เมื่อนวัตกรรมทางการเงินอย่าง “ฟินเทค” กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดบริการทางเงินแบบเดิมๆ มากขึ้นทุกขณะ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังอุตสาหกรรมการเงินมูลค่ามหาศาล ให้ตระหนักถึงการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่จะต้องทันสมัยและตอบโจทย์วิถี “ดิจิทัล ไลฟ์” และเตรียมรับมือกับการแข่งขัน ที่จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองอีกต่อไป
มาตรการสำคัญของธนาคารพาณิชย์นับจากนี้ คือ การจัดวางยุทธศาสตร์ใหม่ในทุกๆ มิติ เพื่อฝ่าคลื่นฟินเทค ที่โหมกระหน่ำเข้ามาและจะเชี่ยวกรากมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
การไหลบ่าของกระแส “ฟินเทค” ไทย
ปัจจุบันการใช้บริการทางการเงินผ่าน Fin Tech หรือ Financial Technology ของคนไทย มีอัตราสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ในรูปแบบของ Internet Banking, Mobile Banking และ Social Banking หรือการจ่ายเงินบน Social Media ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Facebook Messenger รวมถึงระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment
มาถึงบริการ “พร้อมเพย์” ยิ่งทำให้ฟินเทคใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น เพราะการใช้บริการที่ง่าย แค่ผูกบัญชีธนาคารเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประชาชน ก็สามารถใช้บริการโอนเงินให้กับผู้รับโอนได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลขที่บัญชีธนาคารของผู้รับโอน เพียงรู้เบอร์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชน ที่สำคัญคือค่าธรรมเนียมต่ำกว่าเดิมมาก หรือแรบบิทการ์ดที่ใช้ได้ในหลากหลายกิจกรรม
และดูเหมือนจะประชิดตัวมากขึ้น เมื่อธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code Payment)โดยผู้ที่มีบัญชีและผูกกับรหัสพร้อมเพย์กับธนาคาร สามารถขอรับคิวอาร์โค้ดเพื่อนำไปติดตั้งกับร้านค้า ให้ลูกค้าชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีร้านค้าได้โดยตรง พ่อค้าแม่ค้าหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โชเฟอร์รถแท็กซี่ ก็ใช้คิวอาร์ โค้ดได้เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับอาชีพบริการ ที่ต้องรับเงินสดจากลูกค้าทุกประเภท
การเคลื่อนตัวดังกล่าวทำให้เห็นว่า ขณะนี้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน กำลังคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตมากขึ้นทุกขณะ เพราะความสามารทำให้เรื่องการเงินง่ายขึ้น สะดวก ใช้เวลาน้อยลงมาก และยังเป็นการให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก
การเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินซึ่งมีมูลค่ามหาศาลจึงเปิดกว้างมากขึ้น ธุรกิจอื่นๆ ต่างสบโอกาสเข้าแข่งขันในตลาดให้บริการได้เสมือนแบงก์ แม้แต่บริการทางการเงินของค่ายมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ (เทลโก้) ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ที่มียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น จากการให้บริการรับชำระเงิน-โอนเงินมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบชำระเงินรายย่อย (อี-วอลเลต) ที่โอนเงินได้โดยไม่จำกัด เพียงมีเบอร์มือถือ หรือบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บริการ เจ มันนี่
และขยายฐานไปถึงฟินเทคเกี่ยวกับการลงทุนและวิเคราะห์หุ้น กลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น สต็อคเรดาร์ส, สต็อคทูมอร์โรว์ รวมถึง Piggipo ที่เข้ามาบริหารจัดการบัตรเครดิต ฯลฯ
แต่ที่จับตามองเป็นอย่างมากคือ กลุ่มสตาร์ทอัพ และ บริษัทฟินเทค ( Fintech Firm / Fintech Company) ที่เริ่มกระโจนเข้าร่วมวงชิงตลาด เช่น เอ็มเปย์ทรูมันนี่ เพย์สบาย ฯลฯ
ฟินเทคเขย่าโลกการเงิน
การเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมการเงินขณะนี้ คาดกันว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในอีก 3-5 ปี ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเคลื่อนตัวของพลวัตรครั้งใหญ่นี้มาอย่างต่อเนื่อง
การไหลบ่าของฟินเทคผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเห็นโอกาสและจุดอ่อนของการให้บริการทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง
เมื่อธนาคารพณิชย์ไม่สามารถปฏิเสธการร่วมขบวนฟินเทคได้ แม้ว่าจะได้เปรียบด้านความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่มากก็ตาม โดยปฐมบทของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นนวัตกรรมทางการเงินในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือ การตอบโจทย์ชีวิตดิจิทัลให้เท่าทัน
