เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านจากสื่อดั้งเดิมไปสู่สื่อใหม่ ทำให้ในช่วงเราเห็นภาพของการหายไปของสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ในขณะที่สื่อทีวีเองก็ถูกสื่อดิจิทัล disrupt มากขึ้นเรื่อย ดังนั้น ในช่วงการปรับตัวของสื่อต่างๆ เพื่อความอยู่รอด เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การนำเสนอสื่อในรูปแบบเดิมๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว การเรียนรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมพร้อม จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ให้ลึกและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Contech ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ The Reinvention of Publishing Industry จัดโดย LIKEME GROUP และ NextEmpire เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาณ TCDC ไปรษณีย์กลางบางรัก โดยมีการเชิญวิทยากรที่อยู่ในแวดวงสื่อออนไลน์ชั้นนำมาร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Standard Mango Zero GMM Pantip และ ฟังใจ ซึ่งจะมาเผยถึงเคล็ดลับในการสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างไรให้โดนใจคนอ่าน พร้อมกับขั้นตอนวิธีในการผลิตงานแต่ละชิ้น และการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมคนอ่านที่เปลี่ยนไป เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัว Publisher แถวหน้าของวงการเลยทีเดียว
Mango Zero
“ใครมีรูปแบบอะไรใหม่ๆ เราลองหมด ห้ามทำท่าเดิม เราจะลองท่าใหม่เสมอ เพราะถ้าทำซ้ำแบบเดิมจะไม่รอด”
“เอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์” Managing Director เว็บ Mango Zero และผู้ก่อตั้งเว็บ MacThai ขึ้นพูดในหัวข้อ “Be Creative”
เอ็ม เล่าถึงการก่อตั้ง เว็บ Mango Zero ว่าหลังจากใช้ชีวิตฟรีแลนซ์มาได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจเปิดบริษัทชื่อว่า The Zero ซึ่งเป็นหนึ่งในบ้านใหญ่ของ Rabbit Tale ดิจิทัลเอเจนซี่ดัง โดยเพิ่งเริ่มเปิดตัวไม่ถึงปี วางคอนเซ็ปต์ของเว็บไว้ว่าเป็น “Creative Social News”ที่เน้นการใส่ความครีเอทีฟลงในคอนเทนต์ให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานกันทั้งหมด 6 คน และทุกคนเป็นได้ตั้งแต่คนเขียนคอนเทนต์ ทำภาพกราฟฟิค ตัดต่อวิดีโอ และดูแลโซเชียลฯ มีกรอบคร่าวๆ ว่าลงวันละ 7 ชิ้น
สำหรับหัวใจสำคัญของการทำงานในแบบ Mango Zero เอ็มระบุว่า มี 3 หลักด้วยกัน ได้แก่ Creative Blogger และ Technology เรียกง่ายๆว่า CBT
Creative
เอ็ม เล่าว่าทุกๆ เช้า จะมีการนั่งคุยกับทีมว่าวันนี้จะเลือกงานชิ้นไหนลงดี จากข่าวสารมากมายกว่าร้อยข่าว สิ่งที่ทำคือโยนประเด็นต่างๆ ลงไปในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก พร้อมกับหารือกันว่าประเด็นไหนต้องรีบทำ ส่วนประเด็นไหนรอได้ หรือจะเสนอในแง่มุมไหนอย่างไรกันบ้าง
