ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่องว่างระหว่างโลกของการช้อปปิ้งและการจับจ่ายใช้สอย ถูกทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ข้อจำกัดเดิมๆ ถูกทลายไป ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วโลกเพียงปลายนิ้ว
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ไม่ต้องเสี่ยงพกเงินสดมากมายเหมือนในอดีตก็สามารถครอบครองสินค้าที่ต้องการได้
ธุรกรรมด้านการชำระเงิน ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคดิจิทัล
จนปัจจุบันการจับจ่ายซื้อสินค้า สามารถทำได้รวดเร็วโดยปราศจากการใช้เงินสด
สิ่งที่ธุรกิจได้รับ ไม่เพียงแต่ความรวดเร็วและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
เหนือสิ่งอื่นใดคือข้อมูลผู้บริโภค ภาคธุรกิจเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีขึ้น
ปรากฏการณ์สำคัญ 2 ยักษ์ Bank & Retail
การรวมพลังศักยภาพของ 2 ผู้นำค้าปลีก และ 2 ผู้นำสถาบันการเงิน
กลายเป็นการจับคู่ทำการตลาดแบบ Segmented ที่ล้วงลึกความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ ในโลกธุรกิจค้าปลีกของทั้ง 2 ค่าย
โดยนำพื้นฐานพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่คุ้นชินกับการใช้โมบายแอพ ใช้ชีวิตอยู่กับออนไลน์ ช้อปปิ้งผ่านมือถือ ทำธุรกรรมการเงินผ่านบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทำอะไรผ่านเน็ต สั่งน้ำแข็ง ซื้อตั๋วหนัง จองโรงแรม ซื้อตั๋วเครื่องบิน หาช่างซ่อมบ้าน ซ่อมประปา ไฟฟ้า หาเมดดูแลบ้าน หาคลาสเรียนดนตรี ซื้อของใช้ในบ้านจากซุปเปอร์มาเก็ต ฯลฯ
กลายเป็นไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ จับจ่ายแบบไม่ต้องใช้เงินสด
“กสิกรไทยและสยามพิวรรธน์ ผนึกกำลังเปิดตัว บัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย ยกระดับมาตรฐานใหม่ แห่งวงการบัตรเครดิตครั้งแรกของประเทศ มอบสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าสูงสุดเหนือใคร”
เป็น Message จากกลุ่มวันสยาม (OneSiam)
“เดอะมอลล์กรุ๊ปและธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดตัวบัตรใหม่ภายใต้ชื่อ SCB M สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ พลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกแห่งสหัสวรรษที่สุดของประสบการณ์ดิจิทัลแบงก์กิ้ง และไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ (seamless experience) ภายใต้แนวคิด The First Evolution of Experiential Shopping. Call it eMperience ที่จะพลิกประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นประสบการณ์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งสมัยใหม่ ตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างครบวงจร”
คือ Message จากเดอะมอลล์ กรุ๊ป
การขยับตัวของแบงก์ สะท้อนว่าธุรกิจปัจจุบัน ไม่สามารถเติบโต พัฒนาหรือขยายธุรกิจของตัวเองด้วยลำพังได้ ต้องมีพันธมิตรในธุรกิจอื่น และค้าปลีกจะเป็นธุรกิจที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกันกับธนาคาร
