[ข่าวประชาสัมพันธ์]
จากจุดเริ่มต้นในงาน “Startup Thailand 2016” เมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย และการรวมกลุ่มของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่รวมเอาสตาร์ทอัพสัญชาติไทยกว่าร้อยรายมานำเสนอแนวคิดต่าง ๆ ภายในงาน รวมถึงเชิญชวนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันต่อผู้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่สนใจใคร่รู้ว่า Startup จะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของพวกเขามากเพียงใดในอนาคตอันใกล้นี้
Startup Thailand เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเครือข่ายภาคเอกชน มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคต่างๆ รับรู้และมีโอกาสในการเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นและเป็นการเน้นย้ำในจุดยืนของรัฐบาลที่มีความตั้งใจต่อการสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และส่งเสริมศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้สามารถเติบโตออกไปยังระดับสากลได้อีกด้วย
การจัดงาน Startup Thailand ในครั้งที่ผ่านได้มาก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ ได้แก่ เกิดการรวมตัวของสตาร์ทอัพในประเทศไทยเป็นครั้งแรก การนำเสนอมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพในรูปแบบบูรณาการจากรัฐบาล โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 36,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่นับว่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
หนึ่งปีที่ผ่านไปของสตาร์ทอัพไทย
สามร้อยหกสิบกว่าวันที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมในสังคมวงกว้าง ด้วยเห็นความสำคัญของวิสาหกิจแห่งอนาคตเหล่านี้ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้สภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่ถือเป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพแพร่กระจายทั้งในมิติที่กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว
จากการที่ Startup Thailand จัดเวิร์กช็อปในไทยหลายครั้ง ทำให้พบแนวโน้มความเป็นไปได้ในการเติบโตของสตาร์ทอัพ 9 สาขา ได้แก่
- เกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup)
- การแพทย์และสาธารณสุข (MedTech/ Health Tech)
- การเงินและการธนาคาร (FinTech)
- การศึกษา (EdTech)
- การท่องเที่ยว (TravelTech)
- ไลฟ์สไตล์ (LifeStyle)
- พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
- ภาครัฐ/การศึกษา (GovTech/EdTech)
- อสังหาริมทรัพย์ (Property Tech)
โดยเฉพาะ Fintech ที่พัฒนาได้ไกลและว่องไวมากเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพอื่นๆ ในประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลนำกฎหมายหลายๆ ข้อมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้ตามทันการเติบโตของสตาร์ทอัพที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพซึ่งนอกจากในฝั่งของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เข้ามาร่วมด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่บริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับโทรคมนาคมที่บุกเบิกวงการนี้ก่อนใคร ตามมาด้วยธุรกิจการเงิน สังเกตได้จากการที่ธนาคารทุกธนาคารมีกองทุนเพื่อสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ และล่าสุดก็คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ริเริ่มก่อตั้ง Corporate Venture Capital หรือ CVC ขึ้นมาเพื่อลงทุนให้แก่สตาร์ทอัพคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างน่าสนใจ จึงจะเห็นว่าเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรมที่ดีและมีคุณค่า เพราะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้องค์กรใหญ่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
เพื่อเป็นการส่งเสริมการเติบโตของบรรดาสตาร์ทอัพในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้กำหนดจัดงาน Startup Thailand 2017 ในวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมุ่งเป้าไปยังการกระตุ้นให้เกิดการ “Scale Up” หรือการขยายขนาดธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงในตลาดประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการก้าวออกไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากลด้วย เพื่อเป็นการแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความร่วมมือของสตาร์ทอัพทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียต่อไป
งานนี้มีอะไรบ้าง
Startup Thailand 2017 จะเป็นครั้งแรกที่รวมเอาสตาร์ทอัพกว่า 300 รายมาอยู่ในงานเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ฟังบทเรียนจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ รวมถึงยังได้นำเสนอแนวคิดต่อกลุ่มนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสใหม่ๆ และพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย
เวทีหลักจะมีปาฐกถาพิเศษจากนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาของวิทยากรระดับนานาชาติ เปิดมุมมองที่กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ผ่านประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สตาร์ทอัพไทยขยับขยายไปสู่เวทีสากลได้ในเร็ววัน
ภายในงานมีการจัดเสวนาทั้งเพื่อสตาร์ทอัพโดยตรงและบุคคลทั่วไปที่สนใจ รวมเอาทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตาร์ทอัพมาไว้ในที่เดียวกัน
การให้คำปรึกษาโดยพี่เลี้ยงมากประสบการณ์แบบตัวต่อตัว (Mentoring Session)
กิจกรรมสร้างเครือข่ายสำหรับสตาร์ทอัพ (Networking Session)
เวทีการแข่งขันพิชชิ่ง (Pitching) ในปีนี้ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกขั้นด้วยการจับเอาสุดยอดของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยมาแข่งขันนำเสนอไอเดียกันในวันสุดท้าย โดยเริ่มจากการตระเวนไปตามจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ ชลบุรี หาดใหญ่ ขอนแก่น เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ คัดเลือกหัวกะทิของแต่ละภาคมาแข่งขันกันในงานแบบสดๆ ในวันสุดท้ายของงาน โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสหราชอาณาจักรอย่าง Bill Murrow นักลงทุนที่ก่อตั้งสมาคมขึ้นมาสำหรับนักลงทุนสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ จึงสามารถนำเสนอมุมมองของผู้ที่เลือกบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับสตาร์ทอัพดาวรุ่งได้เป็นอย่างดี กรรมการอีกท่านคือ Andrew Tan นักลงทุนมากประสบการณ์จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนธุรกิจที่หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในวงการเทคโนโลยีเท่านั้น
ความพิเศษของ Startup Thailand 2017 ในปีนี้คือการส่งเสริมภาคการศึกษาให้พร้อมสำหรับการพัฒนาไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น โดยมีนิทรรศการจัดแสดงแผนธุรกิจและผลงานต้นแบบของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในความร่วมมือของโครงการ Innovative Startup จำนวนกว่า 30 มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเบื้องหลังหลักสูตรต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะเสริมสร้างศักยภาพ เตรียมความพร้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ข้อจำกัด อุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงาน ผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง
