จากรายงานในปี 2018 ระบุว่า บริษัท Tencent ผู้พัฒนา App ชื่อดังอย่าง WeChat ได้ผงาดขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดติด Top 5 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับ 1 ของจีน
ที่น่าสนใจคือ พวกเขาสามารถเบียดแซงหน้า Facebook ที่เคยอยู่ในอันดับนี้ จนต้องร่วงไปอยู่ในอันดับที่ 6 แทนที่ ทั้งที่ในปี 2016 นักวิเคราะห์หลายฝ่ายในตะวันตกกำลังมองถึงความล้มเหลวของ Tencent ที่ต้องการนำ WeChat ออกไปตีตลาดโลก แต่ปรากฏว่าเพียงแค่ 2 ปี สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร แม้ว่าในประเทศไทย และหลายประเทศในเอเชีย WeChat จะยังไม่สามารถตีตลาดของโซเชียลเพื่อการสื่อสารได้เท่าไรนัก แต่การใช้งาน WeChat ที่มีความหลากหลายก็ทำให้ก้าวข้ามไปไกลกว่าแค่การเป็น Platform เพื่อการส่งข้อความมาก
มาดูกันว่า ปัจจัยและคุณลักษณะอะไรบ้างที่อาจจะทำให้ WeChat สามารถตีตลาดผู้ใช้งาน Facebook ได้ในเร็วๆ นี้
1. แอปส่งข้อความกำลังกลายเป็น Mainstream
เนื่องจากแอปสำหรับส่งข้อความ กำลังกลายเป็นแอปประเภท Mainstream หรือกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะดึงผู้ใช้งานจาก App อื่นๆ ให้ใช้งานแอปกลุ่มนี้เป็นตัวหลักในชีวิตประจำวันมากขึ้น
จุดสำคัญที่ช่วยยืนยันกระแสนี้ ดูจากทาง WeChat เอง ที่ได้ผงาดขึ้นมาเป็นแอปอันดับ 1 ของจีน หลังจากมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคน ในต้นปี 2018
อีกทั้งทาง Facebook เองนั้น ที่ผ่านมาได้มุ่งความสำคัญในฐานะเป็นโซเชียล ก็ยังต้องให้ผู้ใช้งานหันมาดาวโหลด Facebook Messenger ของตนเอง แล้วพยายามผลักดันการใช้งานกับช่องทางนี้มากขึ้น แล้วแม้แต่ Alibaba เอง ก็พยายามที่จะเข้ามายังช่องทางนี้เช่นกัน
นั่นหมายความว่า แอปที่ใช้งานหลักเพื่อการส่งข้อความ แล้วยังสามารถเพิ่ม Feature ที่ทำได้มากกว่าแค่การส่งข้อความ มีสิทธิจะปราบแอปอื่นๆ ในช่วง 4-5 ปีนี้ได้จนหมด จนกว่าจะมีกระแสใหม่ทางออนไลน์ขึ้นมา เหมือนที่ Facebook เคยสร้างกระแสได้มาก่อน ซึ่งบริษัทวิจัย Gartner ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การใช้งานของแอปประเภทต่างๆ ในภาพรวมแล้วเริ่มมีการลดลง อาทิ โซเชียลมีเดีย แอปคลิปวีดีโอ เช่น Youtube แอปแผนที่ แต่ในทางกลับกัน ผู้คนมีแนวโน้มจะใช้งานในแอปที่ตนเองดาวโหลดมาแล้วใช้จนถนัดหรือชำนาญอยู่แล้ว ซึ่งแอปส่งข้อความมีแนวโน้มที่จะเป็นแอปตัวหลักของผู้ใช้งานมากที่สุด เพราะการส่งข้อความหากันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน หรือกล่าวได้ว่า Traffic ของการใช้งานแอปทั้งหมดจะเริ่มถูกดึงเข้าไปยังแอปที่ผู้คนนิยมใช้งานกันบ่อยในแต่ละวัน
ดังนั้นถ้าแอปส่งข้อความตัวไหนสามารถพัฒนาการใช้งานให้ได้มากกว่าแค่การส่งข้อความ ก็มีความได้เปรียบ และ WeChat ก็อยู่ในกลุ่มนี้