นอกจากนี้ ด้วยความที่วางโพสิชั่นไว้ว่าเป็นครีเอทีฟ ไวรัล ดังนั้น จะเน้นนำเสนอเนื้อหาเชิงบวกและเบากว่าเว็บอื่น ไม่ว่าเรื่องจะหนักหรือดราม่าแค่ไหน เราก็จะเสนอในแง่มุมที่สนุกกว่าได้ เป็น Have Fun Content เช่น ดราม่าแสงเหนือที่ทำออกมา ก็ถูกแชร์ไปมากกว่าหมื่นคร้ง
Blogger
เอ็มระบุว่า ไม่ได้จบด้านนิเทศฯ ไม่ได้ทำงานด้านสื่อมาก่อน ดังั้น การเซ็ทอัพบริษัทจึงทำในรูปแบบที่ตัวเองอยากจะให้เป็น
“ผมเป็นบล็อกเกอร์มาก่อนเปิด Mango และเป็นคนทำทุกอย่างเองหมด ตั้งแต่ทำคอนเทนต์ เก็บเงิน วางบิล ตัดต่อคลิป ทำภาพ ฯลฯ ทำคนเดียวเองหมด ดังนั้น ก็เลยอนุมานว่าคนอื่นก็น่าจะทำได้หมดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในทีมจึงเลือกคนที่เป็นบล็อกเกอร์มาร่วมงาน คน 6 คนของผมทำทุกอย่างเองได้หมดด้วยคนๆ เดียว นอกจากนี้ ด้วยความเป็นบล็อกเกอร์เราเลยเชื่อเรื่องการเอาตัวเองออกสื่อ ถ้าเทียบกับสื่อการเอา บก.ออกสื่อ หรือออกหน้า ข้อดีก็คือ ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเราไม่หายหน้าไป รู้สึกใกล้ชิดกับเรามากขึ้นด้วย”
และด้วยวัฒนธรรมที่ทุกคนเป็นบล็อกเกอร์ แต่ละคนก็จะมีบล็อกของตัวเอง มีเพจของตัวเอง ดังนั้น ในเวลางาน 8 ชั่วโมงเราก็จะให้ทีมได้ไปทำงานของตัวเองเป็นเวลา 2 ชั่วโมงให้ไปทำงานที่เขารัก ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่าเพราะจะทำให้ทีมเก่งขึ้นและได้ความรู้ใหม่ๆ กลับมาอยู่ตลอดเวลา
Technology
เอ็ม ย้ำว่า ถ้าทำนิตยสารไม่เข้าใจเรื่องกระบวนการพิมพ์หรือกระดาษจะอยู่ยาก ดังนั้น สื่อออนไลน์ ถ้าไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีเลยก็คงไม่ได้ ดังนั้น จึงตั้งใจที่จะใส่ความเป็นเทคโนโลยีลงไปในคอนเทนต์มากที่สุด
“ใครมีรูปแบบใหม่ๆ อะไรเราลองหมด ห้ามทำท่าเดิม เราจะลองท่าใหม่เสมอ เพราะถ้าทำซ้ำแบบเดิมจะไม่รอด เราจะลองอะไรใหม่ๆ ทุกครั้ง เช่นการทำวิดีโอแนวตั้งเพื่อการดูบนมือถือ การใช้โดรนเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ซึ่งรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Long Form คือคอนเทนต์บทความพิเศษแบบยาว ซึ่งใส่เทคนิคพิเศษเยอะมาก เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของสื่อออนไลน์ เราได้ทำแล้วกับบทความสัมภาษณ์ โมเมนตั้ม, GDH ซึ่งลูกค้าสนใจทำหลายเจ้ามากทีเดียว แต่ใช้เวลาทำนานประมาณ 2 อาทิตย์ ดังนั้นเราจึงขายแพงมาก”
The Standard
“การทำคอนเทนต์ก็เหมือนกับวิ่งมาราธอน เราต้องห้ามหยุดนิ่ง และเรียนรู้กับความผิดพลาด แต่ต้องไม่ฟูมฟาย”
“เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์” บรรณาธิการบริหาร The Standard พูดในหัวข้อ “Be Reliable”
เคน เล่าถึงที่มาการตัดสินใจหันจากการทำงานในสื่อนิตยสารมาเป็นสื่อออนไลน์ว่า ตอนที่ทำนิตยสารเกิดคำถามว่า ใครเป็นคนอ่านของเรา เราเขียนให้ใครอ่าน แล้วดีไม่ดีอย่างไรไม่รู้เลย แล้วก็เริ่มเห็นว่าคนอ่านสามารถมีฟีดแบ็คกลับมาได้ถ้าเป็นออนไลน์ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจมาทำ The Momentum ซึ่งโลกออนไลน์มันคืออิมแพ็คที่สุดแล้ว แต่แม้จะมีสื่อออนไลน์มากมาย มีบล็อกเกอร์เต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่มีสื่อออนไลน์ไหนที่พร้อมจะเป็นสถาบันบนออนไลน์ ดังนั้น จึงอยากจะลองทำดูไปให้ถึงมาตรฐานของการเป็นสำนักข่าวออนไลน์เลย
