ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีพยายามขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมสนับสนุนให้ทุกอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจยุคใหม่
ทำความรู้จัก 10 S-Curve อุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2558 นั้น มีความหมายถึอุตสาหกรรมที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)
โดย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism), อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology), อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital), อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub)
ไทยอยู่ในช่วงปรับตัว ใช้เวลา 5-10 ปี เข้าสู่ช่วงอยู่รอดทางเทคโนโลยี
คุณชินาวุธ ชินะประยูร ผอ.สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น depa แสดงความเห็นต่อประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทำให้ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน โดยมีดาวเด่นที่สามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีอยู่ 4 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมการแพยท์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจ รวมถึงเริ่มใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเดิม ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้เวลากว่า 2-3 ปี เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ ทำให้ระยะนี้ถือว่าประเทศไทยยังอยู่ในช่วงปรับตัว ซึ่งหากจะให้ไทยขยับเป็นประเทศที่อยู่รอดทางเทคโนโลยี อาจต้องใช้เวลาราว 5-10 ปี
“เทคโนโลยี” เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค
เหตุผลที่กล่าวว่าเทคโนโลยีเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ก็เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีการลงทุนงบประมาณด้านเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยังขาดทักษะทางเทคโนโลยีและยังไม่กล้าลงทุนกับเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่กล้าใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันหรือแพลทฟอร์มดิจิทัล
“แม้จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศที่สามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีและพร้อมเดินหน้าได้ แต่ก็จำเป็นที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อเปลี่ยนแนวคิดและธุรกิจออกจากระบบเดิมที่เคยเป็นมา สร้างองค์ความรู้และแรงบันดาลใจทั้งวัยทำงานหรือแม้แต่เด็กๆ เพื่อปลูกฝังแนวคิดใหม่”
ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน กระตุ้นไอเดียนวัตกรรม
depa ได้ร่วมกับ ฮับบา และเทคสตาร์ส เตรียมจัดงานแฮคกาธอน “Startup Battleground” ในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018 เพื่อเป็นเวทีดึงสตาร์ทอัพแข่งระดมไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมกับสร้างโอกาสสตาร์ทอัพหน้าใหม่ต่อยอดนวัตกรรมสู่การใช้จริง รวมถึงผลักดันการเติบโตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อพัฒนาไทยแลนด์ 4.0
สำหรับรายละเอียดของการจัดงานแฮคกาธอนในครั้งนี้ โจทย์การแข่งขันจะถูกแบ่งออกเป็น 10 หัวข้อ สอดคล้องกับ 10 S-Curve ของรัฐบาล เพื่อดึงสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในระดับเริ่มตั้งไข่ (Seed Stage) ร่วมแข่งขันระดมไอเดีย ซึ่งประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech) 2.เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) 3.เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม (Agri Tech) 4.ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) 5.เทคโนโลยีด้านการอยู่อาศัย (Living Tech) 6.เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) 7.เทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) 8.เทคโนโลยีด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR Tech) 9.เทคโนโลยีด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) 10.เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech)
ทั้งนี้ กิจกรรมแฮคกาธอนจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-23 ก.ย. ภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี กิจกรรมในงานประกอบด้วยการเวิร์คช็อปโดยวิทยากรชั้นนำในแวดวงสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ วิทยากรจาก เทคสตาร์ส, การแข่งขัน 3 รอบ ประกอบด้วย รอบคัดเลือก รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ โดยจะเปิดรับผู้สมัครเป็นกลุ่มๆ ละ 4-8 คน ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่จำกัดสัญชาติ มีประสบการณ์ระดมทุนไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีไอเดียที่พร้อมจะนำมาต่อยอดพัฒนาในงาน โดยจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึงวันที่ 9 ก.ย.นี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://digitalthailandbigbang.com/hackathon เพื่อร่วมแข่งขันและลุ้นรางวัล โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 500,000 บาท ส่วนผู้ชนะสำหรับแต่ละโจทย์จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษจากพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมด้วย