ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนคอยวันสัมฤทธิ์ผล แม้จะเป็นคำคุ้นเคยที่ได้ยินกันมาพักใหญ่ สำหรับ National Digital ID ท่ามกลางความรู้สึกเชื่อมั่นและความรู้สึกหวั่นใจที่ผสมๆ กันเช่นนี้ แต่หนึ่งในยักษ์ธนาคารพาณิชย์อย่าง SCB ได้ออกมาขยับตัวเพื่อรับลูกแนวทางดังกล่าว ด้วยความหวังที่ว่า National Digital ID ซึ่งช่วยเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลโดยง่ายนั้น จะสร้างประโยชน์ได้ตามโรดแมปที่รัฐบาลตั้งไว้ ทั้งลดปัญหาการสวมสิทธิ์, ความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจ, การปลอมแปลงเอกสาร
7 เรื่องเด่น SCB EASY กับสัดส่วนธุรกรรมออนไลน์ 90% กลืนสาขา-ATM
คุณธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าถึงภาพความสำเร็จของแอป SCB EASY ว่า หลังจากมีการปรับโฉมแพลทฟอร์มใหม่ SCB EASY ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 พบว่าจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 7 ฟีเจอร์หลักที่ตอบสนองการใช้งานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
Cardless ATM : บริการกดเงินไม่ต้องใช้บัตร เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2560 มีการทำรายการแล้ว 18 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 32,500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 15% ของธุรกรรมการถอนเงิน
Easy Bonus : สิทธิประโยชน์ให้เลือกตามไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบ มีจำนวนผู้เข้าใช้งานกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน
Donation : เปิดตัวครั้งแรกกับโครงการก้าวคนละก้าว ปัจจุบันสามารถรองรับการบริจาคไปยังมูลนิธิต่างๆ รวม 15 มูลนิธิ มียอดการบริจาคมากกว่า 600,000 รายการ คิดเป็นยอดเงินบริจาคผ่านช่องทางนี้ถึง 210 ล้านบาท
Digital Lending : บริการสินเชื่อผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งมียอดสมัครผ่านแอปแล้ว 165,000 รายการ อนุมัติสินเชื่อไปแล้วหลายร้อยล้านบาท
Gift : วิธีมอบของขวัญยุคใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ มียอดผู้ใช้บริการกว่า 200,000 ครั้งต่อเดือน กับมูลค่าของขวัญรวม 52 ล้านบาท
Movie : พาร์ทเนอร์กับ SF Cinema ให้ลูกค้าสามารถจองตั๋วชมภาพยนตร์ราคาพิเศษ 80 บาท ทำให้มีการจองตั๋วผ่านแอป SCB EASY กว่า 216,000 ใบ รวมมูลค่า 25 ล้านบาท
SCB Easy All Free : บริการฟรีค่าธรรมเนียม โอน จ่าย เดิม กด ผ่านโมบายแบงก์กิ้งที่ SCB ประกาศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ทำให้มียอดสมัครใช้งานแอปสูงสุดถึง 18,000 รายต่อวัน หรือเฉลี่ยกว่า 350,000 รายต่อเดือน
“ตั้งแต่ SCB ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม พบว่าการโอนข้ามแบงก์เติบโตขึ้นถึง 300% ซึ่งเป็นการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ารายเดิม ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า SCB นั้นนิยมใช้โมบายแบงก์กิ้งอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้สัดส่วนการใช้งานธุรกรรมออนไลน์สูงถึง 90% ส่วนสาขาอยู่ที่ 4% และ ATM 6% มีโอกาสที่ปลายปีนี้สัดส่วนการใช้โมบายแบงก์กิ้งจะยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนในช่วง 2-3 ปีมานี้ กับรูปแบบการโอน เติม จ่าย ที่เป็น 3 บริการยอดนิยม”
ขยายฐานลูกค้า SCB EASY 10 ล้านรายภายในสิ้นปี
จากปี 2560 ที่เรามีฐานลูกค้าบนแอป SCB EASY ราว 3 ล้านราย ปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 7 ล้านราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านรายตามเป้าหมาย
ดึง Biometric ยืนยันตัวตน พัฒนา E-KYC หวังลูกค้าใหม่เข้าแบงก์
ภายใต้นโยบาย National Digital ID ของรัฐบาลที่หลายฝ่ายหวังเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายปีนี้ SCB รีบนำร่องรับระบบดังกล่าว ด้วยการนำเทคโนโลยียืนยันตัวตนแบบ Biometric เข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเปิดบัญชีออมทรัพย์ผ่านแอปในชื่อ EASY E-KYC (Electronic Know Your Customer) หรือการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ของธนาคาร
“การเปิดตัว EASY E-KYC ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นด้านเทคโนโลยีและบริการเพื่อตอบโจทย์ New to Bank จากนี้ลูกค้าใหม่ของ SCB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้วยตัวเองผ่านแอป SCB EASY ได้แล้ว ตอบโจทย์ความสะดวกและเทรนด์การใช้โมบายแบงก์กิ้ง แต่ยังคงความปลอดภัยไม่ต่างจากการเดินทางไปทำเรื่องผ่านสาขา ถือเป็นโอกาสที่เราจะขยายไปสู่คนที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าของแบงก์ ผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการสาขา”
