เพิ่งมีความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวานนี้ หลังเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่ง AIS คือหนึ่งในผู้ชนะประมูลอย่างไม่เป็นทางการ แม้จะมีประเด็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ฯ ในครั้งนี้ได้เม็ดเงินเข้าภาครัฐน้อยเกินไป หรือประเด็นที่ว่ามีผู้รเข้าร่วมประมูลน้อยราย แต่ท้ายที่สุด…ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง DTN ในเครือ dtac และ AWN ในเครือ AIS ต่างก็ประมูลคลื่นความถี่ลงตัว ได้ใบอนุญาตไปคนละชุด
เรื่องนี้ คุณปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคุณผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ได้ออกมาอัพเดทสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นเล่าว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน คือ ทั้งสองรายประมูลคลื่นได้ในราคาเดียวกัน ทำให้ไม่มีรายใดได้สิทธิ์เลือกสล็อตคลื่นความถี่ ตามกฎที่ กสทช.กำหนดว่าผู้ชนะประมูลในราคาสูงกว่าจะมีสิทธิ์เลือกสล็อตฯ ได้ก่อน ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต้องจับสลากและสล็อตคลื่นความถี่ ซึ่งช่วงความถี่ที่ AIS เลือกมานั้น เมื่อรวมกับคลื่นเดิมที่มีอยู่เดิมทำให้ AIS มี Super Block บนคลื่น 1800 MHz เป็นรายเดียวของโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทย”
(Super Block หมายถึง การที่มีช่วงคลื่นความถี่ติดกันในขนาดใหญ่ที่สุดในย่านความถี่เดียวกัน)
ไขข้อข้องใจ ทำไมไม่เลือกคลื่น 900 MHz
สาเหตุที่ AIS ไม่เลือกประมูลคลื่น 900 MHz เพราะเรามีคลื่น 900 MHz อยู่แล้ว และมีคลื่นอีกส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้บริษัทมองว่าคลื่น 1800 MHz มีความเหมาะสมในการประมูลมากกว่า
ยอดใช้ 4G พุ่ง! ลูกค้า AIS ใช้เฉลี่ย 8.9 GB ต่อคนต่อเดือน
จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับลูกค้า 4G ของ AIS ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการใช้งานอยู่ที่ 8.9 GB/คน/เดือน ซึ่งทาง AIS ก็คาดว่าการใช้งานในช่วงครึ่งหลังของปีก็จะเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน
“ตอนนี้ลูกค้า 4G ของ AIS อยู่ที่ 22 ล้านราย เชื่อว่าการได้คลื่นนี้มาจะทำให้ศักยภาพในการให้บริการของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 33% ต้องบอกว่าเรามั่นใจในการพัฒนาเครือข่าย จากการเป็น Super Block และคลื่นความถี่ 120 MHz (รวมทั้งอัปลิงก์และดาวน์ลิงก์) ซึ่งเป็นของ AIS และความร่วมมือในการโรมมิ่งกับ TOT ที่มีอยู่ จะทำให้เรามีเครือข่ายศักยภาพยิ่งขึ้น และเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีคลื่นความถี่พร้อมให้บริการมากที่สุดในประเทศ”
พรีเซนเตอร์ช่วยการตลาด กระจายข่าวถึงผู้บริโภค
ในแง่การทำตลาด พรีเซนเตอร์ซึ่งเป็นเหล่าศิลปิน นักแสดง ก็จะมีบทบาทในฐานะผู้นำการสื่อสารไปยังลูกค้า AIS โดยเฉพาะ แบมแบม GOT7 และเป๊ก ผลิตโชค ซึ่งถือเป็นศิลปินที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นที่สุด เห็นได้อย่างชัดเจนจากกิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการตอบรับดีอยู่ตลอด ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าวยังสะท้อนปรากฎการณ์ว่า AIS มีส่วนร่วมในการสนับสนุนศิลปินที่มีแฟนคลับจำนวนมากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสื่อสารออกไปในครั้งนี้ ก็เป็นกลยุทธ์ในการทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในเครือข่ายของ AIS มีความั่นใจในการใช้บริการ
มั่นใจใช้คลื่น 1800 MHz ได้ทันที เสริมประสิทธิภาพเครือข่าย
“ในการให้บริการเครือข่าย หัวใจคือการทำบริการให้มีความลื่นไหลและต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกว่าชอบประสบการณ์การใช้งานที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายใด ซึ่งคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ได้มานี้ เราสามารถนำไปใส่รวมกับสถานีฐานเดิมเพื่อให้บริการได้ทันทีหลังผ่านกระบวนการรับรองจาก กสทช. ส่วนการประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม”
อย่างไรก็ตาม จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้ ทำให้ AIS ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มากที่สุด และเป็นรายเดียวที่มีคลื่นต่อเนื่องกันถึง 40MHz (20 MHz x 2) เรียกว่าเป็น แบนด์วิธคลื่นสำหรับให้บริการ 4G ในระบบ FDD ที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อนับรวมคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 40 MHz (20 MHz x 2), คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz (15 MHz x 2) ที่เป็นของเอไอเอสเอง และอีก 30 MHz (15 MHz x 2) ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT และคลื่นความถี่ 900 MHz อีก จำนวน 20 MHz (10 MHz x 2) ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 120 MHz (60 MHz x 2)