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกเอง ก็มีความต้องการเรื่องระบบชำระเงินรองรับบริการ และก็เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้ว (ซึ่งว่าไปแล้วแบงก์เองก็ need ทุกกลุ่มธุรกิจอยู่แล้ว)
ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าร่วมกับกลุ่มค้าปลีก ก็ถือเป็นการพัฒนาตัวธนาคารเอง ที่จะดีไซน์บริการใหม่ๆ ออกมา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน รวมทั้งเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ศึกสัประยุทธ์ Co-Branded Card
การเลือกประกาศเปิดตัวความร่วมมือระหว่างแบงก์กับค้าปลีก 2 คู่ ห่างกันคนละสัปดาห์
ใช้ห้องจัดงาน ฉัตราบอลรูม ชั้น 2 เหมือนกัน ของโรงแรมสยามเคมเปนสกี้ แห่งเดียวกัน
ฝั่งเดอะมอลล์กรุ๊ปและ SCB จัดงานประกาศความร่วมมือ หลังจากการเปิดตัวของบัตรเครดิตวันสยาม กสิกรไทย 1 สัปดาห์ และในวันจัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ด้านหน้าห้างสยามพารากอน ติดโฆษณาขนาดใหญ่ “SCB M โลกใหม่… ติ๊ดได้ ไร้บัตร” มองเห็นชัดเมื่อยืนรอ BTS บนสถานีสยาม
อธิบายศึกของ 2 ค่ายค้าปลีก และ 2 ธนาคารชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เข้มข้น
กสิกรไทย-สยามพิวรรธน์ ชิงประกาศความร่วมมือก่อน โดยบอกว่าเป็น 2 ผู้นำแห่งธุรกิจการเงินการธนาคาร และค้าปลีก ยกระดับมาตรฐานใหม่แห่งวงการบัตรเครดิตครั้งแรกของประเทศ
เปิดตัว “บัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย” (OneSiam KBank Credit Card) ยกระดับทุกประสบการณ์การใช้ชีวิตระดับ World Class สร้างความประทับใจให้ลูกค้าทุกมิติครบวงจร ด้วยคอนเซปต์ “Make Everyday Extraordinary”
มอบอภิสิทธิ์สูงสุดในการจับจ่าย และการใช้บริการภายใน “วันสยาม” (OneSiam) จุดหมายการเดินทางระดับโลก (Global Destination) รวมศักยภาพ 3 ศูนย์การค้าระดับโลก ทั้งสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่
ตั้งเป้าหมาย 1 ปี จะมียอดบัตร 100,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายรวมกว่า 5,700 ล้านบาท
ส่วนไทยพาณิชย์-เดอะมอลล์กรุ๊ป ประกาศการร่วมเป็นพันธมิตรตามมาติดๆ ว่า เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการค้าปลีก ที่ผสานดิจิทัลแบงก์กิ้ง กับไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งเข้าด้วยกัน
ภายใต้คอนเซ็ปต์ “eMperience” ที่สุดของการพลิกประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ สร้างวิวัฒนาการทางการเงินเป็นครั้งแรก ตอบโจทย์ความต้องการนักช้อป ผ่าน 4 แกนหลัก คือ
1. บัตร Co-Branded “SCB M” เป็นทั้งบัตรเครดิต เดบิต พรีเพด และกิ๊ฟท์การ์ด
2. Payment Services ประสบการณ์การชำระเงินจากบัตร SCB M ในรูปแบบ Virtual Credit Card โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY บนมือถือ
3. Banking Agent Services บริการทางการเงินแบบครบวงจรถึงในห้างสำหรับขาช้อป เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าสามารถชำระบิลค่าสาธารณูปโภคได้ที่แคชเชียร์ในห้าง