สำหรับการเซ็ทกลุ่มเป้าหมาของ The Standard เคน บอกว่า เราพูดกับกลุ่มคนเมือง ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีสำนักข่าวไหนที่คุยเรื่องคนเมือง แต่คนเมืองก็ไม่ใช่แค่ กทม. ยังรวมถึงหัวเมืองใหญ่ด้วย คือเป็นคนสมัยใหม่ ดังนั้น เนื้อหาที่เราทำก็สอดคล้องกับแนวคิดนี้ เรานำเสนอเรื่องกิน ดื่ม เที่ยว การทำงาน ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเขาในเชิงสาระไม่เฉพาะแค่ข่าวไวรัลเท่านั้น
DNA ของ The Standard
ดังนั้น เพื่อให้การทำคอนเทนต์เป็นเอกภาพ จึงมีการเซ็ทคอนเทนต์โดยยึดหลัก 4 ข้อสำคัญนี้ โดยเคนเรียนมันว่าเป็น DNA ของ The Standard ซึ่งถ้าไม่ผ่าน 4 ข้อนี้ก็จะถูกเขี่ยให้ตกไป
- Insiderfull ทำเอง เป็นบทความต้นฉบับ
- Inspire เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่วจุดนี้ทำให้คอนเทนต์โดดเด่นด้วยการหามุมเล่าใหม่ ในมุมที่ดาร์คนั้นก็อาจจะมีประโยชน์ เป็นทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
- Interactual ให้มุมมองที่วิพากษ์วิจารณ์ได้
- Intimate คือสนุกสนานใกล้ชิดกับคนอ่าน เข้าถึงง่าย แต่ไม่ใช่ในลักษณะ Fun หรือ Sense of Humor ขนาดนั้น เราแค่ทำให้น่าเข้าถึงได้
แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เราก็จะมีการปรับแท็คติกไปเรื่อย โดยอ่านจากคำวิจารณ์ เราวิเคราะห์กันแบบรายวันตลอด ทั้งคอมเมนต์ติชมก็ปรับกันไปทุกวัน เพราะสุดท้ายแล้วสื่อออนไลน์ก็คือการวิ่งมาราธอนที่จะต้องเช็คกันตลอดเวลา
“99% คือความผิดพลาด เยอะมาก เราต้องทดลองตลอดไม่มีใครรู้ว่าอันไหนดี แต่เราต้องห้ามหยุดนิ่ง และเรียนรู้กับความผิดพลาด เราต้องไม่ฟูมฟาย แต่ต้องเรียนรู้จากมัน เช่น พาดหัวไม่ดีหรือโพสต์ผิดเวลา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการทำงานที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งคนที่ฟีดแบ็คได้ดีคือคนอ่าน แล้วเราต้องรับฟังและปรับตัวตลอดเวลา”
ในอนาคตจากนี้สิ่งที่เราอยากจะเป็นคือ การเป็นสื่อโดยเนื้อแท้ เราอยากจะยืนเคียงข้างประชาชนหมู่มาก เป็นปากเสียงให้กับคนต่าๆ ช่วยกันกระจายเรื่องดีๆ เป็นประโยชน์กับคนได้รับรู้ เราอยากเป็นสื่อที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เหมือกับสโลแกนของเราคือ Stand up for the people
GMM TV
“เอาสิ่งใกล้ตัวเล็กน้อยมาทำให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ เช่น ทิชชู่ หรือการติดไฟแดง”
แก๊ง-กีรติ ศุภวาห์ และ เอฟ-กานติมน เชาว์ไกรหัก 2 ครีเอทีฟจาก รายการเทยเที่ยวไทย และทอล์กกะเทย ของ GMM TV ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “Be Different”
โดยทั้งสองคนเผยเคล็ดลับสร้างคอนเทนต์อย่างไรให้แตกต่างว่า มันคือการหยิบเอาเรื่องราวเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว หยิบจับเอามาเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องจริงๆ เราก็พบว่า คนดูชอบ และรู้สึกอินไปกับมันด้วย เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่คนดูเองก็เคยพบเคยเจอกับตัวเองมาก่อน