สำหรับบริการ EASY E-KYC ใช้ระยะเวลาราว 4 เดือนในการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัย ซึ่งทาง SCB ระบุว่ามีการรายงานและเชื่อมโยงข้อมูลต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งยังมีการทดสอบความแม่นยำของระบบ Biometric โดยพบว่ามีความแม่นยำถึง 95% มากกว่าการดำเนินงานด้วยมนุษย์ และมีโอกาสเกิดปัญหาเพียง 0.01% ต่อการประมวลผลใบหน้า เช่น ไม่สามารถอ่านใบหน้าเดิมที่เคยใช้บริการได้, ไม่สามารถยืนยันใบหน้ากรณีเป็นคู่แฝดที่มีใบหน้าคล้ายกันมาก เป็นต้น
นอกจากนี้ EASY E-KYC ยังถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยกับการเปิดบัญชีออมทรัพย์ผ่านระบบ E-KYC ซึ่งไม่มีขั้นตอนทางเอกสาร ไม่ต้องง้อพนักงานหรือเดินทางไปถึงสาขา และสามารถดำเนินการได้เรียลไทม์ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็ยังใช้เวลาน้อยกว่าการดำเนินงานผ่านสาขา เพราะการเปิดบัญชีผ่าน EASY E-KYC สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายใน 5-10 นาที ซึ่ SCB ยืนยันว่าใช้เวลาไม่แตกต่างจากการเปิดบัญชีผ่านธนาคารสาขาซึ่งใช้เวลาใกล้เคียงกันกรณีที่ไม่ต้องรอคิวรับบริการ
3 เงื่อนไข ใช้ EASY E-KYC
อย่างไรก็ตาม บริการ EASY E-KYC จะเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ คือ ผู้ใช้จะต้องไม่เคยเป็นลูกค้าของ SCB มาก่อน, จะต้องมีบัตรประชาชนและพาสปอร์ต, ใช้งานมือถือแอนดรอยด์ที่มีเทคโนโลยี NFC และใช้งานบนระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่น 5.1 ขึ้นไป (ต้องรองรับระบบแซนด์บ็อกซ์ด้วย) ทั้งนี้ ในช่วงแรกจะจำกัดวงเงินในบัญชีสูงสุดที่ 100,000 บาทเท่านั้น แต่มีข้อดีตรงที่สามารถเปิดบัญชี 0 บาทได้ ไม่จำเป็นต้องใส่เงินเข้าบัญชีในทันทีที่เปิด แต่จำกัดการเปิดที่ 1 คนต่อ 1 บัญชีเท่านั้น หากใครอยากได้บัตร ATM บัตรเดบิท จะสามารถดำเนินการขอผ่านแอปได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จัดส่งให้ถึงบ้านทีเดียว
อาจดูเหมือนยังมีข้อจำกัดทางโอกาสที่ SCB จะเข้าถึงลูกค้าใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ แต่เรื่องนี้ SCB มองว่า “ในประเทศไทยมีบัญชีทั้งสิ้น 45 ล้านบัญชี เป็นลูกค้า SCB รวม 14 ล้านบัญชี เท่ากับเหลือโอกาสที่แบงก์จะได้ลูกค้าใหม่เข้าระบบถึง 31 ล้านบัญชี ขณะเดียวกัน คนไทยที่มีพาสปอร์ตก็มีจำนวนถึง 20 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ใช้งานมือถือแอนดรอยด์ที่มีเทคโนโลยี NFC ราวๆ 10 ล้านคน ไม่ว่าอย่างไร หักลบกลบกันแล้ว SCB มีโอกาสจะได้ลูกค้าใช้แอป SCB EASY ตามเป้า 10 ล้านรายแน่นอน”
ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้พาสปอร์ตเป็นหลักฐานยืนยันการเปิดบัญชี ก็เพราะ…ด้านหลังเล่มพาสปอร์ตจะมีรายละเอียด ซึ่งเทคโนโลยี NFC บนมือถือแอนดรอย์สามารถอ่านและยืนยันข้อมูลได้ ในตอนสมัครเปิดบัญชีนั่นเอง ส่วนเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพก็กลายเป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันตัวตนด้วย เนื่องจากมือถือยุคปัจจุบันมีความละเอียดสูง
สำหรับขั้นตอนการเปิดบัญชี EASY E-KYC เริ่มต้นจาก ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SCB EASY และลงทะเบียนใช้งานด้วยการถ่ายภาพบัตรประชาชนและกรอกรายละเอียด จากนั้นต้องถ่ายภาพรายละเอียดพาสปอร์ตและนำมือถือไปทาบที่ด้านหลังของเล่มเพื่อยืนยันข้อมูล และใช้การสแกนใบหน้าด้วยการถ่ายภาพ ซึ่งระบบจะให้หลับตา 1 ข้าง หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือยิ้มแบบเห็นฟัน เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นมนุษย์ที่กำลังดำเนินการเปิดบัญชี ไม่มีการสวมรอยด้วยภาพถ่าย แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการกรอกข้อมูลและกดยืนยันเปิดบัญชี เพื่อเสร็จสิ้นขั้นตอน
“National Digital ID ไม่ใช่จุดเริ่มต้นสู่บริการนี้ แต่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดสู่บริการอื่นๆ ในอนาคต หนุนเทรนด์การใช้โมบายแบงก์กิ้ง เพราะปัจจุบันมือถือกลายเป็นช่องทางหลักในการให้บริการและเข้าถึงลูกค้าธนาคารไปแล้ว ดังนั้นเราพยายามทำให้ลูกค้าได้ใช้บริการที่มากกว่าการโอน เติม จ่าย แม้เทคโนโลยี E-KYC จะเป็นเรื่องใหม่ของคนไทยในวันนี้แต่เชื่อว่าอีก 1-2 ปีก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นเหมือนกับพร้อมเพย์ และสิ่งที่ SCB ทำในวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ก็จะเห็นแบงก์อื่นมีบริการในลักษณะเดียวกัน แต่เราทำเพื่อนำร่องบริการก่อนรายอื่น เพื่อสร้างความแตกต่างและทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากอยู่กับเรา”