4. เทคโนโลยีช่วยการช้อปปิ้ง เช่น I-RESERVED PARKING บริการจองที่จอดรถล่วงหน้า ถือเป็นการร่วมสร้างดิจิทัล ช้อปปิ้ง แพลตฟอร์ม และตั้งเป้ายอดสมัครบัตรเครดิตและเดบิต SCB M ที่ 500,000 ใบ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายผ่านบัตร 20,000 ล้านบาทในปีแรก และตั้งเป้านำทั้งเอสซีบี-เดอะมอลล์กรุ๊ป เป็นองค์กร The Most Admired Company
สยามภิวรรธน์ สาวใจแข็ง ยิ้มยาก ช่างเลือก
การรวมตัวเป็นวันสยาม (OneSiam) ของ 3 สยามทั้งสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อปักหมุดเป็นโกลบอล เดสติเนชั่น มอบประสบการณ์ในแบบ Extraordinary มอบความสุขให้แก่ลูกค้าทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาภายในวันสยาม
ให้เกิดความตื่นตาตื่นใจได้รับแรงบันดาลใจและได้ค้นพบและพัฒนาตนเอง
คุณมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า จำนวนลูกค้าที่จับจ่ายในวันสยามปัจจุบัน แบ่งเป็นสยามพารากอน 200,000 – 250,000 คนต่อวัน, สยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ วันละประมาณ 80,000 – 100,000 คนต่อวัน
เป็นที่ยอมรับว่า วันสยาม เป็นโกลบอลเดสติเนชั่นครองใจนักช้อป ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีคนถ่ายภาพแล้วแชร์บนอินสตาแกรมมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1 ในปี 2556 ติดอันดับสถานที่เช็คอินยอดนิยมในโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด การเปิดครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ และแผนการตลาดของสยามพิวรรธน์ในปีนี้
เพื่อตอกย้ำว่าสยามภิวรรธน์ เป็นสัญลักษณ์ของการนำเสนอความแปลกใหม่ให้ชีวิต แสดงถึงศักยภาพไร้ขีดจำกัดของวันสยาม ลูกค้าของทั้งกสิกรไทยและลูกค้าวันสยาม คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นชัยชนะของผู้บริโภค ที่ตัดสินใจเลือกใช้บัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย
“มีการรอคอยมานานที่จะออก Co-Branded Card กับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เราได้รับเชิญจากหลายธนาคาร ความที่เป็นหญิงยิ้มยาก ค่อนข้างจะใจแข็งนิดนึง เราต้องใช้เวลาในการไตรตรอง สิ่งสำคัญที่สุด คือเราต้องหาพาร์ทเนอร์ ที่เหมือนจะแต่งงานกับใครสักคน คนนั้นต้องไปกับเราได้ และไม่ใช่ไปแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เราไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง และต้องนำสิ่งที่ดีกลับมาให้ทั้ง 2 พาร์ทเนอร์ด้วย”
“การจับมือครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ เรามีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใกล้เคียงกันมากที่สุด เรามีลูกค้าพรีเมียมระดับบนของ 2 บัตร เรามีสิ่งที่จะนำเสนอไปให้ลูกค้าในทิศทางเดียวกัน และตอบสนองโจทย์ลูกค้าได้ตรงกัน”
“ก็มีหลายธนาคารที่พยายามติดต่อเข้ามา เพื่อที่จะทำบัตร Co-Branded ในครั้งนี้ แต่เราไม่ได้มีแค่ KBANK ที่เป็นพาร์ทเนอร์ การที่สยามพิวรรธน์จะทำอะไร การทำบัตรก็ต้องคำนึงถึงพาร์ทเนอร์ชิพที่สำคัญ คือ คู่ค้า ร้านค้า ผู้เช่ารายใหญ่ รายย่อย หรือผู้เช่าในห้างที่เป็นแบรนด์เล็กๆ เราคำนึงถึงตรงนี้ที่สุด คำนึงถึงพันธมิตรเป็นสำคัญ คำนึงถึงความต้องการลูกค้าเป็นใหญ่ หรือสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง เราทำงานอย่างมีแบคอัพ มีงานวิจัยค้นคว้าหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการ”
