การสื่อสารทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นการใช้ช่องทาง Social Media เป็นหลัก ซึ่งทำให้การสื่อสารไปยังผู้บริโภคนั้นจะจำเป็นต้องเป็นการสื่อสารผ่านข้อความ ภาพ และวิดีโอ แต่อย่างไรก็ตามข้อความก็คือส่วนสำคัญใน Social Media ที่ทำให้ทุกคนนั้นประมวลผลเพิ่มขึ้น จดจำ เรียนรู้ และเข้าใจว่าโพสที่โพสไปนั้นกำลังสื่อสารเรื่องอะไรอยู่
สิ่งที่คนทำ Copywriting ใน Social Media ควรเรียนรู้ คือการเขียน Copywriting แบบสื่อโฆษณาที่สามารถใช้คำต่าง ๆ ที่ทำให้คนจดจำหรือติดหูได้อย่างดี ข้อความเหล่านี้ที่เรียก ๆ กันว่า Catchy word นี้สามารถสร้าง Call To Action ต่าง ๆ ได้อย่างดี (ลองนึกถึง Lactosoy 5 บาท ที่ทุกคนจะจำปริมาณได้ทันที) ถ้าสามารถประยุกต์ให้เป็นผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งการที่จะทำให้เขียนข้อความบน Social Media ได้ดีนั้นจำเป็นต้องมีทักษะที่มากกว่าการเขียน และการแต่งประโยค แต่ต้องเข้าใจว่าคำไหนจะสื่อสารให้อารมณ์แบบไหนออกมา หรือสร้างให้เกิดการกระทำอย่างไรต่อไป ซึ่งวันนี้ผมมี 5 เคล็ดลับเบื้องต้นที่จะมาลองนำเสนอในการเขียนข้อความบน Social Media ให้ดีขึ้น
1. ฟังแล้วจับใจ หรือเข้าใจได้ทันที
การเขียนที่ดีต้องทำให้ผู้อ่านนั้นสามารถเข้าใจได้ทันทีให้ได้มากที่สุด หรือสามารถทำให้เข้าใจได้ง่าย สื่อสารให้เรียบง่ายที่สุด จนไม่ต้องให้ผู้อ่านต้องมาตั้งคำถามหรือสงสัยตามมา หรือแย่กว่านั้นคือตีความผิดจนเกิดความเข้าใจผิดไปจนกลายเป็นดราม่าได้ หลาย ๆ ครั้ง Copywriting ที่ดีของประเทศไทยคือการเล่นคำ ที่ทำให้เกิดสัมผัสคล้องจองที่ทำให้จดจำได้ทันที หรือสร้างข้อความที่สามารถกลายเป็นเพลงหรือท้วงทำนองในหัวได้ ดังตัวอย่าง Lactosoy ที่เคยมีมา หรือเก่ากว่านั้นคือ โฆษณาของปักกิ่ง โบราณกว่านั้นคือถ่านไฟฉายตรากบ และโฆษณาประหยัดพลังงานในยุคหนึ่งที่ผู้บริโภคที่ดู จะจำจดการเล่าและเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้านี้คืออะไรกำลังจะสื่ออะไร ไม่ต้องทำให้ผู้บริโภคต้องมาถามเพิ่มอย่างมากมาย
httpv://www.youtube.com/watch?v=FM_1-jis-Ks
2. ใช้คำที่ยืนยัน หรือสร้างความหนักแน่น
การใช้คำว่า “อาจจะ” “เป็นไปได้” หรือ “หวังว่า” และ “ลองดู” ต่างเป็นคำที่แสดงถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ จนถึงทำให้รู้สึกว่าอาจจะไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคนั้นรู้สึกในเชิงลบ หรือรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์อีกด้วย สิ่งที่ควรทำคือการหยุดใช้คำที่จะสื่อถึงว่า สินค้าและบริการนั้นจะทำสิ่งที่เป็นไปได้อย่างไร มาใช้คำที่บ่งบอกถึงการที่สามารถบอกได้ว่าทำได้แน่นอน