“กลุ่ม รพ.กรุงเทพ” ต่อจิ๊กซอว์ Healthcare Supply Chain ครบวงจร “ผลิตยา-ธุรกิจ รพ.-ร้านขายยา”

  • 625
  •  
  •  
  •  
  •  

hospital

การเคลื่อนทัพของ Big Conglomerate คือ การต่อจิ๊กซอว์ระบบนิเวศธุรกิจ หรือ Business Ecosystem ที่เกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจหลัก” ขององค์กร ดังเช่นกรณี “บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)” หรือ “BDMS” หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันในชื่อ “กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ” ของ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ที่เริ่มต้นก้าวแรกจากธุรกิจ “โรงพยาบาลกรุงเทพ” เมื่อปี 2515

กระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นอาณาจักรธุรกิจ Healthcare Supply Chain ที่ครบวงจรรายใหญ่สุดในประเทศไทย (ภาคเอกชน) ครอบคลุมตั้งแต่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยา, น้ำเกลือ – ธุรกิจโรงพยาบาล และสนับสนุนทางการแพทย์ เช่น บริการวิศวกรรมการแพทย์, ตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ (Lab) – ธุรกิจร้านขายยา

โมเดลที่ทำให้ BDMS สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจ Healthcare ได้เร็ว และครบวงจร คือ การซื้อกิจการ และเข้าถือหุ้น ซึ่งเป็นวิธี Short cut ทำให้ได้ทั้ง Asset และ Know How นำมาเชื่อมต่อและเสริมทัพธุรกิจหลัก “โรงพยาบาล” ได้ทันที

“BDMS ถือเป็น Healthcare Supply Chain ที่มี Ecosystem ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ 1. โรงงานผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา และน้ำเกลือ / 2. มีบริษัทในเครือดูแลด้าน Logistic – Distribution / 3. ธุรกิจโรงพยาบาลที่ยังขยายสาขาต่อเนื่อง / 4. ส่วนสนับสนุนทางการแพทย์ ภายใต้กลุ่มบริษัท “N Health” เช่น บริการวิศวกรรมการแพทย์, ตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ (Lab) และบริการผ้า-ปราศจากเชื้อภายในโรงพยาบาล / 5. ธุรกิจปลายน้ำ คือ ร้านขายยา Save Drug” คุณณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ฉายภาพ Business Ecosystem

N Health

ปัจจัยสำคัญ “BDMS” ชิงปักธงเป็นผู้นำบริการ “Healthcare Supply Chain”

ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นอาจผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่เหตุภัยธรรมชาติ แต่สำหรับธุรกิจ “Healthcare” ทั่วโลกนับวันมีแต่ Demand เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่ปัจจุบันมูลค่ารวมตลาดธุรกิจสุขภาพในไทยมากกว่า 300,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว มาจาก

1. แนวโน้ม “Aging Society” กระตุ้นให้อุตสาหกรรม Healthcare ทั่วโลกตื่นตัว และเติบโตอย่างไม่มีอะไรมาฉุดอยู่

2. การเพิ่มขึ้นของ “Middle Class” หรือ “กลุ่มชนชั้นกลาง” ปัจจุบันเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของโลก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่มีผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางมหาศาล ส่งผลบวกต่อธุรกิจสุขภาพในภูมิภาคนี้ เติบโตโดยเฉลี่ย 12.5% ต่อปี และ “ประเทศไทย” ติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความพร้อมในธุรกิจ Healthcare ซึ่งในกลุ่มประเทศ CLMV “ไทย” เป็นศูนย์กลางของธุรกิจนี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสธุรกิจที่จะส่งออกธุรกิจสุขภาพของไทย ขยายไปยัง CLMV รวมถึงการให้บริการลูกค้าในประเทศกลุ่มนี้ ที่เดินทางเข้ามาใช้บริการสุขภาพในไทย

