“Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมานาน และหลายประเทศกำลังพัฒนาให้เกิดขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ Smart City หมายถึง เมืองที่ได้รับการออกแบบโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบโครงสร้างของเมือง ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ระบบข้อมูลของหน่วยงานท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ระบบขนส่ง โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า การจ่ายน้ำ การบริหารจัดการน้ำเสีย การบังคับใช้กฏหมาย และบริการชุมชนอื่นๆ ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเพื่อช่วยพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความปลอดภัย ซึ่งการจะสร้างเมืองอัจฉริยะได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
สำหรับในประเทศไทย ภาครัฐได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เน้นผลักดัน Smart City ให้เป็นกลไกสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการ “เน็ตประชารัฐ” หรือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศไทยกว่า 24,700 หมู่บ้านภายในปี 2560 และตั้งเป้าว่าภายใน 20 ปี ประเทศไทยทั้ง 77 จังหวัดจะกลายเป็น Smart City
แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องด้วยในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการจัดประกวดและออกแบบพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณาเข้ารอบสุดท้าย โครงการฯ นี้ก็ถือว่าสร้างความตื่นตัวให้สังคมอยู่ไม่น้อย
เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ World Smart Sustainable Cities Organization (WeGO) ได้จัดงานเสวนาระดับเอเชีย-แปซิฟิคครั้งที่ 3 ขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง Smart City และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
อัลตร้าบรอดแบนด์ โครงสร้างพื้นฐานของ Smart City
ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้นำด้านอุตสาหกรรมในเรื่องต่างๆ และสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะคือ เครือข่ายอัลตร้าบรอดแบนด์ (Ultra-Broadband) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีไอซีที
ในขณะที่หลายประเทศชั้นนำ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และจีน ได้ยกอัลตร้าบรอดแบนด์ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ดังนั้น เมืองที่ตั้งเป้าที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล ต้องมีการวางยุทธศาสตร์อัลตร้าบรอดแบนด์ ซึ่งในระหว่างการแชร์ข้อมูล หัวเว่ย จึงได้ยกตัวอย่างกลยุทธ์ “กิกะแบนด์ ซิตี้” ในการสร้างเมืองอัจฉริยะ
“กิกะแบนด์ ซิตี้” ยุทธ์ศาสตร์สำคัญในการสร้าง Smart City
นอกจากนี้ ภายในงาน “หัวเว่ย” ได้เผยถึงก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่เมืองอัจฉริยะ โดยชูยุทธศาสตร์ “กิกะแบนด์ ซิตี้” เป็นตัวช่วยสำคัญในการปรับโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลของเมือง ด้วยการขับเคลื่อนการลงทุน สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่ออนาคต และปูทางสู่นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ อาทิ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ กล้องซีซีทีวีความละเอียดสูง ระบบการบริหารการจราจร และโอกาสการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียนต่างๆ
ทั้งนี้ เมืองซูโจว เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ใช้กลยุทธ์กิกะแบนด์ ซิตี้ ซึ่งมีระบบไฟเบอร์บรอดแบนด์เข้าถึงทุกบ้าน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เติบโตขึ้น 60% ในระหว่างปี 2554-2559 ประชากรมีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ถึง 30% ของการใช้จ่ายทั้งหมด และสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ติดต่อกับภาครัฐลงได้ถึง 90%
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องมาจากความร่วมมือหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือ ผู้ว่าประจำเมือง หรือผู้นำในจังหวัดนั้นๆ โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาบรอดแบนด์ มีนโยบายรองรับ เพื่อรับมือกับความท้าทายและอุปสรรคในระหว่างการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ หรือปรับปรุงอาคารให้มีการเชื่อมต่อระบบไฟเบอร์ และการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนสนการชดเชยสำหรับเรื่องต่างๆ และริเริ่มให้มีกองทุนบริการ รวมถึงต้องสามารถออกกฏหมายกรอบโครงงานด้านไอซีทีที่ครบวงจร
จากความสำเร็จของเมืองชั้นนำต่างๆ ปัจจัยที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จคือ โอเปอเรเตอร์ด้านโทรคมนาคม ในการส่งมอบบรอดแบนด์ ในส่วนของกิกะแบนด์ซิตี้ในเซิ่นเจิ้น ได้รับการสนับสนุนจาก ไชน่าเทเลคอม และในเกาหลีได้รับการสนับสนุนจาก KT, SKT และ LGU+ ในโครงการกิกะบิตบรอดแบนด์