สำหรับก้าวแรกที่เห็นได้ชัดคือ ธนาคารชั้นนำของไทยให้ความสำคัญกับการแสวงหาความร่วมมือกับฟินเทค สตาร์ท อัพ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้ทันที หรือร่วมกันพัฒนาโซลูชั่นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งจากกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยขยายฐานธุรกิจด้าน Digital Cross Border หรือ บริการธุรกรรมข้ามประเทศ ด้วยการจับมือกับ 3 FinTech คือ TransferTo, Instarem และ Currenxie ในการรับโอนเงินจาก 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยสามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารในไทยได้กว่า 30 ธนาคาร รู้วันรับเงินที่แน่นอน ค่าโอนชัดเจน และได้รับเงินเต็มจำนวน
ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่สามารถจ่ายเงินผ่าน K PLUS SHOP ด้วย Alipay และ WeChat Pay ได้ด้วยการสแกน QR Code โดยตรง ไม่จำเป็นต้องใช้ PromptPay มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งปกติ ธนาคารอื่นจะใช้วิธีการสแกน QR Code แล้วเชื่อมกับ PromptPay ก่อน
ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเพิ่มความสำคัญ กับการยกระดับการให้บริการออนไลน์ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคนี้ ใช้เวลาในแต่ละวันกับสมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง ขณะเดียวยังต้องการใช้บริการแบบ All time มากขึ้น ซึ่งจุดนี้เองที่จะทำให้ธุรกิจการเงิน ต้องทบทวนถึงความคุ้มค่าของการเปิดสาขา ซึ่งมีต้นทุนสูง และสุดท้ายมาตรการลดจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2560 ธนาคารพาณิชย์มีจำนวนสาขาทั้งหมดรวม 6,920 แห่ง เทียบกับสิ้นปี 2559 ที่ธนาคารพาณิชย์มีสาขาทั้งหมด 7,016 แห่งหรือลดลงไป 96 แห่ง
ซึ่งเป็นการลดสาขาของธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ เช่น ธนาคารกสิกรไทย มีสาขา 1,060 แห่ง ลดลง 50 ธนาคารกรุงไทย มีสาขา 1,169 แห่ง ลดลง 44 แห่ง ธนาคารธนชาต มีสาขา 555 แห่ง ลดลง 38 แห่ง
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศชัดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะลดสาขาเหลือ 400 แห่งจาก 1,153 สาขาในขณะนี้ เท่ากับสาขาจะหายไปถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนพนักงานเหลือ 15,000 คน จาก 27,000 คน ในระยะสั้นจะมีการปรับเปลี่ยนสาขาลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เปลี่ยนถ่ายพนักงานไปยังจุดที่เหมาะสม
ตลาดเอสเอ็มอีเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงพัฒนาเพิ่มความแกร่งให้ลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเล็งเห็นถึงความเติบโตธุรกิจของผู้ประกอบการ ด้วยความเสถียรระยะยาว ด้วยการเปิดศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้คำปรึกษาครบวงจรแห่งแรกในวงการธนาคารไทย โดยโฟกัสที่ 4 หัวใจหลักของการทำธุรกิจในยุคนี้ ทั้งเรื่องของการทำตลาดแบบดิจิทัล, การสร้างแบรนด์, การขนส่งสินค้าและการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ผ่านทีมที่ปรึกษาที่ถูกคัดสรรมาแล้ว
ส่วนสาขาต่างๆ ที่เหลืออยู่ ก็มีการเพิ่มบทบาทของการให้บริการในแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ทีเอ็มบีที่ปรับโฉมสู่ “Digital Branch Banking Experience” ด้วยการนำดิจิทัลเข้ามาเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว อาทิ การนัดหมายล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ (New Queue Platform) 2. บริการอี-โบรชัวร์ (E-Brochure) 3. VDO Conference สำหรับให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก TMB Advisory และเจ้าหน้าที่ Navigator พร้อมอุปกรณ์ ที่จะให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สำหรับการใช้บริการทุกธุรกรรม ซึ่งภายใน 2 ปีนี้ จะให้บริการสาขารูปแบบใหม่ในทั่วประเทศ 430 สาขา
ปรากฏการณ์ฟินเทคที่ก่อตัวขึ้นและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วนั้น หากธนาคารพาณิชย์สามารถไขว่คว้าไว้ได้ ก็นับว่าเป็นการสร้างโอกาส และหากจะนำมาลดจุดอ่อนจากการให้บริการแบบเดิมๆ จะถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ แต่หากไม่เท่าทันลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการเปิดช่องให้กับคู่แข่งขัน ซึ่งนับจากนี้จะมากหน้าหลายตาและไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกต่อไป และนั่นหมายถึงการส่งสัญญาณอันตรายต่อการสูญเสียฐานที่มั่นทางธุรกิจ