ครั้งแรก! ‘OFFICE OLYMPICS 2016’ ศึกแห่งศักดิ์ศรีของชาว OFFICE GMM TV
httpv://youtu.be/XAuf96qp9-Q
เมื่อชาว Office ต้องบาดหมางกัน จึงขอร้องให้ยายช่วยด้วย
httpv://youtu.be/mFky1k35Nc0
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ เอฟ มั่นใจว่า สื่อทีวียังไม่ถูก disrupt โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ยังเห็นว่ามีคนดูในทีวีในต่างจังหวัดเยอะมาก และเชื่อว่าอีกนานเลยกว่าที่ทีวีจะถูกลดบทบาทลง
Pantip
“ถ้าเอาเวลาที่คนไทยอ่านดราม่าเพียงเรื่องเดียวเฉพาะบนเว็บพันทิปที่เดียว จะใช้เวลานานถึง 2 พันปี นั่นหมายความว่าเรากำลังเสียเวลาไปกับอะไร”
บอย–อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์ Pantip.com ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “Trustworthy Community”
บอย ระบุว่า จากสถิติกระทู้ต่างๆ เห็นได้ชัดเจนว่า คนไทยชอบเสพดราม่า เพราะพบยอดวิวกระทู้ดราม่าหลายแสนวิวในกระทู้เดียว ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ถ้าเอาเวลาที่คนไทยอ่านดราม่าเพียงเรื่องเดียวเฉพาะบนเว็บพันทิปที่เดียว จะใช้เวลานานถึง 2 พันปี นั่นหมายความว่าเรากำลังเสียเวลาไปกับอะไรรึเปล่า แต่ถ้าถามว่าอย่างนี้คนพันทิปก็ต้องชอบดราม่าล่ะสิ ก็ต้องบอกว่า ไมใช่! เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร
ทั้งนี้ Motto ของพันทิป ที่วางเอาไว้ตั้งแต่ก่อตั้งปี 1996 ซึ่งน้อยคนที่จะทราบก็คือ “ไม่มีใครรู้ในทุกๆ อย่าง เรารู้ในสิ่งที่ผู้อื่นไม่รู้ มากเท่ากับที่ไม่รู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้ เว็บนี้จึงทำเพื่อแบ่งปันความรู้ของพวกเราทุกคน”
ดังนั้น กระทู้ที่ชาวพันทิปชอบ ก็คือกระทู้ที่แบ่งปันความรู้ แล้วนำความรู้นั้นมาบอกต่อ มาแชร์กัน ซึ่งพบว่ามีทราฟฟิคที่โตมากขึ้น และมีคอนเทนต์เยอะขึ้นเรื่อยๆ เช่น กระทู้ “วิธีกำจัด แมงเม่า (ปลวกบินได้) ที่ได้ผลใน 5-10 นาที ไม่มีอันตราย ใช้เพียงถุง+เทปกาว” , “ทำไมเราถึงตบแมลงวันไม่โดนครับ??” , “ทำไมผู้หญิงชอบบอกเลิกผู้ชาย ทั้งที่ไม่อยากบอกเลิกจริง??” , “เพลงฝรั่งที่มันร้อง ต่าย ออ ระ ทัย ช่วยทีครับสงสัย” เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ากระทู้ต่างๆ ในพันทิป เกิดจากการเสิร์ชมากกว่าในโซเชียลถึง 4 เท่าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า แต่คอนเทนต์ที่เป็นประเด็นดราม่าส่วนใหญ่จะเจอโดยโซเชียลและก็มีทราฟฟิคแบบขึ้นๆ ลงๆ และเพื่อไม่กระทู้ดีๆ เหล่านี้ถูกค้นพบพันทิปจึงได้สร้าง Facebook Page ขึ้นมา เพื่อเติมลงในโซเชียลฯ เช่น ก้นครัวไม่กลัวหิว, บลูแพลนเน็ต เบ็ดเสร็จเรื่องเดียว, พันทิปนานุกรม เป็นต้น
สุดท้ายเป้าหมายของพันทิปก็คือ ผลักดันให้เกิดกระทู้ที่มีสาระดีๆ ให้แชร์ออกไป ให้มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทย
