“11.11” ช้อปออนไลน์สะท้านโลก! จิตวิทยาผู้บริโภคที่อีคอมเมิร์ซ ใช้ช้อปปิ้ง คลายเหงาคนโสด

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

11-2

ใครเลยจะรู้ว่าอยู่ดีๆ วันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน หรือ 11.11 ซึ่งเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งในหน้าปฏิทิน จะกลายเป็น “วันคนโสด” (Singles Day) ของชาวจีน และในเวลาต่อมาได้กลายเป็นวันเทศกาลช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เริ่มต้นจาก “Alibaba” ปลุกปั้นเป็นอีเว้นท์ช้อปปิ้งใหญ่ในจีน ก่อนจะขยายเป็น

ปรากฏการณ์ “11.11 Global Shopping Festival” ที่สร้างมูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มหาศาล ไม่ใช่แค่ในจีนเท่านั้น แต่ครอบคลุมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

กระทั่งทุกวันนี้ เป็น Signature Event ของ “Alibaba” ไปแล้ว และยังมีอีคอมเมิร์ซอีกหลายแพลตฟอร์ม และหลายแบรนด์สินค้า ไม่พลาดที่จะเกาะกระแสวันดังกล่าว พร้อมใจกันทำแคมเปญเทศกาลช้อปปิ้งลดกระหน่ำด้วยเช่นกัน

แต่รู้หรือไม่…เบื้องหลังของปรากฏการณ์ “11.11” ส่วนหนึ่งมาจากการนำ “จิตวิทยาผู้บริโภค” มาครีเอทเป็น Global Event โดยรายแรกที่ทำ คือ “Alibaba” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซระดับโลก แต่จิตวิทยาผู้บริโภคที่ว่านี้คืออะไร มาค้นหาคำตอบกัน

Resize Alibaba Office (Cr.Alizila)
Photo Credit : Alizila

 

จาก “วันคนโสด” สู่ “เทศกาล Shopping Therapy ระดับโลก” เมื่อผู้หญิง คือ นักช้อปตัวยง!

ที่มาของวันช้อปออนไลน์ระดับโลก เริ่มต้นจาก “วันคนโสด” หรือ “Singles Day” ของหนุ่มสาวคนจีนที่ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 1993 โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัย Nanjing ได้ผุดไอเดียที่อยากให้คนโสดมารวมตัวกัน เพื่อเฉลิมฉลองกับ “ความโสด” โดยเลือกวันที่ 11 เดือน 11 เพราะเลข 1 เปรียบเหมือนการอยู่ตามลำพัง หรือไม่มีคู่

เมื่อคนโสดมารวมตัวกัน กิจกรรมที่จะทำ มีตั้งแต่กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง ปาร์ตี้ ใช้เวลาไปกับเพื่อนอย่างเต็มที่ และมีสัญลักษณ์แทนความโสด คือ ขนมปังแท่งทอดกรอบ เนื่องจากรูปทรงเหมือนเลข 1 โดยส่วนใหญ่นิยมกินกัน 2 แท่ง หรือ 4 แท่ง เพื่อสื่อถึงวันที่ 11.11

แต่แล้วในปี 2009 เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน “Jack Ma” ผู้ก่อตั้ง “Alibaba Group” ที่ปัจจุบันกลายเป็น “Technology Company” ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้สบช่องโอกาสธุรกิจ เล็งเห็นจิตวิทยาเบื้องลึกของผู้บริโภคกลุ่มคนโสด มีทั้งกำลังซื้อ – มีอำนาจการตัดสินใจสูง ในช่วงเวลาว่าง ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะใช้จ่ายเงินไปกับการกิน-เที่ยว-ช้อปปิ้ง

Resize shutterstock_1077118370
Photo Credit : feelphoto / Shutterstock.com

มีศัพท์คำหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือ “Retail Therapy” หรือ “Shopping Therapy” คือ การบำบัดความเครียด คลายความเหงา – ความน่าเบื่อ และเติมสีสันให้กับชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยการ “ช้อปปิ้ง” เพราะได้เพลิดเพลินไปกับการเลือกดู-เลือกซื้อสินค้า ดูของสวยๆ งามๆ

 

ยิ่งในกลุ่มผู้บริโภค “ผู้หญิง” ช้อปปิ้งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับผู้หญิงมาทุกยุคสมัย และหลายคนแพ้ป้าย “Sale” ทุกครั้งที่เห็น ก็อดใจไม่ได้ที่จะต้องแวะเข้าไปดู (ซื้อ-ไม่ซื้ออีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มักจะมีของติดมือกลับมาทุกครั้ง) หรือถ้าบนออนไลน์ ก็จะรีบคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที !!