“ถ้าจะเลือก Card กับใคร ต้อง KBANK เท่านั้น โจทย์ก็คือ ทำยังไงให้เป็นบัตรเบอร์ 1 สำคัญสำหรับลูกค้าตลอดไป ภายใต้สิทธิประโยน์สูงสุดที่ลูกค้าจะได้รับ การเปิดตัวครั้งนี้จะตอกย้ำความเป็นโกลบอลเดสติเนชั่นได้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”คุณวัชรีกล่าว
สยามเซ็นเตอร์ ถือเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทย มีอายุกว่า 40 ปี สยามพารากอน ติดท็อปเท็นเฟชบุ๊ค ไอจี แรกๆ ของโลก ส่วนไอคอนสยาม ก็คือสิ่งที่ทุกคนรอคอย ทำไมต้องมีวันสยาม ก็เพื่อตอกย้ำความชัดเจน ให้บริการตอบสนองผู้บริโภคให้ครบครันในที่เดียว ทุกรูปแบบ ทุกประเภท ทุกกลุ่มสินค้า
“เรามีเกือบ 800 ร้านค้า และหลายหมื่นแบรนด์ใน 3 สาขา รวมทั้งมีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คิดส์ซาเนีย มาดามทุสโซ โอเชี่ยนเวิลด์ หรือสวนน้ำที่ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ ในศูนย์การค้า ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การเป็นผู้นำที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้บริโภค สร้างแรงบันดาลใจให้กับพาร์ทเนอร์ เป็นความคิดกบข ที่สร้างความแตกต่าง ไม่ใช่แค่การจับจ่ายอย่างเดียว แต่มีบริการเหนือทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้า ผู้เช่าพื้นที่ ทุกแบรนด์ได้ประจักษ์”
“ตอกย้ำว่า วันสยาม มีอาวุธใหม่ๆ ที่จะครองใจลูกค้าให้ใช้บริการเพิ่มขึ้น และสามารถส่งต่ออาวุธให้ลูกค้าใช้ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด กลับมาเป็นลูกค้าประจำ บางคนอาจจะมีบัตรอยู่แล้ว 2-3 ใบ หรือมีมากเป็น 8-10 ใบ แต่จะเลือกบัตรไหนที่มีสิทธิประโยชน์ เหมาะสมกับตัวเราที่สุด จุดนี้เราคำนึงถึง สิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ”
“เราทำ Segmented อย่างชัดเจน ขณะที่ KBANK ก็มีการทำ Data Analysys มีทีมซัพพอร์ทที่ไม่ให้เราหลงทาง รวมทั้งมีพาร์ทเนอร์ที่ดีมากๆ ระดับโลกที่ยินดีเข้าร่วม ที่เห็นความสำคัญและได้ประโยชน์ KBANK มียอดใช้จ่ายในบัตรสูงสุดอยู่แล้ว เพราะฉนั้นเราจึงมากับพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็ง วันสยามจึงเป็นที่เดียวที่เป็น Number one Lifestyle เรามีโจทย์ คือต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้า”
“เราทั้งคู่เป็นพาร์ทเนอร์ชิพ 2 ยักษ์ใหญ่ ที่ถูกจับตามองมาอย่างยาวนาน เป็นการจับคู่ที่ทุกคนรอคอย และรักครั้งนี้ ต้องเป็นรักนิรันดร์ เราจึงต้องสร้าง ต้องหวานกันตลอดเวลา เพราะเราจะเป็นแกนนำที่จะมีอีก 1,000 พาร์ทเนอร์ที่ร่วมไปกับเรา เรามีกองทัพอยู่ข้างหลัง ที่จะทำให้บัตรมีพลังซุปเปอร์สุดซุปเปอร์”
“ทุกวันนี้เรามี Luxury Brand เพิ่มมากขึ้น สยามเซ็นเตอร์ อยู่มา 40 ปี จะเห็นได้ว่า มีตัวจี้ดตลอดเวลา เราเคย Co-Branded ครั้งแรกมานานมาก ไม่ต่ำกว่า 15 ปี ตั้งแต่ EGV ออกCo-Branded ซึ่งบัตรนี้ยังสามารถนำไปใช้ที่ไอคอนสยามได้ด้วย” คุณวัชรีกล่าว
เดอะมอลล์ สาวเนื้อหอม-คนจีบเยอะ