Resize Aging Society

เจาะลึก 3 บริษัทผลิตและจำหน่ายยา – น้ำเกลือรายใหญ่ในไทย

นอกจากต้นทุนด้านบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจการแพทย์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญ คือ “ผลิตภัณฑ์ยา” ด้วยความที่ BDMS ที่มีโรงพยาบาลในเครือภายใต้แบรนด์ต่างๆ 45 แห่ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องบริหารจัดการต้นทุน ทั้งด้านบุคลากรการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ “BDMS” ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตยา และน้ำเกลือรายใหญ่ในไทย ประกอบด้วย

“สหแพทย์เภสัช” (The Medicpharma) ก่อตั้งเมื่อปี 2514 โดยทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพดุสิตเวชการ มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ 15 ไร่ รองรับความต้องการทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตจากสหแพทย์เภสัช ป้อนให้กับโรงพยาบาลในเครือ BDMS แต่เมื่อไม่นานนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ยาพาราเซตามอล “บาคามอล” (Bakamal) ขยายตลาดเจาะผู้บริโภคทั่วไป โดยกระจายเข้าร้านขายยา พร้อมทั้งสื่อสารการตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์พรีเซนเตอร์ “ญาญ่า” เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง

“เอ.เอ็น.บี. ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช)” หรือเดิมชื่อ “โรงงานอำนวยเภสัช” เปิดดำเนินการเมื่อปี 2498 ผลิตยาและเวชภัณฑ์ ทั้งชนิดปราศจากเชื้อ หนึ่งในสินค้าหลักที่อยู่คู่ครัวเรือนไทยหลายคน คือ “น้ำเกลือ Klean & Kare” (คลีน แอนด์ แคร์) ใช้สำหรับล้างโพรงจมูก ล้างทำความสะอาดแผลทั่วไป ชะล้างดวงตา ชะล้างคอนแทคเลนส์ เช็ดทำความสะอาดหัวสิว ต่อมา “บริษัท รอยัล บางกอกเฮ็ลธ์แคร์ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ BDMS ถือหุ้น 100% ได้เข้าซื้อกิจการ

“เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ (GHP)” หรือเดิมชื่อบริษัท แอบบอทท์ ฟาร์มา เป็นการร่วมทุนระหว่างองค์กรเภสัชกรรม และ บริษัท แอบบอทท์ แล็บบอราทอรี่ส์ ประกอบธุรกิจผลิตน้ำยาปราศจากเชื้อ สำหรับฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ (Intravenous Solutions) ได้แก่ น้ำเกลือ น้ำตาลกลูโคส และเวชภัณฑ์อื่นๆ ปัจจุบันถือหุ้นโดย “รอยัล บางกอกเฮ็ลธ์แคร์” 45.2% และ “สหแพทย์เภสัช” 0.3%

Resize BDMS Non-hospital

ลุยขยายเชนโรงพยาบาลทั่วอาเซียน – บุกธุรกิจ Lab และตรวจสุขภาพครบวงจร

ปัจจุบัน “BDMS” เป็นเชนโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยแบ่งเป็น 5 แบรนด์ รวม 45 แห่ง ได้แก่
กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ : 21 แห่ง รวม 3,236 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท : 5 แห่ง รวม 1,340 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช : 5 แห่ง รวม 1,195 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล : 5 แห่ง รวม 960 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลบีเอ็นเอช : 1 แห่ง รวม 144 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลชุมชน : 6 แห่ง รวม 926 เตียง
กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล : 2 แห่ง รวม 130 เตียง

Resize BDMS Portfolio Chain Hosptal

นอกจากนี้ภายใต้กลุ่ม BDMS ยังมีกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล คือ “บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด” (National Healthcare Systems : N Health) ให้บริการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ และธุรกิจโรงพยาบาลใน 3 ด้าน คือ บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ – บริการวิศวกรรมทางกาแพทย์ – บริการผ้าและปราศจากเชื้อภายในโรงพยาบาล สัดส่วนลูกค้า B2B กลุ่มโรงพยาบาล 95% และลูกค้า B2C ผู้บริโภคทั่วไป 5%

