หลายพฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจกับนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนก็เป็นกลุ่มที่ทำเงินให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมากมายทีเดียว
ทั้งนี้ Hotels.com™ เผยผลสำรวจข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน หรือ Chinese International Travel Monitor (CITM) ประจำปีครั้งที่ 6 เป็นการยืนยันข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนต่างเทใจเลือกให้ ประเทศไทยเป็นสุดยอดแห่งดินแดนที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนดีที่สุด แซงหน้าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง
นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่เพิ่มสูง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงลักษณะของ ‘กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนรุ่นใหม่’ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความต้องการและความชื่นชอบในรูปแบบการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม
ทั้งนี้ Hotels.com™ ได้ทำการสำรวจข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ 6 ผ่านการสอบถามความคิดเห็นของชาวจีนกว่า 3,000 คน และพันธมิตรธุรกิจที่พักอาศัยในเครือ Hotels.com กว่า 3,800 ราย ใน 38 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการด้านธุรกิจโรงแรมทั่วโลก ให้สามารถปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น ดังที่เห็นได้จากผลสำรวจ
นทท.จีนใช้จ่ายเงินต่อหัว 120,000 บาทต่อคน
แม้ว่า ตัวบ่งชี้สำคัญหลายประการจะส่อแววให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ผลสำรวจ CITM ในปีนี้กลับพบว่าชาวจีนในทุกช่วงวัยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวสูงขึ้น โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชาวจีนได้ใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยสูงถึง 3,600 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 120,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของรายได้ และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 24%
นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวจีนยังใช้เงินโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 28 ของรายได้เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างแดน โดยมีชาวจีนรุ่นมิลเลนเนียลที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามากที่สุด คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึงร้อยละ 35 ของรายได้
นทท.จีนกลุ่ม Millennial เที่ยวบ่อยขึ้น นานมากขึ้น
นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ในทุกช่วงวัยเดินทางบ่อยขึ้น และยาวนานขึ้น จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยของการท่องเที่ยวต่อปีได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง และจำนวนวันต่อการท่องเที่ยวหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 5 วันในปีที่แล้ว มาเป็น 7 วัน นักท่องเที่ยวจีนยังใช้โอกาสในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งเพื่อเยือนเมืองหลาย ๆ แห่ง โดยกว่าร้อยละ 80 กล่าวว่าพวกเขาจะไม่พักอยู่แค่เมืองใดเมืองหนึ่งเท่านั้น
การใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อวันในระหว่างการท่องเที่ยวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 8 และ กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การรับประทานอาหาร การเยี่ยมชมทิวทัศน์ และกิจกรรมผักผ่อนหย่อนใจต่างๆ ในขณะเดียวกัน การช้อปปิ้งกลับลดฮวบจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 35 เป็นการชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีรูปแบบความชื่นชอบที่หลากหลาย และมีความรอบรู้ในเรื่องการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
แอพฯจองที่พักบนมือถือ ได้รับความนิยมสูงสุด
‘สบายๆ ง่ายๆ’ ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวจีนชื่นชอบ ทั้งนี้ CITM คาดว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจะทำการจองการเดินทางผ่านระบบกรุ๊ปทัวร์ลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่จะใช้เวลาในการหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น (ใช้เวลาประมาณ 12 วัน) และมักจะเริ่มวางแผนล่วงหน้าก่อนการเดินทางนานถึง 1 – 2 เดือน
ที่น่าสนใจคือ วิธีการสำรองที่พักที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการใช้งานกันอย่างล้นหลาม คือการใช้ ‘แอพพลิเคชั่นบนมือถือ’โดยผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนสูงถึงร้อยละ 46 ได้ทำการสำรองที่พักผ่านมือถือในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยอีก ร้อยละ 17 ใช้วิธีการจองผ่านเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในอันดับที่สอง
