เป็นครั้งแรกที่ Google เลือกประเทศไทย เป็นสถานที่จัดงาน Google Cloud Summit อีเวนท์ใหญ่ที่จัดงานแล้วทั่วโลก ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Google เดินสายจัดไปแล้ว 3 ครั้ง ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก่อนจะลงหลักเลือกไทยแลนด์เป็นประเทศที่ 4 ว่าแต่…การจัดงานใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้บริหาร ลูกค้า พาร์ทเนอร์ และดีเวลลอปเปอร์ นับพันคนมารวมกันอยู่ในอีเวนท์เดียวเช่นนี้ Google มีเป้าหมายอะไรในการสื่อสาร หรือเล็งเห็นศักยภาพด้าน Cloud จากประเทศไทย อย่างไรบ้าง
ต้องย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็น “ครั้งแรกของไทย” ที่ Google ดึงงานระดับโลกเข้ามาเพื่อสื่อสารกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ รวมทั้งเหล่านักพัฒนา ว่าก้าวต่อไปของ Google กับธุรกิจด้านคลาวด์นั้น จะดำเนินต่อไปอย่างไร
4 ทิศทาง Google Cloud กับการดำเนินงานในไทย
คุณทิม ไซแนน Head of Google Cloud เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สรุปให้ฟังว่า สิ่งที่ Google อยากจะสื่อสารและดำเนินธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย มีอยู่ 4 เรื่องหลัก คือ 1. ต้องการบอกว่า Google ยังคงลงทุนและขยายอินฟราสตรัคเจอร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มจำนวนศูนย์ให้บริการคลาวด์ (Google เรียกว่า Regions) ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายจำนวนอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 6 แห่ง เป็น 8 แห่ง ในไต้หวัน, ญี่ปุ่น โตเกียวและโอซาก้า, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, อินเดีย, อินโดนีเซีย และฮ่องกง 2. เพิ่มทีมงานจำนวนมากเพื่อดูแลและรองรับลูกค้าในไทย 3. ตอกย้ำความร่วมมือทางธุรกิจกับพาร์ทเนอร์จำนวนมาก 4. เป็นเวทีแนะนำฟีเจอร์และประโยชน์ของ Google Cloudจากคู่ค้าที่ใช้เครื่องมือและประสบความสำเร็จจริง ทำให้เห็นว่า Google Cloud สามารถช่วยเหลือธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
“คลาวด์เติบโตอย่างมากและสามารถนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ มากมายในภูมิภาคนี้ ในส่วนของ Google ส่วนการเปิดตัว Regions หลายแห่งในภูมิภาคโดยไม่มีในประเทศไทย ไม่ได้แปลว่าเราไม่เห็นความสำคัญ แต่เป็นเพราะมั่นใจว่า Regions ทั้ง 8 แห่งสามารถดูแลและให้บริการได้อย่างเพียงพอแล้ว แม้ว่าในญี่ปุ่นจะมีถึง 2 แห่ง แต่ก็เป็นความจำเป็นจากการใช้งานด้านภัยพิบัตินั่นเอง”
อุตสาหกรรมไหนของไทย ที่ได้ประโยชน์จาก Google Cloud
เรื่องนี้ Google สรุปประโยชน์ของ Google Cloud ใน 7 อุตสาหกรรมเอาไว้ ได้แก่…
ธุรกิจโทรคมนาคมละบริการเครือข่ายสังคม : การลดขั้นตอนในการดำเนินงานและการกระจายงาน, การตรวจสอบการบำรุงรักษาและการซ่อมแซม, การตรวจสอบเครือข่าย เป็นต้น
ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ : การแจ้งเตือนและการวินิจฉัยโรคจากข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์, การระบุโรคและการจำแนกปประเภทความเสี่ยง, การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้ป่วย เป็นต้น
ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน : การวิเคราะห์ความเสี่ยง การแบ่งกลุ่มลูกค้า, การขายสินค้า หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าหรือบริการหลัก และการขายสินค้าหรือบริการที่มีราคาสูงกว่าให้แก่ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ, การจัดการแคมเปญทางการตลาดและแคมเปญส่งเสริมการขาย เป็นต้น
ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ : การวิเคราะห์การใช้พลังงาน, การประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหว, การเพิ่มประสิทธิภาพอุปสงค์และอุปทานพลังงาน เป็นต้น
ธุรกิจการผลิต : การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ หรือการตรวจสอบสภาพ, การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า, การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เป็นต้น
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ : การวางแผนสินค้าคงคลังเชิงพาณิชย์, การเพิ่มยอดขายและการทำตลาดผ่านช่องทางที่หลากหลาย, การแบ่งส่วนตลาดและการเลือกกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม : การจัดตารางเวลาเครื่องบิน, การตั้งราคาตามอุปสงค์และอุปทาน, สื่อสังคมออนไลน์-ความคิดเห็นของผู้บริโภคและการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ เป็นต้น
“สิ่งสำคัญของ Google Cloud ไม่ใช่แค่การลงทุนและขยายศูนย์ให้บริการคลาวด์ แต่หมายถึงการสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแรงและเป็นการทำงานร่วมกัน รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากรที่เราลงทุนอย่างมาก เพื่อรองรับการให้บริการและดูแลลูกค้า ภายใต้ 4 บริการของ GoogleCloud คือ Developers, Deploy, Scale, Manage เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านเทคโนโลยีคลาวด์ขององค์กรธุรกิจ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีขององค์กรเข้ากับเทคโนโลยีของ Google”
ถอดรหัส 3 ตัวอย่างธุรกิจ ลูกค้า Google Cloud
ดร.ยง เฉิน เชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Google Cloud ช่วยให้อนันดาสร้างประสบการณ์ในการให้บริการที่แตกต่างคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น แอปพลิเคชันสำหรับการโอนบ้านในโครงการต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดย Google Vision และ Speech to Text API ที่ทำให้กระบวนการทางธุรกิจของเราง่ายขึ้น และให้เรามุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญสำหรับลูกค้าของเราจริงๆ ภายใน 3 เดือนเราสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 130 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนธุรกิจได้กว่า 4 ล้านบาท ที่สำคัญกว่านั้นเราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นข้อมูลที่มีค่าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า ตอนนี้เรากำลังประเมินโครงการต่างๆ ในอนาคตเพื่อขยายความร่วมมือกับ Google Cloud
ดร.อัญญรัตน์ บุญนิธิวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB abacus กล่าวว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ขั้นสูงที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (human-centered AI) Google Cloud Platform ช่วยให้เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถหลักของเราโดยการอำนวยความสะดวกในการทำงานให้มีความคล่องตัวและนำเสนอเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้
คุณอิศราดร หะริณสุต ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง omise กล่าวว่า omise สามารถปรับขนาดแพลตฟอร์ม Payment API เพื่อรองรับการทำธุรกรรม 100 ล้านรายการต่อวัน เราทำธุรกรรมด้วยความปลอดภัยสูงสุดโดยได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงิน 99.99% สามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายอื่น นอกจากนี้แพลตฟอร์มของเรายังได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัย PCI DSS 3.2.1 อีกด้วย