Highlight of The Day
6 JULY 2017 / 15.00 – 15.20 น.
* “Global situation on early stage investment in Startup” โดย Jonathan Ortmans,
ฟังบรรยายจาก Jonathan Ortmans ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการเครือข่ายผู้ประกอบการโลก Global Entrepreneurship Network (GEN) องค์กรนานาชาติด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ ในรูปแบบของแพลตฟอร์มให้ความช่วยเหลือในการริเริ่มสร้างตัวของบริษัทหน้าใหม่และการขยายธุรกิจในประเทศต่าง ๆ กว่า 160 ประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลก
6 JULY 2017 / 15.30 – 16.00 น.
* “Startup Investment: Are We in the Bubble?” โดย Eitan Lavi
รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุน จากปากของ Venture Capital ตัวจริงเสียงจริง อย่าง Eitan Lavie ประธานบริษัท AGW Group จากอิสราเอล บอกเล่าความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเรากำลังอยู่ในฟองสบู่ที่รอวันแตกหรือไม่
7 JULY 2017 / 10.00 – 10.45 น.
* Panel session: “Business Brotherhood: Big Corporates and Startups” โดย Transcosmos
เข้าใจการทำงานระหว่างสตาร์ทอัพหน้าใหม่กับบริษัทใหญ่ยักษ์ให้มากขึ้น ผ่านประสบการณ์ของ Oleg Brodt, R&D Director ของ Deutsche Telekom Innovation Labs จากอิสราเอลและตัวแทนของ Mizuho Bank จากประเทศญี่ปุ่น
7 JULY 2017 / 13.30 – 14.15 น.
*Unleash the Potential of Entrepreneurial University
มองหาความเป็นไปได้อันไม่จำกัดจากคลื่นลูกใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนปัจจุบัน จะมากล่าวถึงการสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของความเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการทักษะที่แตกต่างกัน ร่วมกับดร.Ching Yao Huang ผู้อำนวยการ Center of Industry Accelerator and Patent Strategy แห่งมหาวิทยาลัย National Chiao Tung จากไต้หวัน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ริเริ่มศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ Hatch ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่สนใจทำนวัตกรรมมีเครื่องมือที่จะทดลองสร้างธุรกิจต่อไป
7 JULY 2017 / 16.30 – 17.00 น.
* Keynote speech “The Road for Successful Startup: Lessons Learned from Over 500 Failed Startups”
เรียนรู้หนทางการทำงานสู่ความสำเร็จจากบทเรียนของความล้มเหลว โดย Yossi Shavit แห่ง Yozma (Initiative) Consulting จากอิสราเอล เพื่อให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้เข้าใจว่า “ทำไมความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติของสตาร์ทอัพ”
8 JULY 2017 / 11.30 – 12.00 น.
* Keynote Speech “Confessions of a Venture Capitalist”
เปิดโลกความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในวงการสตาร์ทอัพระดับโลกกับ Andrew Tan จาก TinkBig Venture ผู้เคยล้มละลายมาแล้วถึงสองครั้งแต่ก็ยังยืนหยัดในโลกธุรกิจได้อย่างมั่นคงจากการลงทุนในหลากหลายสาขาอาชีพอย่างช่ำชอง
8 JULY 2017 / 13.30 – 14.50 น.
* Regulatory Sandbox
เปิดสนามทดลองกิจการนวัตกรรมที่น่าดำเนินการแต่อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายยังไปไม่ถึง เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยวัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Thai (TTSA) คนปัจจุบัน และกูรูด้านการเงินอย่างกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
8 JULY 2017 / 16.05 – 16.35 น.
*Japanese Tech-based Startup: From Lab to Market
บทเรียนจากสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีแห่งแดนอาทิตย์อุทัย บรรยายโดย Satoshi Sugie ซีอีโอแห่ง WHILL IncHironori Miyauchi ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจาก QD Laser, Inc และ Takahiro Iwamiya ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริการแห่ง Metcela Inc จะมาเล่าให้เราฟังตั้งแต่การก่อร่างสร้างไอเดียในห้องแล็บไล่ไปจนถึงการออกสู่ในตลาด
9 JULY 2017 / 13.30 – 14.45 น.
*Panel Discussion “Building Up Innovation District for Next Generation”
ร่วมคิดร่วมสร้างพัฒนาพื้นที่่ย่านนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับคนทำสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างสังคมแห่งการพัฒนาและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านต้นแบบอย่าง Barcelona; 22@ Innovation District โดย Jordi Maluquer ผู้อำนวยการบริษัท Catalonia Investment Office ในสิงคโปร์ และ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตนะ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ Yossi Shavit แห่ง Yozma (Initiative) Consulting จากอิสราเอล
[ข่าวประชาสัมพันธ์]