คุณศุภลักษณ์ อัมพุชประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นยุทธศาสตร์พลิกโฉมธุรกิจค้าปลีก ร่วมกับสถาบันการเงิน ด้วยการ Co-Created ผลิตภัณฑ์และบริการพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อผลักดันประเทศไทย สู่เศรษฐกิจดิจิทัลไร้เงินสดเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำทั่วโลก
การให้บริการนี้จะครอบคลุมบริการของเดอะมอลล์ทุกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน ทั้งนี้ 1 ในกลยุทธ์หลักคือ ปรับตัวเองจากซื้อมา ขายไป (Materialistic Place of Consumption) ให้เป็นสถานที่สร้างความสัมพันธ์พร้อมมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำ ให้ความสุขกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง (The Experiential Place of Relationshipand Entertainment)
การช้อปปิ้งทุกวันนี้ ไม่ใช่เพียงการจ่ายเงินและได้สินค้ากลับไป แต่เป็นโอกาสที่จะได้เข้าใจความต้องการ และมอบประสบการณ์พิเศษให้ลูกค้าต่อไป (Deeper Customer Engagement)
ข้อมูล Big Data จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากภายในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า (Customer Journey) ช่วยให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
ปัจจุบันเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีลูกค้าหมุนเวียนทุกสาขารวม 400 ล้านคนต่อปี 70% ของยอดขายในห้าง มาจาก M card ที่มีสมาชิก 4 ล้านคนลูกค้ากว่า 55 % ชำระผ่าน Electronic Payment ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต QR เป็นต้นความร่วมมือ SCB M ครั้งนี้ ถือเป็นการตอบสนองทุก Journey ของการช้อปปิ้ง
“อยากขอพูดเบื้องหลังการถ่ายทำความจริงแล้วเรามี Co-Branded มา 10 กว่าปี พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี ที่เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน สร้างเป็น New Era ขึ้นมาใหญ่ เราเป็นสาวเนื้อหอมคนจีบเยอะ แต่เราจะเสี่ยงพวงมาลัยให้ใครดี เราก็หลายใจเพราะเราต้องเป็นผู้ที่ทำให้คอนซูเมอร์มีทางเลือก เราจึงต้องเลือกว่าใครจะเหมาะสม ถ้าเสี่ยงน่าจะสี่ยงทั้งหมด แต่ยาก เรามีทีมงานรวมเป็นร้อยชีวิต เรื่องใหญ่คือเรื่องทีมงาน เพราะจะได้ประสบการณ์ ได้วิชั่น เราต้องดูว่า Culture ไปด้วยกันได้ไหม ลูกบ้าต้องไปด้วยกันได้”
“คำที่ซื้อใจ ทำให้เลือก คือ เราจะไปกันสุดซอย – จิ๊กโก๋มากเอาไงเอากัน ไม่ได้พูดถึงเงิน แต่ใจไปด้วยกันสุดซอย จะตัน จะลึก เราก็ไปกันจนสุด เราเลือก SCB เพราะมุ่งมั่นตลอดมาด้วยกัน พัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดยั้ง มีเทคโนโลยีที่แตกต่าง ผลักดันเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลถือว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่ให้ความอุ่นใจ ตั้งใจร่วมมือกันสุดซอยแบบนี้ เป็นเกียรติมาก ที่ได้เป็นพาร์ทเนอร์กัน” คุณศุภลักษณ์กล่าว
“ทีมงานของ SCB มี 300 คน ส่วนเดอะมอลล์มีร่วม 100 คน รวมตัวกันเป็นทีมมหากาฬ อนาคตเมืองไทยจะมีค้าปลีกที่ล้ำหน้าไม่ต้องใช้บัตร มาแค่ติ๊ดๆ ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการช้อปปิ้ง”
“มีนวตกรรมจองที่จอดรถ คือรู้ที่จอดตั้งแต่อยู่ที่บ้าน จากจองโต๊ะร้านอาหาร มาสู่การจองที่จอดรถในห้าง”
บทบาทของ Fin Tech ในโลกดิจิทัล
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ให้มุมมองว่า ช้อปปิ้งสมัยใหม่เปลี่ยนบริบททุกอย่าง จากถือกระเป๋าเปลี่ยนมาเป็นถือบัตรติ๊ก-วิธีใหม่ สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งวิถีช้อปปิ้ง
การปฏิวัติประสบการณ์การช้อปปิ้ง SCB M จะมาสานต่ออีกครั้ง จากเมื่อล่าสุดปลายปีที่แล้ว เรายกกูร์เม่ต์ มาร์เก็ต มาใช้ QP Payment แต่ยังไม่พอ เพราะ SBB+M ยังจะเป็นพันธิมตรกันอีกในหลายๆ ด้าน
Financial Technology กระทบไปหมด เรื่องของการเงิน ซื้อของ เดินทาง Fin Tech ถูกใช้เข้ามาร่วมทำงานด้วยใน SCB และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นการนำเอาจุดแข็งของ 2 องค์กร มาสร้างประสบการณ์ใหม่ เรื่องดิจิทัล แบงก์กิ้ง กับเรื่องออนไลน์เป็นเนื้อเดียวกัน สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่
เรื่องการซื้อของ สร้างการสื่อสารออนไลน์ ผ่านไลน์แชท ทุกอย่างเร็วขึ้น สั้นขึ้น ง่ายขึ้น เราสนองความต้องการลูกค้าตรงนี้ เช่น ที่จอดรถออนไลน์ล่วงหน้า ปรากฏการณ์นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ 2 องค์กร ธนาคารต้องการใช้เทคโนโลยีพัฒนาให้ธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่ง ลูกค้าติดใจ Customer Engagement ทำอย่างไรให้ลูกค้าจดจำ ถือเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะสร้างความผูกพัน ด้วยความสะดวกสบาย ซื้อของ ชำระเงิน จอดรถ เราให้ไม่เหมือนที่อื่น
“ตลาดตรงนี้ยังกว้างใหญ่ ทำยังไงให้นึกถึงเดอะมอลล์ แล้วอยากกลับมาอีก ถ้าทำสำเร็จจะเป็นองค์กรที่น่าชื่นชม เป็น The Most Admired Shopping Experience ซึ่งเป็นวิชั่นเดียวกันกับ SCB”ดร.วิชิตกล่าว
คุณวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า แนวทางของธุรกิจบัตรเครดิตกสิกรไทย เน้นการพัฒนาให้เป็น “ไลฟ์สไตล์ เครดิต การ์ด” (Lifestyle Credit Card) สร้างประสบการณ์และความประทับใจ ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
มีกิจกรรมการตลาดที่แปลกใหม่ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรระดับผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ต่างๆ เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจและเลือกใช้บัตรเครดิตกสิกรไทยเป็นบัตรเดียวในการใช้จ่ายทุกๆ วัน
ปัจจุบันฐานผู้ใช้บัตรเครดิตกสิกรไทยมีจำนวน 2.6 ล้านบัตร คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในครึ่งปีแรกรวม 175,000 ล้านบาท โดยลูกค้ามียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 21,000 บาทต่อเดือนต่อบัตร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง
คาดการณ์การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในกลุ่มสินค้าหรือบริการไลฟ์สไตล์ มีแนวโน้มฟื้นตัวตามบรรยากาศการใช้จ่าย และภาพรวมของเศรษฐกิจ
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการผสานศักยภาพความเป็นผู้นำธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยธนาคารกสิกรไทย คือ หนึ่งในผู้นำธุรกิจบัตรเครดิต ขณะที่สยามพิวรรธน์ เป็นผู้นำแห่งธุรกิจรีเทล ผู้พัฒนาวันสยามจนขึ้นแท่นเป็น Global Destination