 

เพราะฉะนั้น “ผู้หญิง” นอกจากเป็นนักช้อปตัวยงแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ

 

สิ่งเหล่านี้เป็น “จิตวิทยาผู้บริโภค” ที่ “Alibaba” เล็งเห็นพลังคนโสด จึงได้จับวันที่ 11.11 มาครีเอทเป็น “เทศกาลวันช้อปออนไลน์” หรือที่เรียกว่า “Double 11” เริ่มต้นจากในจีนก่อน ช้อปผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ Alibaba เช่น Taobao, Tmall ฯลฯ แล้วจึงขยายเป็นแคมเปญระดับโลก

กระทั่งทุกวันนี้กลายเป็น “Signature Event” ของ Alibaba ไปแล้ว ทั้งยังส่งผลให้คู่แข่งต้องเกาะกระแสอีเว้นท์ช้อปออนไลน์นี้ด้วยเช่นกัน

Resize shutterstock_461355724

 

จาก 27 ร้านค้า ยอดขาย 7 ล้านเหรียญ สู่ 140,000 ร้านค้า ยอดขาย 25.3 พันล้านเหรียญ

จากจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยน Singles Day ให้กลายเป็นเทศกาลช้อปปิ้งครั้งใหญ่ระดับประเทศในปี 2009 เวลานั้นมีร้านค้าเข้าร่วมเพียง 27 ร้าน/แบรนด์ ทำยอดขาย 7,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทุกปีที่จัดขึ้น จะมีจำนวนร้านค้า และแบรนด์ใหญ่เข้าร่วมอีเว้นท์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเล็งเห็นว่าได้เข้าถึงฐานผู้บริโภคคนจีน ซึ่งเป็นนักช้อปที่มีกำลังซื้อมหาศาลที่บรรดา Global Brand ต่างหมายปอง และในเวลาเดียวกันเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลก

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของอีเว้นท์นี้ เกิดขึ้นในปี 2015 เมื่อ “Alibaba” ผลักดัน “11.11 Shopping Festival” ให้กลายเป็นเทศกาลช้อปปิ้งระดับโลก (Global Shopping Festival) ส่งผลให้ไม่เพียงแต่จำนวนร้านค้า และแบรนด์ระดับโลกเข้าร่วมอีเว้นท์นี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยังตามมาพร้อมกับยอดขายสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume : GMV) เติบโตถล่มถลาย

Resize 11.11 Alibaba

ดังจะเห็นได้จากยอดขายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปี 2013 ยอดขาย 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ 21%
ปี 2014 ยอดขาย 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ 42.6%
ปี 2015 ยอดขาย 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ 68.7%
ปี 2016 ยอดขาย 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ 82%
ปี 2017 ยอดขาย 25,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ 90%

ยอดขายในปี 2017 มีมูลค่าใหญ่กว่าเทศกาลช้อปในฝั่งอเมริกา ทั้ง “Black Friday” (วันศุกร์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน หลังวันขอบคุณพระเจ้า) และ “Cyber Monday” (วันช้อปปิ้งบนอีคอมเมิร์ซจัดโปรโมชั่นลดราคา เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2015) รวมกัน

ในปี 2018 ครบรอบ 10 ปีของการจัดเทศกาลช้อปออนไลน์ 11.11 “Alibaba” เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่กว่าปีก่อนๆ อย่างแน่นอน เพื่อทุบสถิติยอดขายให้เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเวลานี้เริ่มโหมโรงแล้ว ด้วยการจัด Pre-sale และสื่อสารการตลาดผ่านสื่อต่างๆ

 

ขณะเดียวกันเพื่อรองรับยอดการสั่งซื้อเข้ามามหาศาล “Cainiao Network” ซึ่งเป็นบริษัท Smart Logistic ที่มี Alibaba ถือหุ้นใหญ่ ได้เตรียมความพร้อมคลังสินค้า เพื่อรองรับออเดอร์ที่เข้ามาในวันที่ 11.11 อีกทั้งล่าสุดได้เปิดคลังสินค้าอัตโนมัติใหญ่สุดทางตะวันออกของเมืองอู๋ซี ระบบคลังสินค้าแห่งนี้ ใช้ทั้ง IoT, Robots, Big Data และได้จับมือกับบริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ของจีน 15 บริษัท และมีเครือข่ายสถานีจัดส่งกว่า 200,000 สถานี รองรับวันที่ 11.11

