ถอดรหัสสงครามการเงิน Kbank กับ SCB คู่ต่อสู้ทุกแนวรบ พร้อมอัด e-Wallet ปิดทางสู้

  • 403
  •  
  •  
  •  
  •  

 

scb-kbank

ในยุคที่ธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดถูกรวบรวมไว้อยู่ในแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เรียกได้ว่าเป็นยุคใหม่ของอุตสาหกรรมการเงิน จากเดิมที่ต้องไปที่สาขาของธนาคารหรือไปที่ตู้ ATM แถวบ้านเพื่อทำธุรกรรมการเงิน ปัจจุบันทุกคนสามารถดำเนินการธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาธนาคารหรือตู้ ATM อีกต่อไป และอาจเรียกได้ว่ามีเพียง 2 ธนาคารยักษ์ใหญ่ที่แข่งขันกันอย่างจริงจังในยุค FinTech และยังเป็น 2 แอพพลิเคชั่นธนาคารที่อยู่ในมือถือของใครหลายๆ คน

วันนี้เราลองมาถอดรหัสกันแบบง่ายๆ ว่า ทำไม Kbank หรือธนาคารกสิกรไทย กับ SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเป็น 2 ธนาคารที่อยู่ในมือถือของใครหลายๆ คน และการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเงินจะไปในทิศทางใด ที่สำคัญการแข่งขันในครั้งนี้ต้องจับตาไปที่กลุ่มการเงิน Non-Bank โดยเฉพาะกลุ่ม e-Wallet ทั้งหลายไว้ให้ดี เพราะงานนี้ธนาคารเล่นแรงสกัดดาวรุ่งแบบโจมตีครบเครื่องแน่นอน

 

Kbank ลุยสมรภูมิแรก QR Code

เจาะฐานขยาย SME

อย่างที่ทราบกันดีว่า Kbank หรือ ธนาคารกสิกรไทย มีฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่ม SME อยู่มากมายหลายบัญชี นั่นจึงทำให้ Kbank มีจุดแข็งในเรื่องของ SME แถม Kbank ยังใช้กลยุทธ์เจาะกลุ่มไปที่ธุรกิจ SME ในด้านการซื้อขายสินค้าง่ายๆ ผ่าน QR Code ในแอพพลิเคชั่น K Plus พร้อมทั้งเลือกใช้ “เหมียวกวัก” ที่ชื่อ “ปิ๊บจัง” มาเป็นมาสคอตในการให้บริการครั้งนี้

Kbank

แต่ดูเหมือนว่าช่วงแรก Kbank จะใช้วิธีการคิดแบบธนาคารเดิมอยู่ ในเรื่องของความง่ายการเติม โอน จ่าย ทำให้การสื่อสารระหว่างธนาคารกับกลุ่มลูกค้ายังไม่เข้าใจกันดี ด้วยเหตุนี้ Kbank จึงพยายามสื่อสารการตลาดให้ง่ายและเข้าใจได้ไม่ยาก โดยเน้นความเป็น Mass ผ่านแคมเปญโฆษณา กิจกรรมและการประชาสัมพันธ์อื่นๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ QR Code และการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่น K Plus

 

SCB เปลี่ยนแนวคิด

ธนาคารต้องไม่สื่อสารในรูปแบบเดิม

แม้ว่า Kbank จะมีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่ม SME แต่นั่นทำให้มีช่องว่างในส่วนของกลุ่มคนทั่วไป SCB หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเข้าไปเจาะฐานกลุ่มนี้ โดยสื่อสารการตลาดแบบที่ไม่ใช่แนวทางธนาคารทำ โดย SCB คว้าตัวผู้บริหารที่มาจากหลายอุตสาหกรรมนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการเงิน ทำให้การสื่อสารและการตลาดในรูปแบบสไตล์ธนาคารค่อยๆ หายไป รวมไปถึงการคิดแพ็คเกจหรือโปรโมชั่นในแบบที่ธนาคารไม่เคยทำมาก่อน สอดรับกับแนวนโยบายของ SCB ที่ต้องการปรับเปลี่ยนให้ธนาคารไทยพาณิชย์หลุดจากกรอบเดิมๆ

SCB Manee

และภาพลักษณ์ธนาคารเก่าแก่โบราณอายุเกิน 100 ปี นั่นจึงทำให้หลายครั้งที่ SCB รุกตลาดในแบบที่ธนาคารไม่เคยทำมาก่อน เช่น การทำโฆษณาที่ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นดาราดังและทำให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายเงิน รวมไปถึงการจัดแคมเปญกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ แถมด้วยมาสคอตอย่าง “แม่มณี” ที่รู้ลึกเข้าใจถึงความคิดเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในการใช้ “นางกวัก” หากแต่เปลี่ยนจากรูปแบบนางกวักเดิมๆ ที่เป็นรูปปั้นเคารพให้กลายเป็นตัวการ์ตูนสุดน่ารัก

 

