นับตั้งแต่ประเทศจีนได้มีการประกาศ นโยบาย ยุทธศาสตร์ “The Belt and the Road” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการเริ่มดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ในปี 2557 รัฐบาลจีนได้มีการเปิดเส้นทางการบินเพื่อสอดคล้องกับนโยบายครอบคลุม ทั้งสิ้น 35 ประเทศ 89 หัวเมือง ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วย 432 เส้นทางการบินนอกประเทศ นับเป็นอัตราส่วนทั้งสิ้น (51.5%) ของเส้นทางการเดินทางทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีเส้นทางการบินมายังประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 274 เส้นทางบิน (มากกว่า 60%) คิดเป็นจำนวนที่นั่งมากกว่า 28 ล้านที่นั่ง คิดเป็นอัตราส่วน 70% ของจำนวนคนทั้งหมดที่เดินทางออกจากประเทศจีน หรือเอาง่าย ๆ ก็คือ ในทุก ๆ 10 คนที่เดินทางออกจากประเทศจีน มีมากถึง 7 คนเดินทางมาที่ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เราทุกคนทราบกันดีว่า ประเทศไทยจัดว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ชาวจีนเดินทางมามากที่สุดแห่งหนึ่ง รวมถึงมีเส้นทางการบินมากที่สุดแห่งหนึ่งเช่นกัน ในบรรดาประเทศที่อยู่ในนโยบายทั้งหมดนั้น ประเทศไทยจัดว่ามีเส้นทางการบินหนาแน่ที่สุด โดยมีการเปิดเส้นทางการบินจากประเทศจีน มากถึง 36 เมือง มีจำนวนเที่ยวบินมากว่า 42,765 เที่ยวบิน จำนวนเที่ยวบินต่อวันมากถึง 117 ครั้ง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2560 ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในประเทศไทย น่าจะมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคน (1/4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย)
กรมการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (China National Tourism Administration – CNTA) เผยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งประเทศในปี 2558 มีจำนวนสูงถึง 4,500 ล้านครั้ง เติบโตจากปีที่แล้วถึง 9.6% โดยเฉลี่ยมีการท่องเที่ยวอยู่ที่คนละ 3.3 ครั้ง/ปี ในจำนวนนี้ นับเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 4,400 ล้านครั้ง (97.4%) เติบโตจากปีที่แล้ว 11% นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศ 122 ล้านครั้ง เติบโต 4.3% สามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า ชาวจีนทุกนที่ถือหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วจะออกเดินทางนอกประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (อ้างอิงตัวเลขจากปี 2560 จำนวนประชากรชาวจีนที่ถือหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปที่ยังมีอายุการใช้งานมีจำนวนอยู่ที่ 129 ล้านคน)
ข้อมูลจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวชื่อดังของจีน mafengwo.cn เผยผลสำรวจข้อมูล “พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนประจำปี2560” พบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากจะมีปริมาณมากที่สุดในโลกแล้ว ยังถูกจัดติดอันดับ 1/5 ของนักท่องเที่ยวที่มีการจับจ่ายใช้สอบเงินมากที่สุดอีกด้วย โดยตัวเลขล่าสุดขององค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) พบว่า ในปี 2559 นักท่องเที่ยวชาวจีนมียอดการใช้เงินสูงกว่า 2.6 แสนล้านดอลล่าห์ เติบโตจากปีก่อนถึง 12%
จากผลสำรวจและพฤติกรรมทางโลกออนไลน์พบว่า นักท่องเที่ยวจีนน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในเชิงการอุปโภคบริโภค โดยเชื่อว่าจะมีการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยพัฒนาขึ้นจากการ เน้นท่องเที่ยว เพื่อ“ซื้อสินค้า” มาให้ความสำคัญกับการ “ซื้อประสบการณ์” จากการท่องเที่ยวมากขึ้น ปรับเปลี่ยนจาก “ซื้อโดยไม่ถามราคา” มาเป็น “ตรวจเช็คราคาหาข้อมูลก่อนการซื้อ” รวมไปถึงการพึ่งพาข้อมูลจากโลกออนไลน์และเว็บไซต์การท่องเที่ยวมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด เชื่อว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะให้ความสำคัญกับ “คุณภาพของสินค้า” มากยิ่งกว่า “ราคาของสินค้า” อีกด้วย
ข้อมูลตัวเลขตั้งแต่ เดือน มกราคม – เมษายน ปี 2560 พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศจีน มียอดการใช้เงิน สูงถึง 1.38 แสนล้านหยวน (7แสนล้านบาท) การท่องเที่ยวในต่างประเทศ มียอดการใช้เงิน 2.77 หมื่นล้านหยวน (1.3 แสนล้านบาท) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว มีการปรับตัวลดลง 41.5% และ 37.2% ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับกิจกรรมและนันทนาการมากขึ้น ในส่วนนี้มียอดการใช้เงินซึ่งเติบโตกว่า 334% ในจำนวนนี้มีตัวเลขเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินของนักท่องเที่ยวจีนที่น่าสนใจ ดังนี้
การท่องเที่ยวในประเทศนักท่องเที่ยวเพศหญิง มีการยอดการใช้เงินที่สูงกว่าเพศชายเนื่องจากจำนวนที่มากกว่า (61.7%) แต่ยอดการใช้เงินเฉลี่ยต่อบุคคล นักท่องเที่ยวเพศชายมีการใช้เงินสูงกว่าถึง 2 เท่าตัว
การท่องเที่ยวนอกประเทศ นักท่องเที่ยวเพศหญิง มียอดการใช้เงินที่สูงกว่าโดยคิดเป็นอัตราส่วน 80.7% แต่ยอดการใช้เงินเฉลี่ยต่อบุคคลเพศหญิงอยู่ที่ 4,780 หยวน เพศชายอยู่ที่ 5,200 หยวน
ถึงแม้ว่า นักท่องเที่ยวชาวเซี่ยงไฮ้และในเมือง เทียร์หนึ่งของจีน (อาทิเช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา) มีการใช้เงินในการท่องเที่ยวสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แต่หากเทียบการใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนแล้ว เมืองเทียร์สองของจีนมียอดการใช้เงินที่สูงกว่ามาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก 3 มณฑลใหญ่ ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (เหลียวหนิง จี๋หลิน และ เฮยหลงเจียง)
เขียนโดย เธียรศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ
Expertise: Marketing Strategy
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com