ในความรู้เชิงจิตวิทยาผู้บริโภคและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้ทำให้ นักการตลาดที่ติดตามเรื่องนี้เข้าใจในตัวมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในการรับรู้ว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เหตุผลต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย และใช้อารมณ์นำในการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้นักการตลาดนั้นสามารถนำความรู้นี้มาใช้กับการตลาดได้โดยการสร้างอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคให้รู้สึกในรูปแบบต่าง ๆ กับสินค้าและบริการขึ้นมา
สมองของมนุษย์นั้นมีกลไกควบคุมอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือแบบรู้สึกนึกและแบบไร้สำนึก ซึ่งกระบวนการส่วนใหญ่ในชีวิตจะเกิดการตัดสินใจโดยแบบไร้สำนึกจำนวนมาก เพื่อที่จะทำให้สมองแบบรู้สำนึกถูกเอาไปใช้งานในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า ในหลาย ๆ ครั้งนักการตลาดสามารถวางเป้าหมายทางการตลาดในการจับการรู้สึกแบบไร้สำนึกนี้ได้ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจแบบไม่รู้ตัวแบบไร้เหตุผลขึ้นมา ซึ่งในตอนนี้นักการตลาดนั้นรับรู้ว่า ผู้คนไม่ได้ซื้อสินค้าแต่ซื้อสิ่งที่สินค้าสัญญาจะมอบให้ในทางความรู้สึกนั้นเอง ตัวอย่างเช่น เราไม่ได้ซื้อ iPhone เพราะฟีเจอร์ แต่เราซื้อเพราะความรู้สึกในการบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมอีกด้วย
ดังนั้นการเข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์มีนี้ นักการตลาดสามารถเอาอารมณ์เหล่านี้มาช่วยในการวางแผนทางการตลาดได้อย่างมากมาย ซึ่งในวันนี้เราจะมารู้จัก 7 อารมณ์ที่สร้างความรู้สึกอย่างรุนแรงของมนุษย์จนมีผลต่อการตัดสินใจในการอุปโภคบริโภคขึ้นมา
1. ความสุข : ความสุขนั้นเรียกได้ว่าเป็นอารมณ์พื้นฐานของคนเลยทีเดียว ลองสังเกตุดูได้จากหลักการปิรามิดของ Maslow จะเห็นว่าความสุขนั้นก็เป็นหนึ่งในความต้องการของมนุษย์เช่นกัน และมนุษย์หลาย ๆ คนก็แสวงหาความสุขในรูปแบบที่แตกต่างกันที่จะตอบสนองความต้องการตัวเองได้ หลายครั้งนักการตลาดตีความสุขนี้ผิดพลาดไปโดยไปสับสนกับความต้องการพื้นฐานที่ชีวิตต้องมี แต่แท้จริงแล้วความสุขทางจิตใจต่างหากที่มนุษย์ต้องการ ดังนั้นสิ่งที่นักการตลาดควรต้องเริ่มคิดคือ สินค้าและบริการของตัวเองจะให้ความสุขทางจิตใจของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
2. การมีคุณค่า : สิ่งหนึ่งที่มนุษย์อยากจะเป็นกันคือการมีคุณค่า หรือมีตัวตนในสังคมขึ้นมา ด้วยเหตุนี้สิ่งที่นักการตลาดต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคนั้นรู้สึกมีคุณค่ายามเมื่อได้ใช้สินค้าและบริการที่ได้ไปนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก การเข้าใจการมีคุณค่าของคน ทำให้คนนั้นรู้สึกว่าแบรนด์นี้ให้ค่าตัวเองและจดจำตัวเองได้ ซึ่งบางครั้งการให้คุณค่านี้ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการให้บริการ
3. ความไม่แตกต่างจากคนอื่น : มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม และกลัวการที่จะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในสังคมนั้นเอง การอยู่ในกลุ่มของสังคมทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัย ดังนั้นการที่แบรนด์สามารถสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือกลุ่มก้อนของผู้บริโภค ทำให้เกิดความเหนี่ยวแน่นระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์นั้นขึ้นมา ลองดูได้จากการเลือกข้างในเกมกีฬา หรือเลือกแบรนด์ที่ใช้กัน
4. ความเชื่อมั่น : สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการคือความไว้ใจ และเชื่อใจกันได้ ซึ่งจะทำให้รู้สึกปลอดภัยท างจิตใจ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นหรือเชื่อใจได้ของแบรนด์สินค้าและบริการจะสร้างความรู้สึกปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้ และทำให้ผู้บริโภคนั้นกลับมาใช้บริการ หรือชวนคนอื่นมาเป็นลูกค้าต่อได้ง่ายอย่างมาก เริ่มต้นที่นักการตลาดต้องทำการตลาดที่โปร่งใสและทำตัวเองให้มีความน่าเชื่อใจโดยไม่มีเงื่อนไขแอบแฝงต่าง ๆ ขึ้นมา
5. ความสงสัย : มนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ในความอยากรู้เช่นกัน ลองดูได้ง่ายมาก ๆ ว่าสังคมเราอยากรู้เรื่องดารา เรื่องราวของชาวบ้านต่าง ๆ มากแค่ไหน สิ่งที่ขับเคลื่อนนี้คือความสงสัยที่สมองมีความว้าวุ้นในกาที่อยากจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หรือจะมีอะไรตามมา ซึ่งทางไม่ได้รับการตอบสนองจะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ดังนั้นการรู้ว่าจะสร้างความสงสัยและตอบสนองความสงสัยนี้ ทำให้เกิดการตลาดที่เป็นอารมณ์รุนแรงได้ ลองดูได้จาก การเปิดตัวสินค้าที่มักมีการปิดข่าวทำให้หลาย ๆ คนสงสัยมากจนไม่ต้องทำการตลาดใด ๆ เลย
6. ความกลัว : ความกลัวนั้นเป็นอารมณ์ที่รุนแรงเช่นเดียวกับความสุข เพราะความกลัวนี้เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดพื้นฐานของมนุษย์ทำให้สามารถหลีกหนีจากอันตรายหรือสามารถคว้าโอกาส ฉวยโอกาสเพื่อเอาตัวรอดได้ ดังนั้นหลาย ๆ ครั้งความกลัวนี้ขับดันการอยู่รอดในการตัดสินใจของมนุษย์เช่น กลัวที่จะพลาด กลัวที่จะเสียโอกาส กลัวที่จะแตกต่าง ทำให้สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนมาซื้อสินค้าและบริการได้
7. การรู้สึกผิด : เนื่องจากมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม ทำให้มนุษย์นั้นกลัวการที่จะทำอะไรผิดไปจากสังคม หรือทำให้รู้สึกว่าคนอื่นรู้สึกไม่ดี ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกผิดนี้ทำให้สามารถโน้มน้าวหรือความคุมได้ง่ายอย่างมาก เช่น ความรู้สึกผิดในการกินเยอะเกินไป หรือความรู้สึกผิดในการที่รูปร่างไม่ดี สิ่งเหล่านี้สามารถมาขับเคลื่อนทางการตลาดได้เช่นกัน