เหตุผลสำคัญที่ BDMS ตัดสินใจตั้ง “N Health” เมื่อปี 2544 เพราะด้วยความที่มีกลุ่มโรงพยาบาลในเครือจำนวนมาก และมีแนวโน้มขยายต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบหลังบ้าน – เทคโนโลยี – เครื่องมือ และทีมวิศวกรทางการแพทย์ให้เป็น “มาตรฐาน” เดียวกัน (Standardization) ให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันให้บริการทั้งโรงพยาบาลในเครือ BDMS และนอกเครือ ดูแลเครื่องมือทางการแพทย์กว่า 40,000 เครื่องมือ

ประกอบกับรูปแบบการบริหารของกลุ่ม BDMS ใช้วิธี “รวมศูนย์” (Centralize) การจัดซื้อ-การบริหารห้องยาแต่ละโรงพยาบาลในเครือ ดังนั้น มีหน้าที่เข้าไปดูแลในส่วนนี้ เพื่อจัดเก็บยาให้ถูกต้อง พร้อมทั้งควบคุมสต็อคให้อยู่ในปริมาณที่พอดี ไม่ขาด และไม่ล้นสต็อค ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ

Resize BDMS Non-hospital_02

Resize BDMS N Health_02

“เครือ BDMS มีนโยบายเป็น Center of Excellence โดยจะยกระดับ 10 โรงพยาบาลในเครือ ให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพชั้นเลิศสำหรับการรักษาโรคด้านต่างๆ ซึ่งการเป็น Excellence Center จำเป็นต้องมี Lab ดังนั้นในส่วนนี้ N Health จะเข้าไปดูแลเพื่อสนับสนุนนโยบายในเครือ

ปัจจุบัน N Health มีศูนย์ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ (Lab) 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ขณะที่ในอนาคตเตรียมขยายศูนย์ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ที่ระยอง เพื่อรองรับ EEC คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562 จากนั้นจะเปิดที่เชียงใหม่ในปี 2563

พร้อมทั้งขยายบริการไปยังลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค (B2C) มากขึ้น ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีบริการตรวจสุขภาพ ที่สามารถไปตรวจถึงที่บ้าน และมีสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้งนำเข้าสินค้านวัตกรรมอุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้หลังจากเปิดสาขาบริการด้าน Lab และวิศวกรรมทางการแพทย์ในประเทศกัมพูชา และเมียนมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบการลงทุน เพื่อขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์” คุณณรงค์ฤทธิ์ เล่าแผนธุรกิจ N Health

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ “N Health” ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ 4,200 ล้านบาท เติบโต 17% จากปี 2560 ทำได้ 3,632 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาลรวมที่มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท

Resize N Health 7

Resize BDMS N Health

เร่งขยาย “ร้านยา Save Drug” รุกประชิดผู้บริโภคถึงชุมชน – สร้าง Big Data พฤติกรรมดูแลสุขภาพคนไทย

ขณะที่ส่วน “ธุรกิจปลายน้ำ” สำหรับกลุ่ม BDMS คือ “ธุรกิจร้านขายยา” ภายใต้แบรนด์ “Save Drug” (เซฟดรัก) ที่ซื้อกิจการมาจากเจ้าของเดิม เหตุผลสำคัญที่ “BDMS” ขยายอาณาจักรครอบคลุมถึง “ร้านขายยา” เพราะเป็น Network สำคัญที่เชื่อมต่อ และเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงและลงลึกระดับชุมชน

ที่สำคัญการลงธุรกิจรีเทล ประเภท Drug Store จะเป็นจุดที่ทำให้ “BDMS” ได้ “Big Data” ข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภคต่อการซื้อผลิตภัณฑ์ยา – สินค้าสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ เช่น การพัฒนาระบบสมาชิกผ่าน Mobile Application ที่จะเริ่มใช้งานเฟสแรกเดือนตุลาคมปีนี้ จะทำให้ลูกค้าสะสมคะแนน สามารถดูโปรโมชั่นลดราคา จากนั้นในเฟส 2 จะพัฒนาระบบที่ลูกค้าสามารถดูประวัติการซื้อยาของแต่ละบุคคล ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ หรือเติมยาชนิดเดิมได้ด้วยฐานข้อมูลเดียวกันทุกสาขา

