เพราะโจทย์ทางธุรกิจต้องการทำให้แบรนด์ดู Younger เพื่อขยายสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 45 ปี และต้องการให้คนรู้สึกสนุกกับการนำกล้องมาถ่ายภาพ มากกว่านำไปโชว์หรือเก็บสะสม กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทาง บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ‘ไลก้า’ แบรนด์กล้องลักชัวรี่ระดับโลก ได้ ‘ปรับ’และ ‘เปลี่ยน’ กลยุทธ์การตลาดแบบขนานใหญ่
เริ่มตั้งแต่การสื่อสารและการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม การใช้สื่อออนไลน์ และโซเชียล มีเดียที่มากขึ้น รวมไปถึงก้าวสำคัญกับการเปิด ‘Leica Gallery Bangkok’ แห่งที่ 19 ของโลก และเป็นแห่งที่ 4 ของเอเชีย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแสดงผลงานของช่างภาพระดับโลก รวมทั้งผลงานของช่างภาพไทยที่จะได้มีโอกาสนำมาแสดงและผลักดันไปสู่เวทีระดับโลก
มาถึงจิ๊กซอว์ตัวล่าสุดการเปิดไลฟ์สไตล์ คาเฟ่ ของไลก้าแห่งที่ 2 ของโลกในชื่อ Café Leitz by Pacamara (คาเฟ่ ไลท์ซ บาย พาคามาร่า) มาภายใต้แนวคิด ‘Well to Do Well to Live’ ตั้งบนพื้นที่ 214 ตารางเมตร ชั้น M ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยภายใต้เป้าหมายหลัก เพื่อสร้าง Engagement กับผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น
“ไลก้า ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์ที่สร้างสรรค์กล้องถ่ายภาพระดับลักชัวรี่ แต่ยังได้สร้างไลฟ์สไตล์ และเราต้องการสร้างชุมชนสำหรับคนรักไลก้าให้ enjoy กับการใช้กล้อง ที่ผ่านมาเราปรับหลายอย่าง ทำให้ตอนนี้สัดส่วนของลูกค้าเปลี่ยนไป คือกลุ่มใหม่อายุ 30-45 ปีที่เราต้องการจับอยู่ที่ 70%และกลุ่มลูกค้าเดิมอายุ 45 ปีขึ้นไป 30%
ส่วนคาเฟ่ จะมาตอบโจทย์ในเรื่องเพิ่ม Engage กับลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไลก้าเองมีคาเฟ่ที่สำนักงานใหญ่ที่เยอรมัน แต่เป็นเพียงร้านเบสิคทั่วไป ไม่ได้เป็นไลฟ์สไตล์ คาเฟ่เต็มรูปแบบเหมือนเรา” ดนัย สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด เล่าถึงการรุกเข้ามาในธุรกิจไลฟ์สไตล์ คาเฟ่ ให้ฟัง
คาเฟ่ ไลท์ซ บาย พาคามาร่า ทาง ดนัย จับมือกับร้าน Pacamara (พาคามาร่า)Specialty Coffee ชื่อดังมาบริหารร้านร่วมกัน พร้อมรับหน้าที่คิดสูตรเครื่องดื่มและเครื่องดื่ม ส่วนสาเหตุที่เลือกพาคามาร่า เพราะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และมีความยูนีคเช่นเดียวกับแบรนด์ไลก้า ตั้งแต่การคัดสรรเม็ดกาแฟ การคั่วบด และวิธีการต่าง ๆ
ภายในร้าน จากโจทย์ที่ต้องการสร้างให้เป็น Community ที่พบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรักไลก้า จึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น
– ดิสเพลย์แสดงกล้องไลก้า และอุปกรณ์อื่นๆ โดยมี Product Specialist ของไลก้าคอยให้คำแนะนำสินค้า รวมถึงสามารถสั่งซื้อสินค้าและส่งซ่อมบำรุง
– เป็นศูนย์กลางการทำเวิร์กช็อปของ Leica Akademie
-เป็นสถานที่จัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายผลงานศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตามองจาก Leica Akademie ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
– ผนังรอบร้าน วางไว้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายจากศิลปินที่มีผลงานน่าจับตาจาก Leica Akademie
นอกจากนี้ ด้วยโจทย์ที่ต้องการสร้าง Engagement กับคนรุ่นใหม่ การดีไซน์ร้าน จึงพยายามเน้นสร้างประสบการณ์และเชื่อมโยงไปที่ History ของแบรนด์ไลก้า เพื่อให้ลูกค้าได้ซึมซับ ที่นอกจากจะตกแต่งด้วยภาพถ่ายที่ถ่ายจากกล้องไลก้าของช่างภาพชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ในเมนู และบนโต๊ะ ได้มีการนำโค้ดคำพูดคม ๆ ของช่างภาพชื่อดังมาไว้เพื่อสร้างแรงบันดาลที่ได้รับจากการถ่ายภาพด้วย
ที่น่าสนใจ คือ จะนำกล้องไลก้าไปให้ทดลองใช้บนโต๊ะอาหารทันที หากสังเกตได้ว่า ลูกค้าคนนั้นชอบการถ่ายภาพ หรือถือกล้องเข้ามาไม่ว่าจะเป็นของแบรนด์ใดก็ตาม ส่วนภาพที่ถ่ายนั้น ทางร้านจะนำไปพริ้นท์ให้ฟรี เพื่อให้เห็นว่า คุณภาพของกล้องเป็นอย่างไร
“คนเข้ามาในร้านอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง นอกจากจะซึมซับบรรยากาศ และประวัติของแบรนด์ ก็ให้ทดลองใช้กล้องเลยว่าของเราเป็นอย่างไร ดังนั้นพนักงานของเรานอกจากมี service mind แล้ว ต้องรู้เรื่องกล้องกับการถ่ายภาพด้วย เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ซึ่งไลฟ์สไตล์ คาเฟ่ที่เราทำ ไลก้าในประเทศอื่นจับตาอยู่อาจนำไปเปิด อย่างเช่น ที่ญี่ปุ่น เป็นต้น”
นอกจากจะเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับลูกค้าแล้ว ไลฟ์สไตล์ คาเฟ่ แห่งนี้ ต้องมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ หมายความว่า ต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดยทาง ดนัย จะขอดูผลตอบรับ 3-6 เดือน
หากลงตัวและเวิร์ค ในปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะเปิดขยายสาขาอีก 2-3 สาขา ซึ่งแน่นอนว่า ทำเลที่ไปจะเน้นในกรุงเทพฯ และต้องเป็น Prime Location ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและภาพลักษณ์ของแบรนด์
สำหรับยอดขายของไลก้าในไทยนั้น ตั้งแต่บริษัท เอลิส ไพรเวต เข้ามารับหน้าที่ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ปี 2559 ยอดขายอยู่ที่ 150 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 300 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเติบโตขึ้นจากปีก่อน 60 %