 

ส่วนการขายสินค้าจีน ไปยังตลาดต่างประเทศ ที่ดำเนินการผ่าน “AliExpress” และ “Tmall World” ทาง “Cainiao” จัดเตรียม 51 เที่ยวบินไปยังยุโรปตะวันตก, รัสเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีตู้คอนเทนเนอร์ 1,000 ตู้ รองรับผู้ซื้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้การขนส่งทางทะเลร่วมด้วย

Resize Cainiao-11.11-AGV-Warehouse
Photo Credit : Alizila

 

ดึง “คนดังระดับโลก” สร้างกระแสกระหึ่มโลก

ด้วยความที่ยุคดิจิทัล ทำให้โลกใบนี้กลายเป็น “Globalization” ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกัน และทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี สินค้า-บริการ และคอนเทนต์ต่างๆ ได้ทั่วถึง ผลจาก “Globalization” ช่วยผลักดันให้ “11.11” ของ “Alibaba” ขยายไปยังทั่วโลก

ผนวกกับกลยุทธ์การตลาด ที่ทุ่มทุนดึงบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งในวงการบันเทิง, กีฬา มาร่วมอีเว้นท์นี้ เช่น นิโคล คิดแมน, ฟ่าน ปิงปิง, ฟาร์เรล วิลเลียมส์, เจสซี่ เจ, มาเรีย ซาราโปวา, หลุยส์ ฟิโก้ ฯลฯ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ยกระดับภาพ “11.11” ให้กลายเป็น “Global Shopping Festival” และคงต้องติดตามต่อว่าปีนี้ “Alibaba” จะยังใช้กลยุทธ์ดังกล่าวหรือไม่ เพื่อตอกย้ำความเป็นมหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ระดับโลก

Resize shutterstock_754348666
Photo Credit : zhangjin_net / Shutterstock.com

 

“11.11 Shopping Festival” จิ๊กซอว์ต่อภาพโมเดล “New Retail” ของ “Alibaba”

“Alibaba” ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ คือ “New Retail” หมายถึงการเชื่อมต่อค้าปลีกออฟไลน์ กับ ออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยใช้ “เทคโนโลยี” เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อประสบการณ์ช้อปปิ้งทั้งสองโลกนี้เข้าหากัน

ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกที่ Alibababa เข้าไปลงทุนเทคโนโลยีให้ กว่า 100,000 สาขา ใน 31 จังหวัด 334 เมือง ภายใต้นิยามของ “New Retail”  สามารถเชื่อมโยงกับ Data Insight เพื่อนำเสนอประสบการณ์การช้อปปิ้งให้กับลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคล หรือ Tailor-made และภายในร้านค้า มีเทคโนโลยี เช่น RFID, Cloud Shelf, Facial Recognition พร้อมทั้งพัฒนา Mobile Gamification หรือเกมบนสมาร์ทโฟน เพื่อสร้าง Customer Engagement

ขณะเดียวกันคูปองส่วนลดของ Taobao – Tmallสามารถนำมาใช้กับร้านค้าออฟไลน์ได้ รวมทั้งคำแนะนำสินค้า-บริการผ่านทางแอปพลิเคชัน Taobao และ Tmall เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคไปซื้อสินค้าในร้านค้าออฟไลน์ อีกทั้งผสานการสมัครสมาชิกทั้งออฟไลน์ – ออนไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลข่าวสาร-สิทธิพิเศษ-ส่วนลด หรือโปรโมชั่นต่างๆ เชื่อมต่อกันทั้งสองช่องทาง

ดังนั้น อีเว้นท์ “11.11” เป็นอีกหนึ่ง “จิ๊กซอว์” สำคัญในการต่อภาพ “New Retail” ของ “Alibaba” ดังจะเห็นได้จากสถิติช่วง Pre-sale ในปีนี้ ก่อนนับถอยหลังเข้าสู่ 24 ชั่วโมงของ 11.11 และดึงพันธมิตรในโลกออฟไลน์ มาเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น

