เคพีเอ็มจี เผย “ฟินเทค” เป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ใหญ่สุดของสถาบันการเงิน แม้ยังขาดกลยุทธ์ที่ทรงประสิทธิภาพ
แม้ 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากสถาบันการเงินระบุฟินเทคเป็นเครื่องมือสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจ แต่เพียง 46% มีกลยุทธ์รองรับฟินเทคภายในองค์กร
ถึงแม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ของการบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม แต่สถาบันการเงินหลายแห่งยังขาดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ อ้างอิงจากรายงาน Forging the future: how financial institutions are embracing fintech to evolve and grow รายงานฉบับใหม่ของเคพีเอ็มจี ซึ่งทำการสำรวจสถาบันการเงิน 160 แห่ง ใน 36 ประเทศทั่วโลก
จากรายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ธนาคาร บริษัทประกันภัยและบริษัทบริหารสินทรัพย์เชื่อว่า เทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชนและไอโอที (IoT) กำลังสร้างนิยามใหม่ให้กับการบริการทางการเงิน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมีบทบาทและผลักดันให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในปัจจุบัน โดย 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า มาจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ ตามมาด้วยความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์มาตรฐานและการกำกับดูแลในภาคธุรกิจที่บริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก (51%) และโมเดลธุรกิจรูปแบบแบบใหม่ (46%)
ความท้าทายด้านกลยุทธ์ของฟินเทค
การตอบสนองขององค์กรต่อเทคโนโลยีฟินเทคแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่หลายธุรกิจกำลังเผชิญ เพียง 46% ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมดกล่าวว่า องค์กรของพวกเขามีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับเทคโนโลยีฟินเทค โดย 42% ชี้ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพัฒนา ขณะที่ อีก 10% ไม่มีกลยุทธ์ใดๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีฟินเทค และเพียง 47% ของสถาบันการเงิน ที่มีกลยุทธ์รองรับเทคโนโลยีฟินเทคเผยว่า กลยุทธ์ของพวกเขาสอดคล้องกับความท้าทายจากนวัตกรรมฟิคเทคที่เกิดขึ้น
“เราเห็นสถาบันทางการเงินหลายแห่งกำลังเผชิญกับอุปสรรคในการวางแผนและดำเนินกลยุทธ์ด้านฟินเทคให้ครอบคลุม” เมอร์เรย์ เรสเบค ประธานร่วม ฝ่ายฟินเทค เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “ในหลายกรณี มีการมอบหมายความรับผิดชอบในการรับมือกับนวัตกรรมฟินเทคไปที่แต่ละหน่วยงานที่แยกจากกัน โดยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร”
ในการตั้งวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์ด้านฟินเทค กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากสถาบันการเงินเห็นว่า มีการใช้ฟินเทคเพื่อ ‘ยกระดับการบริการลูกค้า’ เป็นวัตถุประสงค์หลักมากสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ‘การปฏิวัติความสามารถในการทำธุรกิจที่มีอยู่’ (48%) เป็นอันดับสอง
“นวัตกรรมฟินเทคที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้ายังเป็นเป้าหมายสูงสุดในการลงทุนด้านกลยุทธ์” คริสโตเฟอร์ ซอนเดอร์ กรรมการบริหาร ที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “ในประเทศไทย เราเห็นการพัฒนาที่โดดเด่นของเทคโนโลยีการชำระเงิน รวมถึงการเปิดตัวล่าสุดของกลไกระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด อย่างไรก็ดี โอกาสในการพัฒนาด้านอื่นๆ ยังมีอยู่มาก ตัวอย่างเช่น ในการให้บริการกู้ยืมของธนาคาร เราจะเห็นได้ว่า หลายธนาคารทั่วโลกประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์ฟินเทค ซึ่งช่วยลดเวลาการขออนุมัติสินเชื่อ จากที่ต้องรอนานกว่า 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1 วัน และในธุรกิจประกันวินาศภัย เราจะเห็นการให้บริการแบบ On-Demand ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อเลือกรับเฉพาะบางบริการของประกันภัย เมื่อมีโอกาสของความเสี่ยงจากการใช้ประกันที่ต้องการเกิดขึ้น”
ความสำคัญในการสร้างพันธมิตร
จากผลสำรวจพบว่า การร่วมมือกัน โดยเฉพาะกับสตาร์ทอัพ จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน โดย 61% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขามีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในด้านเทคโนโลยีทางการเงินในอดีต ขณะที่ 81% วางแผนที่จะขยายเครือข่ายพันธมิตรต่อไปในอนาคต
72% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเชื่อว่า สตาร์ทอัพสายฟินเทคจะเป็นแหล่งกำเนิดหลักของนวัตกรรมฟินเทคในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับ 81% ของผู้ทำแบบสอบถามที่ระบุว่า องค์กรของพวกเขากำลังจับมือ หรือมีแผนที่จะทำงานร่วมกันกับสตาร์ทอัพในอีก 12 เดือนข้างหน้า
78% กล่าวว่า องค์กรของพวกเขากำลัง หรือมีแผนการที่จะจับมือกับหน่วยงานขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน “โดยความต้องการที่จะก้าวขึ้นอย่างรวดเร็วในการเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมจะช่วยจุดประกายกลยุทธ์ดังกล่าว” เอียน พอลลารี ประธานร่วม ฝ่ายฟินเทค เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว ในขณะเดียวกัน จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขามีกลยุทธ์ที่จะ ‘สร้างสรรค์พัฒนา’ ซึ่งสะท้อนถึงแผนการของธนาคารและสถาบันการเงินในการสร้างและการเปิดตัวการบริการด้านฟินเทคของตัวเอง “ฟินเทคไม่ได้เป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพเท่านั้นที่จะทำได้ ผลการสำรวจชี้ว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่มองเห็นศักยภาพของตนเองในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการฟินเทคในบางด้าน” พอลลารี กล่าวเสริม
สำหรับความสนใจในเรื่องของฟินเทคในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data) และ เอพีไอ (Application Program Interfaces) เป็นสัดส่วน 67% และ 55% ตามลำดับ
“ไม่มีหนทางหรือวิธีการใดๆ ที่จะนำไปสู่การใช้ฟินเทคให้ประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว” พอลลารี ระบุ “ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือการมีกลยุทธ์ฟินเทคที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งการตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินงานในหลายมิติพร้อมกัน และนอกเหนือสิ่งอื่นใด ควรตั้งเป้าหมายที่มุ่งเน้นไปที่คุณค่าที่สามารถพิสูจน์ได้ รวมทั้งผลลัพธ์ด้านต้นทุนของลูกค้าจากการใช้บริการ รวมถึงการกำกับดูแล”