ส่องการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย เมืองฉงจั่ว

  • 24
  •  
  •  
  •  
  •  

จีน-ไทย

หากกล่าวถึงเรื่องการลงทุน นำเข้าส่งออกไปยังประเทศจีน เชื่อว่าหลายท่านต้องมีคำถามสำคัญว่า ที่ไหนน่าสนใจบ้าง

สำหรับวันนี้เราอยากส่องการจัดตั้งและลงทุนใน “นิคมอุตสาหกรรรมจีน-ไทย ที่เมืองฉงจั่ว” ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งดึงดูดสำคัญที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านกระบวนการผลิตและตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก แล้วทางการจีนยังใช้ที่นี่เป็นแหล่งนำร่องสำหรับ Platform เพื่อใช้บุกเบิกตลาดในอาเซียนด้วย นี่จึงเป็นแหล่งที่น่าสนใจ เพราะมีความร่วมมืออย่างเข้มข้นอยู่แล้วนั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงเมือง (Chongzuo City) ถือว่าเป็นเมืองใหม่ในมณฑลกว่างซี เป็นเมืองที่อยู่ในยุทธศาสตร์ “One Belt One Road” ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันในชื่อว่า “เมืองแห่งน้ำตาล แมงกานีส และค้าขายข้ามชายแดน” แล้วหากให้สรุปความสำคัญของเมืองนี้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรต้องจับตามองไว้ ก็คือ

1. เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน)

นิคมแห่งนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างจีนและภูมิภาคอาเซียน

สำหรับสถานที่ตั้งของนิคม อยู่ห่างจากกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนามเพียง 240 กิโลเมตรเท่านั้น บริเวณนั้นยังมีท่าเรือในอ่าวตังเกี๋ยที่ห่างกันประมาณร้อยกิโลเมตร จึงถือว่าเป็นประตูทางใต้สำหรับออกสู่เวียดนาม แล้วก็นับเป็นด่านสำคัญสำหรับอาเซียน-จีน อีกด้วย

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) ถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองด้านเศรษฐกิจและการค้าทางแถบชายแดนขนาดใหญ่ของจีน มีพื้นที่ติดกับประเทศเวียดนาม และเป็นที่ตั้งของ “นิคมอุตสาหกรรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตร.กม.

2. เป็นประตูสู่อาเซียนทางบก

เมืองฉงจั่วเป็นประตูทางบกสู่ภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากชัยภูมิและสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์โดดเด่น เหมาะสมต่อการค้าขาย สามารถเดินทางเข้าเวียดนามได้สะดวก

3. เป็นแหล่งดึงดูดเงินทุนต่างชาติ

ในปัจจุบัน กลุ่มนายทุนและผู้ประกอบการของไทย จีน และของต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก และประเทศในทวีปยุโรป ได้เข้ามาไปลงทุนจัดตั้งกิจการในนิคมแห่งนี้เป็นจำนวนมากขึ้น สำหรับไทยก็จะมีกลุ่มมิตรผล ส่วนแบรนด์หรือเครือบริษัทที่มีชื่อเสียงจากชาติต่างๆและของจีนเองก็ เช่น บริษัท CITIC Dameng Mining ซึ่งเป็นบริษัทด้านเหมืองแร่และผู้ผลิตแร่แมงกานีสรายใหญ่ของจีน, Guangxi Geeya Technology ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนในนิคมของจีน, FOSTER ผู้ผลิตเครื่องเสียงจากญี่ปุ่น, Eramet ผู้ผลิตอัลลอยด์จากฝรั่งเศส เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ ยังจะมีการลงทุนด้านต่างๆ เพื่อยกระดับให้นิคมฯมีความทันสมัยและเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าส่งออกและระบบ Logistics ในอาเซียนอย่างมากด้วย

ในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทย-จีน โดยเป็นการร่วมมือกันกับนิคมอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร และบริษัทสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด นอกจากนี้ยังจะมีการส่งเสริมผลักดันการลงทุนด้านต่างๆ อีกหลายสาขา อาทิ การผลิตน้ำตาลแบบครบวงจร หรือเรื่องของพลังงานทางเลือก และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ทางนิคมฯ ยังสนับสนุนให้ดำเนินการเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ เช่น มาตรการลดภาษี การให้เงินรางวัลและเงินอุดหนุนสำหรับโครงการอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถจะพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะในด้านอาหาร น้ำตาล พลังงาน และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ซึ่งเป็นจุดแข็งของอาเซียนนั่นเอง

เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 24
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”