“ในอนาคต เราจะไม่ใช่แค่เว็บบอร์ด เราจะพัฒนาต่อในอนาคต มองไกลๆ 10-20 ปี ข้างหน้า อนาคตเราจะค้นหาความรู้จากผู้รู้ เป็นแพลทฟอร์มที่แก้ปัญหาให้ได้จริงๆ”
ฟังใจ
“อย่าเพิ่งตกหลุมรักไอเดียของตัวเองในครั้งแรก แต่ให้ทดลองทำก่อน มาเช็คก่อนว่าเราคิดไปเองรึเปล่า”
ทราย-พิชญา โชนะโต Content Director ฟังใจ (Fungjai) กล่าวว่า เดิมที “ฟังใจ” เป็นแพลทฟอร์มสำหรับกรฟังเพลง แต่ถ้าเป็นแพลทฟอร์มเฉยๆ ธรรมดาเราพบว่ามันไม่พอ เราจึงอยากทำให้เกิดความหลากหลายขึ้น จึงได้เริ่มมีการจัดคอนเสิร์ตเล็กบ้างใหญ่บ้าง หรือจัดเสวนา เพื่อให้เกิดพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านดนตรีด้วยกัน ทั้งคนฟังเพลงและศิลปิน
จุดเด่นของ อาณาจักร “ฟังใจ” ก็คือ แนวเพลงที่มีความหลากหลาย เป็นความสำส่อนทางรสนิยมตามที่ใจต้องการ โดยพยายามใช้เทคโนโลยีออนไลน์ที่มีราราคาถูกเพื่อการเข้าถึงคนวงกว้างได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งการสื่อสารแบบ “ออฟไลน์” อยู่ เพราะมองว่าแม้จะราคาแพงและเสี่ยงกว่า แต่การเล่นคอนเสิร์ต การพบเจอศิลปิน มันเอ็นเกจทางใจ มีมูลค่าทางใจมากกว่า ทำให้เราต้องจัดคอนเสิร์ตอยู่เรื่อยๆ
สำหรับผู้ฟังของ “ฟังใจ” แบ่งเป็น 4 ขั้นด้วยกัน
- ฟังเพราะชอบ เพราะสนุก เชื่อมต่อกับเพื่อนได้
- เพลงได้พูดอะไรกับเขาบางอย่าง หรือพูดแทนเขา เชื่อมโยงกับเพลงโดยที่ไม่สนใจว่าใครแต่ง
- เพลงบอกตัวตนของเขา บอกชีวิต และรสนิยม
- เพลงเติมเต็มเขา โดยไม่สนใจว่าใครจะชอบเหมือนกันหรือไม่ เขาแค่ต้องการค้นพบอะไรใหม่ๆ
บทสรุปของ อาณาจักร “ฟังใจ” จะเป็นแพลทฟอร์มที่ไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่มีการเอ็นเกจของคน ไม่มีคนฟัง ดังนั้น จึงต้องหาจุดกึ่งกลางให้ได้ ระหว่างคนฟังอินดี้กับคนฟังแมส ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจ user ของเรา ถ้าเขาด้วยว่าพร้อมจะรับฟังไหม ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งตกหลุมรักไอเดียของตัวเองในครั้งแรก แต่ให้ทดลองทำก่อน มาเช็คก่อนว่าเราคิดไปเองรึเปล่า นอกจากนี โลกออฟไลน์ก็สำคัญไม่แพ้ออนไลน์ เช่นเดียวกับเพลง ต่อให้เพลงล้ำสมัยแค่ไหน แต่คนก็ยังชอบที่จะฟังเพลงสดๆ อยู่ดี
น่าสนใจว่า ในการทำคอนเทนต์ของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แถมยังจะต้องแข่งกับบรรดาดราม่าที่เกิดขึ้นมากมายบนโลกโซเชียลฯ ดังนั้น สิ่งที่ทจะทำให้เราแตกต่างได้จากคลื่นมหาสมุทรคอนเทนต์ทั้งหลาย ก็คือการสร้างความโดดเด่นที่แตกต่าง ทั้งแง่การนำเสนอและการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสอดประสานเพื่อให้เกิดความใหม่และน่าสนใจ ในขณะเดียวกันแม้เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับงานคอนเทนต์จะค่อยๆ รุดหน้า แต่เราก็ยังพบว่า คอนเทนต์ในรูปแบบออฟไลน์ก็ยังโหยหาอยู่มากไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นบทสรุปที่ได้จากงานในวันนี้คือ เราต้องรู้ตัวตนของเราว่าเราเป็นใคร และปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้เราอยู่รอดได้ในยุคที่สื่อทุกแขนงถูก disrupt กันไปหมดแล้ว.