[ข่าวประชาสัมพันธ์]
การรักษ์น้ำที่เริ่มต้นจากการสร้างความยั่งยืนในใจคนนั้นสำคัญที่สุด เอสซีจีจึงจัดทริป รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย ภายใต้โครงการ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคตเพื่อสืบสานพระราชปณิธานด้านการดูแลรักษ์น้ำดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “น้ำคือชีวิต” โดยมุ่งส่งต่อแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และชุมชนได้นำความรู้และหลักปฏิบัติจากต้นแบบ “การสร้างฝายชะลอน้ำ” ไปเผยแพร่ สานต่อ และพัฒนาในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน
เพราะ “คน” คือรากฐานสำคัญและเป็นพลังในการขับเคลื่อนความรู้และพัฒนาเรื่องการรักษ์น้ำสู่อนาคต ทริปครั้งนี้เอสซีจีเลยได้นำตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้นำชุมชนจากจังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากชุมชนที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างฝายชะลอน้ำที่จังหวัดลำปาง และแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยการเดินทางครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของน้อง ๆ หลายคนที่ได้มาเรียนรู้วิธีรักษ์น้ำด้วยการสร้างฝาย เรียกว่าจากข้อมูลที่ถูกต้องน้องๆ ทั้งคลายความสงสัย และความเข้าใจผิดเรื่องฝายชะลอน้ำในหลายแง่มุม เช่น คิดว่าฝายเป็นเขื่อนขนาดเล็กไว้สำหรับเก็บน้ำเท่านั้น
และที่สำคัญน้อง ๆ ยังมีโอกาสได้พบกับท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ถวายงานใกล้ชิดในหลวง ร.9 มาหลาย 10 ปี ซึ่งท่านที่ได้เล่าเรื่องการรักษ์น้ำของ ในหลวง ร.9 ให้ฟังว่าครอบคลุมเรื่องน้ำทั้งวงจร สรุปได้ว่า “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ทำให้เข้าใจหัวใจของการรักษ์น้ำยั่งยืน จนเมื่อน้อง ๆ กลับไปที่บ้านเกิด ไม่เพียงแต่นำความรู้เรื่องฝายไปขยายผลเท่านั้น แต่เป็นการยังปลูกจิตสำนึกและตระหนักเรื่องการรู้คุณค่าของน้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย
และทริปนี้ยังเปิดโอกาสน้อง ๆ ได้มีโอกาสลงมือสร้างฝายชะลอน้ำจริง ๆ ร่วมกับชุมชนต้นแบบอย่างใกล้ชิด พร้อมกับร่วมคิด ร่วมหาทางออกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำกับผู้นำชุมชนแต่ละจังหวัด ก่อนเดินทางกลับไปที่จังหวัดบ้านเกิด และนำความรู้นี้ติดตัวไปส่งต่อวิธีรักษ์น้ำ แก้ปัญหาการจัดการน้ำในชุมชนของตนเอง โดยชักชวนเพื่อน ๆ และคนในชุมชนมาร่วมสร้างฝายชะลอน้ำที่มีรูปแบบเหมาะสมตามของแต่ละพื้นที่ด้วย
หลังกลับมาจากการเรียนรู้ที่ลำปางและเชียงใหม่ เอสซีจีร่วมกับผู้นำชุมชนจัดทริปต่อเนื่องเพื่อส่งต่อความรู้สู่คนในพื้นที่ โดยเริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีน้ำมากฝนตกชุกเลยต้องหาวิธีจัดเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ให้นานขึ้นและฝายชะลอน้ำก็เป็นคำตอบที่ดีในการช่วยชะลอและทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเต็มที่มากขึ้น น้องๆ ที่เข้าร่วมทริปเมื่อกลับถึงจังหวัดบ้านเกิดก็รวมทีมกันมาหลายคันรถเพื่อรวมพลังสร้างฝายในพื้นที่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายชมรมของเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งต่อความรู้และลงพื้นที่จริงในชุมชนอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย
ต่อมาที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำในหลายพื้นที่อยู่แล้วจนเกิดเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ” ขึ้น การไปเรียนรู้ครั้งนี้เลยเป็นการไป เพิ่มพูนความถูกต้องของวิธีการสร้างฝาย และการพัฒนาฝายในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมต่อยอดได้ทั้งการสร้างเพิ่ม และซ่อมแซมให้ฝายอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ
ส่วนจังหวัดสุดท้ายที่เราเดินทางส่งต่อความรู้กันคือ จังหวัดขอนแก่น ชุมชนที่เข้าร่วมทริปนี้ บอกเลยว่าทริปนี้เป็นทริปที่จุดประกายเรื่องฝายให้กับคนในชุมชนอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีการสร้างฝายมาก่อน แถมยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเรื่องฝายอีกด้วย แต่เมื่อทั้งคนรุ่นใหม่ และผู้นำชุมชนได้ไปเรียนรู้จากพื้นที่ต้นแบบ รับรองได้เลยว่าต่อไปขอนแก่นจะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่จะมีฝายเป็นตัวช่วยในการจัดการน้ำชุมชนได้เป็นอย่างดีแน่นอน
การได้มีประสบการณ์จริงทั้งเรื่องการเรียนรู้ และกลับมาส่งต่อในพื้นที่บ้านเกิดตัวเองนั้น นับเป็นการสร้างคนไปพร้อม ๆ กับการสร้างฝาย หรือเปรียบกับการสร้างฝายในใจคน ซึ่งจะยั่งยืนกว่าเพียงแค่การจับหิน จับไม้มาสร้างฝายเพียงอย่างเดียว และด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเครือข่ายจากในหลายพื้นที่ในการเอื้อประโยชน์แบ่งปันข้อมูล ก็จะยิ่งช่วยสร้างให้เกิดการรักษ์น้ำที่แท้จริงจากรุ่นสู่รุ่น แผ่ขยายกว้างไกลและส่งต่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
การสร้างฝายชะลอน้ำไม่เพียงมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำไม่ท่วมในหน้าฝน ช่วยลดจำนวนการเกิดไฟป่า และความชุ่มชื้นนี้ก่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าในระบบนิเวศ จนทำให้ระบบนิเวศฟื้นคืนสมดุลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในชุมชน เพราะน้ำเป็นต้นทางทำให้มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถทำการเกษตรเพื่อก่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ชุมชนได้ตลอดทั้งปี และยังเชื่อมโยงผลไปยังประโยชน์ทางด้านสังคมอีกด้วย เพราะเมื่อชุมชนมีรายได้ที่ดีขึ้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการพูดคุยกันมากขึ้น ชุมชนก็เกิดความเข้าใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแบ่งปัน ลูกหลานกลับบ้าน ส่งผลให้คนในชุมชนและสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคตเรามีฝายชะลอน้ำทั้งหมด 77,265 ฝาย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 87,300 คน แต่นี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ความยั่งยืนของชุมชนและธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ร่วมกับการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมร่วมส่งต่อแรงบันดาลใจ ผนึกพลังคนรุ่นใหม่ในการสร้างเครือข่ายรักษ์น้ำ ปลูกจิตสำนึกให้กับคนรอบข้าง และคนในชุมชนต่อไป
สามารถชมวิดีโอสรุปภาพรวมทั้งทริปรักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทยได้ที่
ติดตามข่าวสารและโครงการต่อ ๆ ไปของโครงการ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต ได้ที่เพจ SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต : www.facebook.com/SCGWater
[ข่าวประชาสัมพันธ์]