ทุกวันนี้มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสราวๆ 6.60 แสนเที่ยวคนต่อวัน หรือ 241.1 ล้านเที่ยวคนต่อปี
และจำนวนผู้โดยสารนี้ ยังเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับ รายได้ และอัตรากำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทราบกันดีว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารายแรกของประเทศไทย
บีทีเอส เริ่มแรกเดิมทีคือ “บริษัท ธนายง จำกัด” จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2510 เพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ต่อมาในปี 2535 ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นและมีชื่อย่อว่า TYONG
แต่นักลงทุนมักเรียกหุ้นบริษัทนี้ว่า “ตี๋ย้ง”
ปี 2535 ตี๋ย้งที่ว่านี้ ได้ตั้ง “บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด” มีชื่อย่อว่า BTSC เพื่อเข้าทำสัญญาสัมปทานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก หรือสายสีเขียว เส้นทางสุขุมวิท และสีลม เริ่มเปิดให้บริการวันที่ 5 ธันวาคม 2542
ธนายงพลิกวิกฤต เป็นบีทีเอส กรุ๊ป
ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
บีทีเอสซี ประสบปัญหาด้านการเงิน และถูกเจ้าหนี้เข้ามายึดกิจการ (ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ) ในที่สุด
แต่ภายหลังสามารถกลับมาซื้อหุ้นบีทีเอสซี เป็นของตนเองได้อีกครั้ง
และจากการได้มาซึ่งหุ้น “บีทีเอสซี”
ตี๋ย้ง จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ธนายง จากัด (มหาชน) เป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จากัด (มหาชน) และเปลี่ยนธุรกิจหลักจากอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจระบบขนส่งมวลชน
ปัจจุบัน บีทีเอส กรุ๊ปฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย.61 พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ “คีรี กาญจนพาสน์” จำนวน 2,891,164,652 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24.41%
รองลงมาที่ถือหุ้นในนามบุคคลคือ “กวิน กาญจนพาสน์” จำนวน 602,459,295 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.09%
ที่เหลือนอกจากนั้น เป็นกลุ่มนักทุนประเภทสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาถือหุ้นผ่าน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด
ในช่วงเดือนเมษายน 2556 ได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท
หรือมีชื่อย่อว่า BTSGIF
กองทุนนี้มีมูลค่ากว่า 6.25 หมื่นล้านบาท และกองทุนนี้ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในเวลาถัดมา
ผงาดกุมโครงข่ายรถไฟฟ้า
บีทีเอสซีได้ “ขายรายได้” ค่าโดยสารสุทธิ ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก (สุขุมวิท-สีลม) ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทาน ให้กับกองทุน BTSGIF ที่ราคาขายสุทธิ 61,399 ล้านบาท และบีทีเอส กรุ๊ป ได้เข้าจองซื้อ และเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนจำนวน 1 ใน 3 คิดเป็น 33.33% ของกองทุน BTSGIF
ปัจจุบัน บีทีเอส มี 4 กลุ่มธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้การบริหาร
แน่นอนว่า “ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน” เป็นธุรกิจหลัก ของ บีทีเอส กรุ๊ป มีรายได้คิดเป็น 64.5% ของรายได้รวมทั้งหมด
เส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ มีสายสุขุมวิทและสายสีลม ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 30 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572
ส่วนเส้นทางอื่นที่บีทีเอส ได้รับให้บริการเดินรถไฟฟ้าอยู่อีก
เช่น ส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร
ส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร
และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร
และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.58 กิโลเมตร
บีทีเอส ยังจะได้รับการเดินรถ ในเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.20 กิโลเมตร
เส้นทางใหม่นี้ บีทีเอส ได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585
บีทีเอส ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เข้าลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับส่วนต่อขยาย ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว- สาโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร
แน่นทุกวัน-กำไรเติบโต
นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ
ในแต่ละปี มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ในจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ มีสถิติที่น่าสนใจ
เพราะจำนวนผู้โดยสารสูงสุด ในวันทำงานยังอยู่ในปี 2556/57 จำนวน 9.13 แสนเที่ยวคน (รวมสายหลักและส่วนต่อขยาย) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557
ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ย (ปีล่าสุด) จะอยู่ที่ 28.30 บาทต่อเที่ยว
มาดูด้านผลประกอบการของบีทีเอส (รวมทั้ง 4 ธุรกิจ) กันบ้าง
มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยว่า กำไรของบีทีเอสในปี 2561(เม.ย.61-มี.ค.62) จะเติบโตมากว่า 69% โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน และธุรกิจด้านโฆษณา
ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คือส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว
ปี 61 แน่น-ขัดข้องเยอะสุด
รถไฟฟ้าของบีทีเอส จะมีคนมาใช้บริการแน่นแน่นเกือบตลอดทั้งวัน
ส่วนช่วงที่คนมาใช้บริการมากสุด คือ “เช้า” และ “เย็น”
นับจากต้นปี 2561 พบว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสมีเหตุขัดข้องบ่อยมาก
เมื่อถามว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากอะไร
ปัญหาการเดินรถของบีทีเอสในขณะนี้ มาจาก “อาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า” เป็นหลัก มากกว่าจะมาจากปัญหาอื่นๆ
บีทีเอส อ้างว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอก
สัญญาณที่ว่านี้ มีความเข้มสัญญาณสูง เข้ามารบกวนสัญญาณการเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่าง “สายสีลม” และ “สายสุขุมวิท”
และทำให้บริเวณดังกล่าว ไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ
บีทีเอส ยังอ้างด้วยว่า อยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนระบบวิทยุ ที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณ ในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อให้มีความเสถียรมากขึ้น และเพื่อรองรับการให้บริการ เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2561
ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การร่วมหารือกันระหว่าง บีทีเอส, ดีแทค และ ทีโอที
โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ประสานงาน
เหตุผลก็เพราะ ดีแทค และทีโอที ใช้คลื่นสัญญาณ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ทำให้ไปรบกวนคลื่นสัญญาณ ของระบบรถไฟฟ้าบีเอส
แต่ล่าสุด ดีแทคได้ปิดคลื่นสัญญาณดังกล่าวแล้ว
ทว่าปัญหาของบีทีเอส ก็ยังคงเกิดขึ้น
ปัญหาของบีทีเอส นอกจากเรื่องของปัญหาขบวนรถ
ก็ยังมีปัญหาเรื่องระบบการจำหน่ายตั๋ว ที่ผู้โดยสารต่างบ่นกันมานาน ทั้งเรื่องการแลกเหรียญ และการซื้อตั๋ว ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนเดียวกัน
หลายๆ ตู้ซื้อตั๋วของบีทีเอส ไม่สามารถรับเหรียญบางเหรียญ และธนบัตรได้
และยังมีอีกหลายปัญหา เช่น การทำ Hat-trick “ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง” เสียติดๆ กัน 3 วัน ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาจนถึงวันพุธ และคาดว่าน่าจะยังไม่หายดีจนถึงสิ้นเดือน
แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้
จะสวนทางกับการเติบโตของรายได้ และกำไรบีทีเอส