ตัวอย่างเช่น “เบื่อผิวแห้งใช่ไหม ลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราสิ” เปลี่ยนมาเป็น “กำจัดผิวแห้งให้หมดไปอย่างถาวร ด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวของเรา” ซึ่งแบบแรกดูจะเป็นแบบที่เข้าถึงได้ง่ายมากกว่า แต่ในทางจิตวิทยากลับทำให้เกิดการอยากซื้อได้น้อยกว่า เพราะมีการบอกว่าต้องลอง แสดงว่าจะไม่ลองก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าต้องใช้หรือสามารถทำให้หมดไปถาวรได้ แสดงว่าต้องใช้ได้ดีแน่นอน
3. อย่าใช้คำเชิงรับ หรือดูเฉยชา
การเขียนที่ดีไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม การใช้คำที่ไม่ได้แสดงถึงอารมณ์ หรือดูเฉยชา ทำให้โพสนั้นมันดูน่าเบื่อมากขึ้นไปอีก และไม่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นการสร้างดฑสที่ดีต้องใช้คำในเชิงรุก หรือคำที่แสดงถึงความตื่นเต้นของตัวเองออกมา ทำให้เกิดอารมณ์และความสนใจอย่างมากขึ้นด้วย แถมทำให้ผู้คนนั้นไม่รู้สึกหมั่นไส้ว่าเราดูเฉย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นมา โดยไม่ได้ตื่นเต้น (ลองนึกว่าได้รางวัล แล้วเราแสดงออกมา แบบทำตัวเฉย ๆ ว่ามันควรได้อยู่แล้ว) ทั้งนี้ลองดูตัวอย่างการเขียนแบบเชิงรับ หรือดูเฉยชา แบบ “เรายินดีมาก เราได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในปีนี้” เทียบกับแบบเชิงรุก “เรายินดีมาก เราชนะในการเป็นสุดยอดเครื่องมือที่ดีที่สุดในปีนี้” จะเห็นว่าแบบหลังนั้นให้อารมณ์มากกว่า และดูสนุกมากกว่าอีก
4. ทำให้ง่าย
หลาย ๆ ครั้ง คนทำข้อความักอยากจะเขียนข้อความหรือสร้างรูปประโยคให้มันดูยาก ๆ หรือใช้คำยาก ๆ เพื่อให้ดูฉลาดขึ้นมา หรือใช้คำสวยหรูต่าง ๆ ที่ต้องมานั่งแปลความต่าง ๆ ขึ้นมา ลองนึกถึงการใช้กลอนแบบใบเซียมซี ทำให้คนอ่านต้องมานั่งตีความเหล่านี้อย่างมากมาย ซึ่งในความเป็นจริงผู้บริโภคนั้นไม่ได้มีเวลาที่จะมานั่งแปลความ หรือมานั่งเสียเวลาถอดรหัสอะไรแบบนั้น และความจริงผู้บริโภคไม่ได้มีความคิดซับซ้อนอะไรมาก ต้องการอะไรที่เข้าใจง่าย ๆ ตรงความต้องการทันที
5. เขียนและรีวิว กับ รีวิว
ในการเขียนนั้น แทนที่จะเขียนแล้วใช้เลย สิ่งสำคัญคือการที่ต้องกลับมานั่งรีวิวข้อความนั้น หรือส่งต่อให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องลองอ่านข้อความนั้นดู ว่าสิ่งที่เขียนนั้นทำให้คนที่ไม่ได้รู้เรื่องเลยเข้าใจไหม หรือกลับมาตรวจสอบว่ามีสะกดผิด เขียนผิด และการใช้คำที่พร่ำเพรือไปหรือเปล่า หรือข้อความไม่ได้ส่งผลถึงอะไรต่อไป ลองดูว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือยัง เพราะหลาย ๆ ครั้งการทำไม่ดีออกไปเพียงครั้งเดียว อาจจะทำให้จบอาชีพทางด้านนี้ไปเลย