน่วงน้อย ก็ยิ่งตอบสนองเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลกับเครือข่ายทำได้ใกล้เคียงกับคำว่า Real Time อย่างแท้จริง จนทำให้สามารถนำไปใช้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้อง Response แบบ Real Time ยกตัวอย่าง ยานยนต์ไร้คนขับ ที่ระบบจะต้องสามารถตอบสนองกับเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจก็ให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือ ทางการแพทย์ อย่าง การผ่าตัดทางไกล เป็นต้น
คุณสมบัติที่โดดเด่นอีกข้อของ 5G คือเรื่องของ massive Machine Type Communications (mMTC) หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ 5G จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้ในจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับ 2 คุณสมบัติก่อนหน้านี้ ก็จะเกิดประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูง สามารถนำไปประยุกต์เข้ากับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบ และเกิดประสิทธิผลที่มากกว่าแค่การใช้งานบนสมาร์ทโฟน”
โซนจัดงาน Show Case เทคโนโลยี 5G
ภายในงานยังมีการทดสอบเทคโนโลยี 5G ผ่านความร่วมมือกับ NOKIA ผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลก โดยแบ่งโซนต่างๆ ได้แก่
1. โซน 5G Super Speed แสดงการปล่อยสัญญาณ 5G ผ่านเสาอากาศไปหาเครื่องมือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์มือถือต้นแบบ (Prototype) ที่มีชิปเซตรองรับ 5G โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษ เพื่อจำลองให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงสภาวะแวดล้อมเสมือนจริงของการทำงานของสถานีฐานในการส่งสัญญาณผ่านอากาศไปยังมือถือ 5G ต้นแบบ ทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงประสบการณ์จริง ว่าเมื่อเครือข่าย 5G มาถึง ความเร็วที่ได้รับผ่านมือถือจริงๆ นั้น จะมีความเร็วที่สูงระดับ Gigabit และความหน่วง (Latency) ที่ต่ำในระดับ 5ms
2. โซน 5G Ultra Low Latency – Cooperative Cloud Robot ที่จะสาธิตประสิทธิภาพการตอบสนองที่รวดเร็วของเครือข่าย 5G ผ่านการใช้หุ่นยนต์สามตัวในการหาจุดสมดุล ที่ทำให้ลูกบอลอยู่กึ่งกลางกระดาน โดยมีการเปรียบเทียบผ่านการสื่อสารระหว่างเครือข่าย 4G กับเครือข่าย 5G
3. โซน 5G for Industry 4.0 ที่จะแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรม 4.0 ในการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรอื่นๆ ผ่านการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความหน่วงต่ำและความแม่นยำสูง ซึ่งจะทำให้สายการผลิตทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้หุ่นยนต์สาธิต YuMi® Dual-Arm Collaborative Robot จาก ABB ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G
4. โซน 5G Virtual Reality – Immersive Video ที่ใช้การชมวีดีโอในสภาวะเสมือนจริงผ่านเครือข่าย 5G โดยผู้ที่ใส่แว่นตา VR จะสามารถมองเห็นได้รอบด้าน 360 องศาด้วยความคมชัดสูงผ่านปริมาณการใช้ Band width มหาศาล โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดหรือ Live Streaming
5. โซน 5G FIFA Virtual Reality ทดลองความเร็วของเครือข่าย 5G โดยการเตะลูกบอล Virtual Reality ที่จุดโทษผ่านเครือข่าย 5G การตอบสนองของผู้รักษาประตูในขณะเซฟลูกจุดโทษที่เราเตะออกไปพบว่า โอกาสยิงเข้าของเราน้อยกว่าเมื่อใช้สัญญาณ 5G เพราะผู้รักษาประตูสามารถพุ่งเซฟลูกยิงของเราได้อย่างรวดเร็ว
“ทั้งหมดนี้ จัดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้เรียนรู้ และแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี 5G สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ในส่วนของเอไอเอสเอง หน้าที่หลักของเราคือ การนำทรัพยากรคลื่นความถี่มาสร้างมูลค่าและประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมและประเทศไทยอย่างดีที่สุด หมายรวมถึง การศึกษา ค้นคว้า วิจัย เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างกรณี 5G ที่ต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างสม่ำเสมอ เพราะอย่างที่ทราบกันดีกว่า 5G คือ โอกาสครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมไปอีกขั้น”
“และการทดสอบเทคโนโลยี 5G ครั้งนี้ คือ หนึ่งในการเตรียมความพร้อมของเอไอเอส ที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ และพร้อมนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน” นายวสิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย