ธนาคารแห่งประเทศไทย กำชับให้สถาบันการเงินยกระดับมาตราการป้องกันภัยไซเบอร์ หลังได้รับรายงานจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทย พบข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินของลูกค้าบางส่วนหลุดไปยังภายนอก โดยยังไม่พบความเสียหายทางการเงิน ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยรับข้อมูลลูกค้าหลุดกว่า 3,000 ราย พร้อมยืนยันรับผิดชอบเต็มที่
รณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า มีข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินของลูกค้าบางส่วนหลุดไปยังภายนอก โดยกรณีของธนาคารกสิกรไทย เป็นข้อมูลลูกค้านิติบุคคลที่เป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งหาได้ทั่วไป ส่วนของธนาคารกรุงไทย ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลคำขอสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยและนิติบุคคลบางส่วน
หลังจากธนาคารทั้งสองแห่งตรวจพบปัญหาก็ได้เร่งตรวจสอบทันที ซึ่งพบว่ายังไม่มีลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย และข้อมูลที่หลุดออกไปไม่ใช่ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน โดยธนาคารทั้งสองแห่งได้ดำเนินการปิดช่องโหว่ของระบบดังกล่าว และได้ตรวจสอบระบบงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประเมินทุกระบบงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการป้องกันครอบคลุมระบบงานและฐานข้อมูลทั้งหมด
ธปท. ได้สั่งการและกำชับให้ธนาคารทั้งสองแห่งยกระดับมาตรการป้องกันภัยทางไซเบอร์อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และดูแลไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งสื่อสารให้ลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้รับทราบ ทั้งนี้ ธปท. ได้กำชับให้ธนาคารทั้งสองแห่งเตรียมมาตรการเยียวยาลูกค้า หากเกิดความเสียหาย รวมทั้งได้แจ้งสถาบันการเงินทุกแห่งปิดช่องโหว่ดังกล่าวและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย
เหตุการณ์ข้างต้นถือเป็นภัยทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรและสถาบันการเงินทั่วโลก ธปท. ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับดูแลในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้สถาบันการเงินยกระดับการรับมือภัยไซเบอร์ ทั้งด้านการเพิ่มมาตรการป้องกันภัยให้รัดกุมเท่าทันกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นด้วยการใช้เครื่องมือช่วยตรวจจับรายการผิดปกติ โดยหากเกิดเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ขึ้น สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าไม่ให้เสียหาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการกับสถาบันการเงิน
กสิกรไทยเปิดมาตราการเยียวยา
ธนาคารกสิกรไทยออกมายอมรับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา มีการเจาะระบบ (Hack) ในเว็บไซต์หนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee – L/G) โดยแฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ขอเข้าใช้บริการ ส่งผลให้ข้อมูลรายชื่อของลูกค้าองค์กรอาจหลุดออกไปภายนอก โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลสาธารณะอย่างเช่น ชื่อองค์กรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ โดยมีจำนานลูกค้าที่ถูกโจรกรรมข้อมูลกว่า 3,000 ราย
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังธนาคารทราบเรื่องได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ทันทีเพื่อหาช่องโหว่และดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมด้วยเพิ่มระดับการเฝ้าระวังและป้องกันให้มากขึ้น ก่อนจะทำการเปิดระบบเพื่อให้บริการตามปกติ เพื่อเช็คว่า ข้อมูลที่หลุดออกไปภายนอกดังกล่าว จะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกรรมได้ และจากการตรวจสอบยังไม่พบว่า เกิดความเสียหายต่อลูกค้ารายใด
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้เตรียมมาตรการแจ้งให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทราบเป็นรายองค์กร หากลูกค้ารายใดตรวจพบความปกติของธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ธนาคารพร้อมรับผิดชอบและให้ความช่วยเหลือ รวมถึงลูกค้ารายใดที่สงสัยว่า ตนเองจะเป็น 1 ใน 3,000 ราย สามารถติดต่อสอบถามมายัง K-Biz Contact Center 02-888-8822 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ธนาคารกสิกรไทยยังเตรียมลงทุนเพิ่มเติมในด้าน Cybersecurity เพื่อพัฒนาระบบให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมไปถึงความร่วมมือกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Cybersecurity โดยธนาคารกสิกรไทยมองว่า การแฮคเข้าสู่ระบบเพื่อเจาะข้อมูลดังกล่าว แม้จะยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ปริมาณของการเจาะข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
สมาคมธนาคารไทยพร้อมประสานยกระดับความปลอดภัย
ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าและระบบสารสนเทศของธนาคารมาตลอด โดยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา สมาคมได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศภาคการธนาคารหรือ TB CERT (Thailand Banking Sector Computer Emergency Response Team) ซึ่งเป็นความร่วมมือของธนาคารสมาชิกในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างธนาคารสมาชิก
ทั้งนี้ ตามที่มีข่าวว่า มีข้อมูลของลูกค้าของบางธนาคารรั่วไหลออกไปภายนอก สมาคมธนาคารไทยได้ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และมีการประสานงานกับธนาคารสมาชิก เบื้องต้น ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเหตุการณ์นี้ในระหว่างธนาคารสมาชิก และให้ธนาคารต่าง ๆ ทำการตรวจสอบและปรับปรุงระบบเพื่อป้องกันปัญหา และจะร่วมมือกับธนาคารสมาชิกในการยกระดับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ หรือที่เรียกว่าการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบของธนาคารต่าง ๆ มีความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งจะมีการให้ความรู้แก่ลูกค้าและประชาชน ในการดูแลรักษาข้อมูลและการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล หรือ Digital Literacy ด้วย