- ปัจจุบัน เราทุกคนต่างก็เป็นนักสร้างสรรค์บนโลกโซเชียลมีเดีย
- การวิจารณ์ในยุคสิ่งพิมพ์นั้นผู้วิจารณ์มุ่งหมายวิจารณ์ผลงานและสื่อสารกับผู้เผยแพร่เป็นหลัก ขณะที่การวิจารณ์ในยุคออนไลน์มีจุดมุ่งหมายซับซ้อนกว่านั้นมาก
- แม้การถูกวิจารณ์จะเจ็บปวดแต่เราอยากให้เข้าใจว่าคอนเทนต์จะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลยหากไม่มีมุมมองที่สองเข้ามาช่วยเหลือเรา
…มีคำกล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบเล่าเรื่องและปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้ทำให้คำกล่าวนี้กลายเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เราทุกคนต่างก็เป็นนักสร้างสรรค์บนโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเขียนเล็กเขียนน้อย บ่นรถติด รถเมล์มาช้า เกลียดคนนี้ ชอบคนนั้น ไปจนถึงอัดคลิปวีดีโอกิจวัตรยามเช้า ร้องเพลง เต้นรำ วาดภาพ แสดงความสามารถพิเศษ เห็นได้ว่าเราทุกคนต่างก็สามารถเป็นศิลปิน นักเขียน หรือนักร้องได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสและสามารถเป็นได้มากเท่าที่ใจเราปรารถนา
ในด้านกลับ เมื่อทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้แล้ว คนอื่นๆ ก็สามารถรับบทบาทเป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้าผู้สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างบนโลกโซเชียลฯ และจัดการมันได้อย่างอิสระ เพียงไม่กี่วินาทีพวกเขาสามารถทำลายหรือสนับสนุนคอนเทนต์ของเราได้โดยไม่ต้องแคร์ใคร พวกเขาไม่รู้สึกผิดเพราะคิดว่านี่คือโลกเสมือนที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเห็นของตัวเอง
แล้วปรากฏการณ์เหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจะมาสำรวจกัน
บรรยากาศการวิจารณ์ที่เปลี่ยนไป
ย้อนมองตัวเองสมัยก่อน เมื่อเราเขียนบทความขึ้นมาสักชิ้น แปลงานขึ้นมาสักแผ่น หลังจากนั่งสงบจิตสงบใจอ่านทวนสักรอบสองรอบ เราก็จะเริ่มเลือก “เหยื่อ” มาช่วยเราอ่านงานผ่านรายชื่อเพื่อนที่คุยกันถูกจริต เลือกมาสักคนแล้วก็ปริ๊นท์กระดาษไปให้อ่าน การวิจารณ์ส่วนใหญ่เลยเป็นแบบเห็นหน้าคือต้องมานั่งด้วยกันแล้วค่อยๆ ชี้ทีล่ะจุดว่าตรงไหนที่น่าจะเป็นข้อบกพร่องของเรา ส่วนนี้คือการวิจารณ์ก่อนเผยแพร่ และเมื่องานถูกเผยแพร่ออกไป ช่องทางที่เราสามารถรับคำวิจารณ์จากคนอ่านได้คือทางไปรษณีย์ อีเมล์ หรือในงานหนังสือ ซึ่งช่องทางเหล่านี้ “ผู้วิจารณ์” ต้องใช้ความพยายาม ต้นทุนและตั้งสติในการวิจารณ์งานของเราค่อนข้างมาก ฉะนั้นสังเกตได้ว่าคนที่วิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุ มีเวลาว่าง ใช้ภาษาถูกหลักไวยกรณ์เป๊ะและลายมือสวยกรณีเขียนจดหมายมา (ฮา) นักข่าวนักเขียนบางท่านถึงขนาดเคยเจอคนอ่านตามมาคอมเมนต์ถึงสำนักพิมพ์เลยทีเดียว
สำหรับผม การวิจารณ์ในยุคสิ่งพิมพ์นั้นผู้วิจารณ์มุ่งหมายวิจารณ์ผลงานของเราด้วยความมุ่งหมายที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น ต้องการเห็นการพัฒนา ต้องการระบายอารมณ์ ต้องการให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่าง และอื่นๆ โดยใจความหลักอยู่ที่การสื่อสารกับผู้เผยแพร่อย่างตรงไปตรงมา
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคออนไลน์และเราต้องย้ายตัวเองขึ้นมาทำงานบนโซเชียลมีเดีย ส่วนแรกเลยคือเราไม่สามารถจิกเพื่อนมานั่งวิจารณ์งานของเราได้ง่ายๆ เนื่องจากการอัพข้อมูลผ่านโลกโซเชียลมีเดียต้องเร็วและไวยิ่งกว่ายุคสิ่งพิมพ์ (อย่าว่าแต่การวิจารณ์เลย แผนกพิสูจน์อักษรขององค์กรสื่อหลายสำนักก็ยังไม่มี) และเมื่อคลิกเผยแพร่ออกไป คนที่เรา “พูดคุยด้วย” ล้วนมีความหลากหลายและพร้อมโดดเข้ามาวิจารณ์งานของเราเนื่องจากการคอมเมนต์ในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร “ความพยายามและเวลา” ให้มากมาย