สมรภูมิสองเลิกค่าธรรมเนียม

พุ่งเป้าสู่การฆ่า e-Wallet

สมรภูมิแรกคือการปรับเข้าสู่เทคโนโลยีและสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายผ่าน QR Code นั่นทำให้ทั้ง 2 แบงค์ใหญ่ต่างพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ง่ายและเข้าถึงผู้บริโภค แต่สมรภูมิที่ 2 กลับไม่ใช่การแข่งกันของธนาคาร แต่เป็นการสกัดดาวรุ่งอย่าง e-Wallet ไม่ให้ได้เกิด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจ Non-Bank ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ยิ่งธุรกิจ Non-Bank ที่ใช้เทคโนโลยี e-Wallet ทำให้ธนาคารเสียรังวัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้ธนาคารมักจะใช้ e-Wallet เป็นบัญชีที่ 2 ในการทำธุรกรรมทางการเงินมากกว่าที่จะใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคาร นั่นเป็นเพราะ e-Wallet จับจุดอ่อนของธนาคารได้ ตรงที่ธุรกรรมของธนาคารมักจะมีค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะจ่าย ถอน เติม โอนข้ามธนาคาร

fffa47ec42d1edb33b21d3851cb36887

แต่ e-Wallet ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น มีผู้ใหญ่เคยให้ความคิดเห็นข้อนี้ไว้ว่า ในอดีตการทำธุรกรรมต่างๆ จะผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยใช้สายโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งอินเตอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์จะมีค่าบริการ ธนาคารจึงผลักภาระนี้ให้กับผู้บริโภคบวกค่าดำเนินการ โดยใช้คำว่า “ค่าธรรมเนียม” แต่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตใช้สายไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งไม่มีค่าบริการ ทำให้ e-Wallet สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ธนาคารส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ค่าธรรมเนียมคือแหล่งรายได้มหาศาล จึงไม่มีการยุติค่าธรรมเนียมในส่วนนี้

SCB-EASY_Freenomenon-1

ทว่าเมื่อธนาคารกำจัดจุดอ่อนด้วยการเลิกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ (เฉพาะธุรกรรมทางการเงินใน Application) ส่งผลให้หลายคนเริ่มกลับมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร และนั่นคือการปิดโอกาสของ e-Wallet ในการทำธุรกรรมทางการเงิน แน่นอนว่า e-Wallet คงไม่อยู่นิ่งอย่างแน่นอน หลังจากนี้เราจะได้เห็นการโจมตีกลับของ e-Wallet ด้วยการทำกิจกรรมทางการตลาดหรือโปรโมชั่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ และอย่าลืมว่า e-Wallet รายใหญ่ ยังมีร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในประเทศสนับสนุนให้สามารถใช้จ่ายสินค้าภายในร้านผ่าน e-Wallet ได้อยู่

 

อนาคตอุตสาหกรรมเงิน

ใครถือบัญชีมากกว่ากันเป็นผู้ชนะ

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ปัจจุบันธนาคารได้เลิกการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงิน นั่นหมายความว่ารายได้ของธนาคารจะต้องลดลง นับต่อจากนี้ไปอุตสาหกรรมทางการเงินจะหันมาแข่งขันกันเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า ด้วยการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อให้หันมาเปิดบัญชีกับธนาคารมากขึ้น เนื่องจากธนาคารใดที่มีจำนวนบัญชีลูกค้ามากที่สุด จะมีโอกาสสูงที่ธนาคารจะนำเสนอและส่งมอบบริการอื่นๆ ให้กับลูกค้าได้ อย่างเช่น เงินกู้ส่วนบุคคล บัตรเครดิต เป็นต้น

นอกจากการมีจำนวนบัญชีที่มากแล้ว บัญชีเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทำธุรกรรมการเงินหรือมีความเคลื่อนไหวทางบัญชี เพราะนั่นหมายถึงลูกค้ามีโอกาสในการรับบริการทางการเงินอื่นๆ ของธนาคารและน่าจะเป็นรายได้ของธนาคารต่อไปในอนาคต นั่นจึงทำให้ธนาคารเริ่มสร้างประสบการณ์การให้บริการ หนึ่งในนั้นคือการตั้งหน่วยงานบริการและสร้างความสัมพันธ์ลูกค้า หรือแม้แต่การจัดตั้ง Call Center และยังช่วยให้สามารถร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทเอกชนรายอื่นๆ ได้ง่ายอีกด้วย และนั่นน่าจะเป็นสมรภูมิที่ 3 ของอุตสาหกรรมธนาคาร

SCB Customer Center (20)

โฉมหน้าจากนี้ไปของธุรกิจธนาคารจะจะเป็นเหมือนกับช่วงต้นๆ ของธุรกิจโทรคมนาคมที่ต้องการฐานลูกค้าจำนวนมากไว้อยู่ในมือ ก่อนส่งมอบบริการอื่นๆ ที่ลูกค้ามีความต้องการต่อไปในอนาคต ยิ่งเมื่อมีระบบ AI และ Machine Learning จะยิ่งช่วยให้ธนาคารรู้ถึงความต้องการของลูกค้าในอนาคตได้แม่นยำ ซึ่งการแข่งขันของธนาคารบอกได้เลยว่า ไม่ต้องดูที่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Kbank และ SCB

Bank-09

แต่ความมันส์ของการแข่งขันในธุรกิจธนาคารอยู่ที่ใคร…

จะช่วงชิงตำแหน่งที่ 3 ได้ต่างหาก!!!


  • 403
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา