นกสกู๊ต เผยผลประกอบการปี 2560 ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

  • 91
  •  
  •  
  •  
  •  

Yodchai Sudhidhanakul 1

ในปี 2560 นกสกู๊ต มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากปี 2559 เป็นประมาณ 5.6 พันล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปี 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 87 จากร้อยละ 79 ในปี 2559

“ภายหลังจากการปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้นกสกู๊ตสามารถเดินหน้าตามแผนการขยายเส้นทางตามที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ได้ โดยได้เปิดเส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-ซีอาน ในเดือนธันวาคม 2560 เป็นลำดับแรก และได้เพิ่มความถี่ในเส้นทางบินสู่เมืองเทียนจิน ชิงเต่า และเสิ่นหยาง ประเทศจีน นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200 ลำที่ 4 เข้ามาในฝูงบินอีกด้วย” นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าว

“ในปีที่ผ่านมาสายการบินนกสกู๊ตเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ประกอบกับการทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้น รวมทั้งการใช้งานเครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดต้นทุนต่อหน่วย ทำให้รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด นับตั้งแต่สายการบินเปิดให้บริการมาในปี 2557” นายยอดชาย กล่าวเสริม

นกสกู๊ตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบิน เฉลี่ยจากเดิม 9.4 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2559 เป็น 11.5 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2560

แผนการขยาย

นายยอดชาย มีความเชื่อมั่นว่า สายการบินมีสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติการที่เอื้ออำนวยต่อการเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง และปรับปรุงผลประกอบการด้านการเงินให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับปี 2561 นกสกู๊ตมีแผนที่จะขยายฝูงบินด้วยการเพิ่มเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีกอย่างน้อย 1 ลำ เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่แบบประจำ ไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นกสกู๊ตคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการไปสู่นาริตะได้ภายในไตรมาสที่สอง และมีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางโอซาก้า และอินชอน ในลำดับถัดไป

“หากการขยายเส้นทางไปสู่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่ารายได้รวมของนกสกู๊ตจะเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 แตะที่หนึ่งหมื่นล้านบาท และจะมีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 2 ล้านคน ในปีนี้ การดำเนินงานตามแผนนี้จะช่วยเพิ่มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ” นายยอดชาย กล่าวเสริม

นอกจากนี้ นกสกู๊ตจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนกแอร์ ที่ถือหุ้นนกสกู๊ตอยู่ร้อยละ 49 และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร Value Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสายการบินราคาประหยัด 7 สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ความร่วมมือระหว่างนกสกู๊ตและนกแอร์ จะเริ่มขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ ด้วยบริการส่งกระเป๋าจากต้นทางไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้าย (baggage check-through service)

อีกทั้งยังเปิดให้ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งในทุกเส้นทาง ที่ให้บริการโดยนกสกู๊ตและนกแอร์ ผ่านเว็บไซต์ของทั้งสองสายการบิน

ในขณะเดียวกัน นกสกู๊ตกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำเที่ยวบินร่วม (Codeshare Flight) รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ร่วมกับสายการบินในกลุ่ม Value Alliance และเครือข่ายพันธมิตรในปีนี้


  • 91
  •  
  •  
  •  
  •