– ลิปสติก “MAC” 17,000 แท่ง ขายหมดเกลี้ยงภายใน 6 นาที – ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว “Lancôme” 50,000 ขวด ขายหมดภายใน 5 นาที – ผลิตภัณฑ์ “Starbucks” รุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่นที่ออกแบบสำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะ จำนวน 3,000 ชิ้น ขายหมดภายใน 4 นาที

Resize Mac

– พิพิธภัณฑ์ชื่อดังของโลก 8 แห่ง เข้าร่วมมหกรรม 11.11 ในปีนี้ เพื่อจำหน่ายของที่ระลึกบนออนไลน์ และพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้เปิด Flagship Store บน Tmall

– ปีนี้ Alibaba Ecosystem สร้างคอนเซ็ปต์ “energy credits” ยิ่งลูกค้าใช้เวลาบนแอปฯ ต่าง ๆ ในกลุ่มธุรกิจของ Alibaba ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น Taobao, Tmall, Youku, AutoNavi, DingTalk, Ele.me รวมถึงธุรกิจออฟไลน์อย่าง Easyhome, Intime, Suning, Hema และอื่น ๆ มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับ “energy credits” มากขึ้นเท่านั้น โดยสามารถนำเครดิตเหล่านี้ ไปแลกเป็นซองอั่งเปา 11.11 ที่มีมูลค่ารวมถึงกว่า 1,000 ล้านหยวน

– โคคา-โคลา พร้อมแฟชั่นแบรนด์ PINKO เปิดตัวกระเป๋า มูลค่า 3,000 หยวน ที่กลายเป็นไอเท็มสุดฮอตสำหรับช่วง pre-sale

Resize Coca-Cola x PINKO

– ใช้ IoT และ BLOCKCHAIN ช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตามสินค้าที่สั่งซื้อ พร้อมทั้งยืนยันสินค้าผ่าน dual authentication และ two-way encryption และยังให้สามารถ Track สินค้าตามเวลาเรียลไทม์ผ่าน LBS และ GPS

– ร้านอีซี่โฮม เป็นเชนค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้าน ทั้ง 222 สาขา เข้าร่วมมหกรรมช้อปปิ้ง 11.11 เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยสาขาในปักกิ่งกว่า 100 สาขา จะเป็น New Retail ที่ลูกค้าสามารถใช้แอปฯ Tmall เลือกสรรแบบต่าง ๆ การดีไซน์ ตกแต่งห้องต่าง ๆ ในบ้านได้แบบเสมือนจริง พร้อมทั้งสะสมคูปองจากแอปฯ Tmall แลกส่วนลดซื้อสินค้าผ่านอีซี่โฮม

Resize Home NEW RETAIL

 

พัฒนา “เทคโนโลยี” สร้างประสบการณ์ช้อปออนไลน์ ให้เป็น “Retail-tainment”

แต่ไหนแต่ไรการซื้อสินค้าบนออนไลน์ เป็นรูปแบบ Functional นั่นคือ อยู่หน้าจอ ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์มือถือ ถ้าต้องการซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เข้าไปที่หมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เจอตัวไหนถูกใจทั้งดีไซน์ – แบรนด์ – ราคา กดสั่งซื้อ จากนั้นรอให้ของมาส่ง เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ แทบไม่ได้สร้าง Engagement และมี Human Touch ระหว่าง “ลูกค้า” กับ “ร้านค้า/แบรนด์” และระหว่าง “ลูกค้า” กับ “แพลตฟอร์ม” 

แตกต่างค้าปลีกรูปแบบ Physical Store หรือ Brick-and-mortar ที่มีเรื่องของ Emotional และ Human Touchจากการที่ผู้บริโภคได้มาเดิน มาร่วม-ดูกิจกรรมที่ศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่แบรนด์ช้อปในศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้าจัดขึ้น รวมทั้งมาอัพเดทเทรนด์ ได้พบปะผู้คน มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน และได้สัมผัส 5 sense ซึ่งทำให้ค้าปลีกแบบ Brick-and-mortar สามารถตอบโจทย์ความเป็น “Retail-tainment” (Retail + Entertainment) ได้ดีกว่าค้าปลีกออนไลน์

“Alibaba” รู้ข้อจำกัดของออนไลน์ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยี เช่น เกมบนสมาร์ทโฟน ที่ win-win ทั้งฝั่ง Alibaba – ผู้ประกอบการร้านค้า/แบรนด์ – ผู้บริโภค เพราะเป็นการดึง Traffic เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba และหน้าร้านค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการ SME – แบรนด์ ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค ได้ความสนุก และได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น เพื่อสร้าง Customer Engagement และทำให้ค้าปลีกออนไลน์ สามารถเป็น “Retail-tainment” ไม่แพ้ค้าปลีกออฟไลน์

httpv://www.youtube.com/watch?v=hBgi-7KqDPk

 

“อีคอมเมิร์ซไทย” ดาวรุ่งโตแรง

ในขณะที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ในจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และบางประเทศในยุโรป พัฒนาไปไกลแล้ว เมื่อกลับมามองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในสเต็ปเริ่มต้น แต่มีศักยภาพสูง เป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรายได้ประชากรเพิ่มขึ้น

“The Economist” เผยผลวิจัย “แนวโน้มธุรกิจและภูมิทัศน์ด้านอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย” พบว่านโยบายปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งปัจจัยต่างๆ เป็นการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตรวดเร็ว

– การสนับสนุนด้านกฎหมาย เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยมุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้มากขึ้น โดยที่ 95% ของประชากรมีการเชื่อมต่อ และเมืองต่าง ๆ – ศูนย์กลางหลักมีการเชื่อมต่อด้วยความเร็ว 100 Mbps ภายในปี 2020

– แผนแม่บทการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) 550,000 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อรองรับการชำระเงิน ด้วยบัตรเครดิต/เดบิต ขณะเดียวกันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) เช่น PromptPay และ TrueMoney ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

– คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อนำระบบไร้สาย 5G มาใช้ภายในปี 2020 ซึ่งอาจเพิ่มการใช้บรอดแบนด์บนมือถือได้ถึง 133%

Resize E-Commerce ASEAN_01 Resize E-Commerce ASEAN_02 Resize E-Commerce Thailand_01

– ผู้หญิงไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเป็นผู้ประกอบการสูง คิดเป็น 47% ของนักธุรกิจในประเทศไทย

– คนไทยไว้วางใจในความปลอดภัยของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยค่อนข้างสูง

– แรงจูงใจหลักในการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ คือ การเข้าถึงสินค้าที่ไม่ได้มีจำหน่ายอยู่ในประเทศ แต่ทั้งนี้หากขั้นตอนทางศุลกากรที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน อาจกลายเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ SME และจะทำให้การส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภคล่าช้า ซึ่งเป็นอุปสรรคของอีคอมเมิร์ซ

– เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยพัฒนาต่อเนื่อง การลงทุนด้าน Logistic และ Infrastructure เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น สิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบิน เครือข่ายการกระจายสินค้า และเครือข่ายถนน เพื่อขจัดปัญหาคอขวด ที่ทำให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนการจัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น

Resize E-Commerce Thailand_02 Resize E-Commerce Thailand_03 Resize E-Commerce Thailand_04 Resize E-Commerce Thailand_05

 

“11.11” จากปรากฏการณ์ระดับโลก สู่ตลาดไทย

ข้อมูลของ Facebook ที่ทำการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมนักช้อปใน 6 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าวันที่ 11 พฤศจิกายน มีอัตราการจับจ่ายซื้อสินค้าสูงขึ้นกว่า 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับวันที่ 11 ของเดือนอื่น ในขณะที่อัตราส่วนการซื้อสินค้าผ่าน Mobile สูงขึ้นกว่า 76% ในช่วงเทศกาลวันหยุด

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยกว่า 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมการศึกษา มีแนวโน้มจับจ่ายในช่วงวันคนโสด ซึ่งนักช้อปชาวไทยมีแผนจะใช้งบประมาณสูงกว่า 8,000 บาท สำหรับการช้อปปิ้งในช่วงวันหยุดยาว โดยนักช้อป 23% มีแนวโน้มจับจ่ายในงบประมาณใกล้เคียง หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

และปัจจุบันการช้อปปิ้งออนไลน์ อยู่ในยุค Mobile และ Social Network โดย 69% ของคนไทยที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ พวกเขาใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นช่องทางหลักในการเปรียบเทียบราคาสินค้า และหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

