สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ dtac ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การประมูลครั้งนี้อาจส่งผลให้รัฐมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลและตลาดด้อยประสิทธิภาพ ตามมติที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีความเห็นให้จัดการประมูลโดยยึดหลักเกณฑ์การจัดประมูลตามเดิม โดยแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็นชุดละ 15 MHz และคงข้อกำหนดจำนวนใบอนุญาตแบบ N-1 ที่ให้ใบอนุญาตน้อยกว่าผู้เข้าร่วมประมูล
คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนคลื่นความถี่ที่จะนำไปรองรับการเติบโตของการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารคลื่นความถี่เข้าสู่วาระแห่งชาติ
“dtac มีความกังวลต่อมติบอร์ด กสทช. ที่กลับไปใช้แนวทางประมูลเดิมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0 ในส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz นั้น ดีแทคกำลังรอประกาศเชิญชวนและเผยแพร่สรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) ฉบับสมบูรณ์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ”
สำหรับความคิดเห็นของดีแทค มีประเด็นสำคัญ ดังนี้…
1. ขอให้พิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้เหมาะสมเพิ่มขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทย
2. ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต โดยการกำหนดใบอนุญาตคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 MHz (แทนขนาด 2×15 MHz) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถเลือกประมูลจำนวนคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแต่ละราย สอดคล้องกับแผนธุรกิจและการลงทุนและยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด
3. การพิจารณาทบทวนข้อกำหนด N-1 (การกำหนดจำนวนใบอนุญาตที่นำมาประมูลต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล) ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ควรยกเลิกกฎนี้ เนื่องจากส่งผลเสียต่อการแข่งขันและผู้ใช้งานในภายหลังประมูล เพราะอาจทำให้เกิดสภาวะเสมือนการขาดแคลนคลื่นความถี่จากที่มีอยู่เดิม และผู้เข้าประมูลบางรายอาจถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าประมูล ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาด ลดโอกาส และทางเลือกของผู้บริโภค
ทั้งนี้ dtac จะเร่งยื่นหนังสือนำเสนอแผนธุรกิจและแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558) เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม ขณะเดียวกัน dtac กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการโอนย้ายลูกค้าที่ยังคงค้างในระบบด้วยข้อเสนอทางการตลาด เพื่อให้ลูกค้าที่มีอยู่จำนวนหนึ่งได้มีประสบการณ์ในการใช้งานดิจิทัล และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าที่ใช้งาน 2G จะได้เข้าสู่ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบน 4G และ 3G
อย่างไรก็ตาม dtac อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการภายใต้ประกาศดังกล่าวและจะนำเสนอต่อ กสทช. ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับผู้ให้บริการมือถือรายอื่นๆ ที่หมดสัมปทานลง และเข้าสู่มาตรการเยียวยาคุ้มครองลูกค้า