นทท.จีนสูงวัย เริ่มสนใจเที่ยวแบบแบ็กแพ็กมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดที่น่าจับตาคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย หรือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี และ 70 – 79 ปี ซึ่งจากการสำรวจ ระบุว่าพวกเขาต้องการที่จะท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 และ 21 ตามลำดับ
Opportunity ของผู้ประกอบการ ในการดูแล นนท.จีน
ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยพบว่าในปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 68
นอกจากนี้ รายงานผลการสำรวจระบุว่าโรงแรมทั้งหลายต่างมุ่งความสนใจไปที่การจัดทำโปรแกรมทางการตลาดและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน และผลจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดนี้เอง จึงทำให้โรงแรมทั้งหลายกล่าวว่าการลงทุนในเรื่องบริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นลดลง รายงานนี้เผยให้เห็นถึงช่องว่างอย่างเด่นชัดระหว่างสิ่งที่โรงแรมนำเสนอเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกค้าชาวจีนต้องการ
- วิธีการชำระเงินของชาวจีนที่โรงแรม อาทิ การจ่ายด้วยบัตรยูเนียนเพย์ (UnionPay) ซึ่งผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้สูงเป็นอันดับที่สอง แต่ในสายตาของผู้ประกอบการโรงแรมในไทยมองว่าเงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด (ร้อยละ 35) ตามมาด้วยการจ่ายด้วยบัตรยูเนียนเพย์ (ร้อยละ 29) ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมจับจ่ายด้วยบัตรยูเนียนเพย์
- พนักงานโรงแรมที่พูดภาษาจีนกลางได้ สิ่งนี้เป็นหนึ่งในคำร้องขอลำดับต้นๆ ของลูกค้าชาวจีน แต่เป็นเรื่องที่บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยมีแผนที่จะยกระดับบริการให้ลูกค้าชาวจีนโดยร้อยละ 35 จะพุ่งความสำคัญไปที่โปรแกรมทางการตลาดเฉพาะกลุ่ม และร้อยละ 38 มีแผนที่จะขยายสื่อสังคมของตนให้ครอบคลุมและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่มีแผนจะเพิ่มพนักงานหน้างานที่พูดภาษาจีนกลางได้
- ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ภัตตาคารหรือร้านอาหารจีนในโรงแรม ร้านค้าในโรงแรม และรูมเซอร์วิส เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนรุ่นมิลเลนเนียลใช้จ่ายเงินมากที่สุดในอันดับที่หนึ่ง สอง และสาม ตามลำดับ แต่ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยกลับระบุว่าบริการสปาของโรงแรมเป็นสิ่งที่ลูกค้าชาวจีนใช้จ่ายเงินมากที่สุด และมากกว่าลูกค้าจากประเทศอื่นๆ
โดยรวมแล้ว ห้าข้อหลักที่นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องการให้ผู้ประกอบการโรงแรมไทยพัฒนาเพิ่ม ได้แก่
- พนักงานโรงแรมที่พูดภาษาจีนกลางได้
- การรองรับวิธีชำระเงินของชาวจีน
- บริการรถรับส่งในพื้นที่
- มัคคุเทศก์ภาษาจีนกลาง
- ภัตตาคารหรือร้านอาหารจีนในโรงแรม
ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
นักท่องเที่ยวชาวจีนรุ่นใหม่สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2559 มีผู้คนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวน 122 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 4 และสูงกว่าปี 2554 ถึงร้อยละ 74
นายอภิราม ชาวดรีย์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการของ Hotels.com ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและลาตินอเมริกา กล่าวว่า ศักยภาพการเติบโตทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน และอำนาจซื้อของพวกเขานั้นมีมากมายมหาศาล
“ผลวิจัยของเราระบุว่า นักท่องเที่ยวขาออกของจีนนั้นสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลให้กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้น โรงแรมทั้งหลายจึงจำเป็นต้องนำเสนอสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน และพัฒนาบริการนวัตกรรมเพื่อรองรับกับกำลังซื้อมหาศาลของพวกเขา
ประเทศต่างๆ ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจับตามองว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวที่กำลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต ดังนั้น นอกเหนือไปจากการหาบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับกับความต้องการในรูปแบบจำเพาะของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว การเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งตลอดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้”
สุดยอดจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งใจไปเยือนมากที่สุดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (จากผลสำรวจของ CITM)
อันดับ 1 ได้แก่ ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา 18%
อันดับ 3 ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา 16%
อันดับ 5 ได้แก่ เยอรมนี 12%
อันดับ 6 ได้แก่ มัลดีฟส์ 11%
อันดับ 7 ได้แก่ ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สิงคโปร, ไทย และสหราชอาณาจักร 10%