เพื่อในที่สุดแล้ว Big Data ที่ได้มาจะนำไปวิเคราะห์ และย้อนกลับไปที่ “ต้นน้ำ” นั่นคือ การผลิตยาให้สอดคล้องกับ Demand ของตลาด เพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจร้านขายยา

ขณะเดียวกัน “Save Drug” จะเป็น Marketing Arm และ Sale Network สำหรับนำเสนอแพ็คเกจการตรวจรักษาโรค และการดูแลสุขภาพกับโรงพยาบาลในเครือ BDMS

Resize BDMS N Health_03

ทั้งนี้เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ “BDMS” เคยมีนโยบายทำ “คลินิกชุมชน” เพราะมองว่าด้วยขนาดสาขาไม่ต้องใช้พื้นที่ใหญ่เหมือนกับโรงพยาบาลที่ จึงขยายได้เร็ว และสามารถเจาะลึกเข้าถึงชุมชน แต่ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวได้ล้มเลิกไปแล้ว และใช้ “เครือข่ายร้านขายยา Save Drug” มาเป็นจุดเชื่อมต่อกับผู้บริโภค

หลังจากซื้อกิจการเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคา “BDMS” ได้ปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าให้ดูทันสมัย มีสินค้าและบริการครอบคลุมตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่า 4,000 รายการต่อสาขา เช่น ผลิตภัณฑ์ยา สินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์-เครื่องมือสำหรับตรวจได้เองที่บ้าน สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์

“เราต้องการผลักดันให้ร้าน Save Drug เป็นมากกว่าร้านขายยา แต่เป็น Healthcare Station ที่คนเข้ามาใช้บริการแล้ว ได้มากกว่าการซื้อยาไปรับประทานที่บ้าน เช่น มีบริการให้คำปรึกษาการตรวจสุขภาพ หรือแพ็คเกจตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลในเครือ BDMS หรือเปิดสาขา N Health รับตรวจวิเคราะห์เลือด หรือตรวจยีน อยู่ติดกับร้าน Save Drug เพื่อตรวจเลือดแล้ว ไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ทันทีที่ร้าน Save Drug”

Resize BDMS N Health_04

ปัจจุบัน “Save Drug” มี 150 สาขา เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ 975 ล้านบาท ขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 400 – 500 บาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1,100 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 เตรียมเปิดเพิ่มเป็น 200 สาขา และปีถัดๆ ไปวางแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มให้ได้ 20% ทุกปี ขยายสาขาทั้งใน Modern Trade กับ Stand Alone แต่โดยหลักจะเข้าไปใน Modern Trade เนื่องจากมีคนหมุนเวียนหน้าร้านมากกว่า

“ตลาด Drug Store มีทั้งเชนต่างประเทศ และเชนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละเชนมีตำแหน่งทางการตลาดชัดเจน ถ้าเป็นเชนต่างประเทศ เน้นสินค้า Health & Beauty ขณะที่เชนท้องถิ่น เด่นชัดในเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ยา อย่างเชนร้าน Save Drug จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาครบวงจร และมีแผนขยายกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยา เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ และกลุ่มอุปกรณ์-เครื่องมือตรวจได้เองที่บ้าน และให้คำแนะนำแพ็คเกจสุขภาพทำให้เราแตกต่างจากเชน Drug Store รายอื่น” คุณณรงค์ฤทธิ์ สรุปทิ้งท้ายถึงจุดแข็งร้าน Save Drug

ทั้ง 3 จิ๊กซอว์ใหญ่ “โรงงานผลิตยา – ธุรกิจโรงพยาบาล – เครือข่ายร้านขายยา” เมื่อต่อภาพรวมกันแล้ว จะทำให้ “BDMS” ไม่ได้เป็นแค่เชนโรงพยาบาล ที่มีสาขาทั้งในประเทศ และอาเซียนเท่านั้น แต่ยกระดับเป็น “Healthcare Supply Chain” ที่ครบวงจร ซึ่งจะสร้างมูลค่าธุรกิจอาณาจักร BDMS เพิ่มขึ้นได้อีกมหาศาล !!!

Resize BDMS Save Drug_03
Photo Credit : Facebook SAVE DRUG

  • 625
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