เวลานี้ผู้เล่นรายหลักในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ไม่ว่าจะเป็น LAZADA, Shopee, JD Central ฯลฯ ต่างกระหน่ำสื่อสารแคมเปญมหกรรมลดราคาวันคนโสด พร้อมทั้งแข่งดีลในรูปแบบต่างๆ และเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ให้เป็น Retail-tainment อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขาย และสร้าง Traffic ให้กับผู้ประกอบการ SME และแบรนด์

หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม และเชนค้าปลีกหลายเซ็กเมนต์ ที่หันมารุกช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ไม่ยอมตกขบวนรถไฟสายด่วนนี้ ร่วมเกาะกระแสทำแคมเปญ 11.11 ทำทั้งหน้าร้าน และบนออนไลน์ด้วยเช่นกัน

Resize Lazada 11.11 Shopping Festival

4 ประเด็นที่ตามมาจากเกิดขึ้นของแคมเปญ “11.11” ในไทย คือ

– ฉีกกฎการจัดอีเว้นท์เซลล์ของวงการค้าปลีก เพราะการจัดเทศกาลลดราคาใหญ่ๆ ของค้าปลีกแบบ Brick-and-mortar จัดเป็นช่วงๆ ของปี เช่น ช่วงกลางปี, ช่วงปลายปี ต่อเนื่องถึงต้นปี ถึงแม้ระยะหลังเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของคนไทยชะลอตัว จนทำให้ค้าปลีก Brick-and-mortar จัดแคมเปญลดราคาถี่ขึ้น เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายก็ตาม

แต่ทันทีที่ “อีคอมเมิร์ซในไทย” ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มาพร้อมกับการจัดแคมเปญลดราคาเกือบตลอดทั้งปี เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย แต่ละรายต่างห้ำหั่นกันด้วยโปรโมชั่นราคาอย่างดุเดือด!! และสำหรับการจัดอีเว้นท์ใหญ่ “11.11” เป็นการจัดแคมเปญลดราคาในช่วงเวลาก่อนเทศกาลลดราคาใหญ่ปลายปีของค้าปลีก Brick-and-mortar

– เพิ่มโอกาสการขายให้กับผู้ประกอบการ SME และแบรนด์ใหญ่ ซึ่งการจัดแคมเปญนี้ในช่วงปลายปี เป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายอยู่แล้ว

– สร้างพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย

– สร้างการเติบโตด้านมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย

สำหรับความเคลื่อนไหวของ e-Marketplace รายใหญ่ในอาเซียน รวมถึงไทย “LAZADA” (แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) ปีนี้เป็นปีแรกที่ควบรวมกิจกรรมกับ “Alibaba” อย่างเต็มรูปแบบ

ดังนั้น หลังจากอยู่ภายใต้ชายคายักษ์อีคอมเมิร์ซระดับโลก สามารถ Synergy องค์ความรู้ และเครื่องมือการขายจาก Alibaba ที่ใช้ในจีน มาปรับใช้กับตลาดไทย เพื่อสนับสนุนผู้ขาย และสร้าง Customer Engagement เช่น นำเกมบนสมาร์ทโฟน มาใช้ในแคมเปญ 11.11 ไม่ว่าจะเป็น Shake it เขย่ารับโชค, Slash it ให้ชวนเพื่อมาหั่นราคาสินค้า, Crazy flash sales ดีลแรง ในเวลาจำกัด และปีนี้เปิดตัวฟีเจอร์เกม Wonderland ครั้งแรกในไทย และมอบส่วนลดสูงสุด 90%

Resize Shopee 11.11 Creative Contest

ขณะที่ “Shopee” อีกหนึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน ได้จัดแคมเปญ “Shopee 11.11 Big Sale” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมทั้งผนึกพันธมิตรแบรนด์ใหญ่ เช่น Unilever, P&G, Mamypoko, Sabina ฯลฯ ด้วยการนำเสนอดีล ราคาเริ่มต้น ชูดีลพิเศษ ราคาเริ่มต้น 11 บาท

ส่วน “JD Central” หลังจาก JD แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ร่วมทุนกับเซ็นทรัล ลุยตลาดไทย ปีนี้จึงเป็นปีแรกของการทำตลาดในไทย พร้อมทั้งเปิดตัว “11.11 Crazy Hot Sale” ให้ส่วนลดสูงสุด 90% และโปรโมชั่นต่างๆ พร้อมใช้พลัง Synergy กับกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล โปรโมท และทำแคมเปญร่วมกัน

Resize JD CENTRAL_11.11 KV

 


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