2. แนวโน้มการใช้งานหลัก
หากลองเปรียบเทียบกับแอปยอดนิยมอื่นๆ กรณีของ Line นับว่าชัดเจนที่สุดสำหรับคนไทย เพราะกลายเป็นว่าเวลานี้คนไทยไม่ได้อ่านไลน์เพียงเพื่อส่งข้อความหากันในแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แต่มีการตั้งกลุ่มเพื่อน กลุ่มสำหรับคุยงานธุรกิจ กลุ่มที่มีความชื่นชอบเดียวกัน ไปจนถึงการใช้ไลน์เพื่อส่งโปรโมชั่นราคาสินค้าของเจ้าของแบรนด์ต่างๆ การส่งข้อความ คลิปวีดีโอ การแชร์ข่าวสาร ซึ่งก็เริ่มมีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
3. ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย
ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ Facebook กำลังเผชิญอยู่ จริงอยู่ว่าการแฮกข้อมูลการติดต่อสื่สารจากแอปต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคที่แฮกเกอร์มีความสามารถพัฒนาอย่างถึงขีดสุด แต่ปัญหาเรื่องการถูกแฮกข้อมูลของ Facebook เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนทำให้ Mark Zuckerberg ต้องออกมาชี้แจงต่อหน้าวุฒิสภา ก็มีส่วนทำให้ Facebook ถูกตั้งคำถามมากขึ้นในเรื่องความเป็นส่วนตัว แม้ว่าจะมีการตั้งค่า Privacy ในการใช้งานไว้แล้วก็ตาม
4. ความสำเร็จจาก Mini-program ของ WeChat
Mini program ที่อยู่ใน WeChat มีจุดเด่นคือทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าได้เลยโดยไม่ต้อง Download ตัวแอปนั้นๆ มาใส่มือถือ
ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ คุณสามารถเข้าเว็บไซต์ JD.com โดยเข้าผ่านทาง WeChat ได้ทันที หรืออยากใช้งานแอปเรียกแท็กซี่ คุณสามารถเรียกได้จากแอป DidiChuxing ได้เลย แล้วยังรวมถึงการใช้งานอื่นๆ เช่น ทำธุรกรรมการเงิน เล่นเกมออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ สามารถเข้าผ่านทาง WeChat ได้ทั้งหมด ซึ่งแม้แต่ทาง Alibaba ก็ยังต้องเอาแนวคิดนี้ไปใช้
จะเห็นได้ว่า WeChat กลายเป็นแอปแบบครบวงจรไปแล้ว ถึงขนาดมีการสำรวจวิจัยแล้วพบว่า ชาวต่างชาติที่เข้าไปในประเทศจีน ดาวโหลด WeChat มาเพื่อใช้แชทสื่อสารกันมากกว่าคนจีนเองเสียอีก เพราะทุกวันนี้คนจีนใช้งาน WeChat ไม่ได้แค่การสื่อสารหรือแชทส่งข้อความหากันเป็นเป้าหมายหลักเท่านั้น แต่ใช้งานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันด้วย
โดยสรุปแล้ว ทาง Mark Zuckerberg เองก็เหมือนจะรู้ว่า เป็นเรื่องยากที่ Facebook จะเจาะเข้าตลาดจีนได้ แม้ว่าในตลาดโลก พวกเขายังเป็นกลุ่มผู้นำก็ตาม ตอนนี้กลยุทธ์ที่เขาใช้ในการบุกตลาดจีนจึงเป็นการเข้าไปลงทุนร่วมกับบริษัทในจีนเพื่อพัฒนาด้าน Start Up และนวัตกรรมอื่นๆ ขึ้นมาแทน โดยเริ่มแล้วที่มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ
เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com