ความพิเศษอันแตกต่างของการวิจารณ์บนยุคโซเชียลมีเดียอีกอย่างหนึ่งคือการที่คอมเมนต์ของผู้วิจารณ์ปรากฏขึ้นทันทีบนโพสต์ของผู้เผยแพร่ ข้อดีส่วนหนึ่งคือทำให้เกิดการตอบสนองจากผู้เผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว (และหลายครั้งก็ฟาดฟันรุนแรง) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อทุกคนสามารถมองเห็นคอมเมนต์ของผู้วิจารณ์ได้ หลายครั้งการวิจารณ์บนโลกโซเชียลมีเดียจึงเป็นการ “ประกาศตัว” ผ่านโพสต์ของผู้เผยแพร่ว่าฉันมีอุดมการณ์ มีความคิด มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาดกับเรื่องนั้นๆ อย่างไรต่อสาธารณะ (ซึ่งไม่ใช่การสื่อสารกับผู้เผยแพร่เป็นหลักอย่างที่เข้าใจ) ดังนั้นเราจะพบหลากหลายคอมเมนต์ที่ไม่ได้พูดกับเราแต่เพียงการยืนขึ้นและเปล่งเสียงความคิดของตัวเองออกมาดังๆ เพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นๆ ได้ยินมากกว่า
มองในมุมหนึ่ง คอนเมนต์ในยุคโซเชียลมีเดียจึงมีมิติที่หลากหลายกว่าการสื่อสารกับตัวผู้เผยแพร่โดยตรงในยุคสิ่งพิมพ์ เพราะบางครั้งคอมเมนต์ของผู้วิจารณ์ก็เหมือนการย้ำกับตัวเองเฉยๆ ว่าฉันจะมีจุดยืนต่อเรื่องนี้ในแบบไหน บางครั้งก็เป็นการประกาศหาแนวร่วมที่มีความคิดในทำนองเดียวกัน (ผ่านยอดไลค์และการแสดงอารมณ์) และบางครั้งก็เป็นการประกอบสร้างตัวตนของผู้วิจารณ์ให้เครือข่ายสังคมของตนเองเห็น
แล้วแบบนี้เราจะรับมือกับคอมเมนต์มหาศาลที่ท่วมท้นเข้ามาอย่างไรดี…
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้สวมหัวโขนผู้เผยแพร่แล้วล่ะก็ ก่อนอื่นคุณต้องเปลี่ยนความคิดเสียก่อน อย่าคาดหวังว่าคอมเมนต์ทั้งหมดนั้นมุ่งหมายจะพูดคุยกับคุณอย่างจริงจัง นั้นไม่จริงอย่างที่สุด ระลึกไว้เสมอว่าบางครั้งเราอาจเป็นเพียงทางผ่านให้ผู้วิจารณ์บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของตัวเองซึ่งเราไม่มีวันคาดเดาได้เลย
หน้าที่แรกของเราคือการคัดกรองคอมเมนต์ที่มุ่งหมายจะพูดกับเราโดยตรงผ่านการสแกนสายตาอ่านผ่านๆ ขั้นตอนนี้บอกเลยว่าท้าทายความอดทนมากเพราะเราจะต้องเจอกับคอมเมนต์ที่เต็มฟูไปด้วยอารมณ์ แต่ขอให้สงบจิตสงบใจและสกัดเอาสาระออกจากอารมณ์เหล่านั้นให้ได้ สุดท้ายเราจะเหลือก้อนความคิดบางอย่างที่สามารถนำไปสู่การปรับปรุงผลงานของเราได้
แต่ก่อนที่คุณจะนำคอมเมนต์เหล่านั้นไปปรับใช้กับงานของคุณเลย เราขอแนะนำว่าคุณควรมีเมนเทอร์ที่คุณสามารถเข้าถึงกันได้แบบเห็นหน้าเห็นตาหรือติดต่อกันแบบตัวต่อตัวได้ อาจเป็นเจ้านาย อาจเป็นรุ่นพี่ อาจเป็นบรรณาธิการที่คุณไว้ใจและวิเคราะห์ดีแล้วว่าเขาหรือเธอมีศักยภาพเพียงพอที่จะอ่านปรากฏการณ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ยื่นงานของคุณพร้อมคอมเมนต์ที่คุณสกัดมาให้พวกเขาอ่านแล้วนั่งทบทวนมันไปด้วยกัน
หน้าที่ของเมนเทอร์ที่ดีก็ไม่ใช่การ “จับผิด” ว่า อ๊ะ! ตรงนั้นเธอสะกดผิด อ๊ะ! ตรงนั้นเธอลืมใส่ข้อมูล เพียงอย่างเดียว (ย้ำว่าเรื่องเหล่านี้ก็สำคัญแต่เป็นเรื่องลำดับรองลงมา) แต่เป็นการมององค์รวมของคอนเทนต์ชิ้นนั้นว่าความคิดโดยรวมโอเคหรือเปล่า ถ้าไม่โอเคอะไรคือจุดบกพร่องที่ควรหาข้อมูลเพิ่มเติม อะไรควรปรับแก้ ถ้าโอเคแล้วค่อยลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเป็น “การบ้าน” ให้ผู้เขียนไปทำมาและใช้ปรับปรุงงานเขียนในคราวหน้า และที่ชวนสังเกตคือหน้าที่ของเมนเทอร์คือการทำความเข้าใจงานเขียนผ่านการถาม-ตอบกับผู้เขียน มากกว่าการตีความเองแล้วชี้นิ้วผิดถูกลงไป เพราะการสื่อสารที่สมบูรณ์คือการสื่อสารสองทางระหว่างเมนเทอร์กับผู้เขียนนั้นเอง
สุดท้าย แม้การถูกวิจารณ์จะเจ็บปวดแต่เราอยากให้เข้าใจว่าคอนเทนต์จะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลยหากไม่มีมุมมองที่สองเข้ามาช่วยเหลือเรา แต่หน้าที่ที่สำคัญของเราคือการแยกแยะคอมเมนต์ที่มีคุณภาพออกมาและนำมาปรับปรุงผลงานอย่างจริงจัง ส่วนคอมเมนต์ที่ไม่มีคุณภาพก็เพียงยิ้มให้กับมันและพูดคำว่า…“ขอบคุณนะครับ”