Innovative Idea: เก็บถาดหรือไม่เก็บถาด? ดราม่าสะท้อนความคิดชาวโซเชียลฯ

  • 3.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

KFC drama2

  • การหันมาทบทวนตัวเองของมนุษย์ในยุค “สังคมความเสี่ยง” ทำให้เกิด “ความสำนึกผิด” ละเลยไปถึงความพยายามผลักดันและสร้างตัวตนให้เป็นคนดีโดยเฉพาะบนเครือข่ายสังคมออนไลน์
  • พึงตระหนักว่าการช่วยเหลือและความเห็นใจเป็น “สิทธิ” ทำได้ก็ดีแต่ไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนช่างแย่และสมควรถูกประนามออกสื่อ
  • การมองปัญหาอย่างรอบด้านด้วยความคิดเชิงเหตุผลช่วยลดระดับความดราม่าได้อย่างมีนัยสำคัญ 

กระแสดราม่าล่าสุดที่มีประเด็นน่าหยิบยกมาทำความเข้าใจโลกโซเชียลมีเดียปัจจุบันคือโพสต์ของคุณ Warit Ritthiphetchamphorn ซึ่งเตือนสติคนไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในร้านฟาสฟู้ดแล้วไม่เก็บเศษอาหารหรือถาดอาหารให้เรียบร้อย ปล่อยให้พนักงานของร้านอาหารต้องเก็บเองทั้งหมด

ระดับดราม่าของประเด็นนี้พุ่งสูงขึ้นเมื่อมีการโยงว่าพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ไม่ใช่ทาสที่ต้องมาคอยเก็บถาดอาหารให้ลูกค้านะ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเมืองนอกที่เป็นต้นตำรับก็ไม่มีบริการเก็บถาดอาหารให้ซะหน่อย ทำไมพอมาถึงประเทศไทยเราถึงปล่อยถาดเกะกะแบบนี้ เลยเถิดถึงการวิจารณ์คนไทยว่าไม่มีระเบียบ รักสบายจนเคยตัวเลยต้องทิ้งภาระให้พนักงานเงินเดือนแสนต่ำต้อยมารับผิดชอบทุกอย่าง อายกันบ้างนะครับ

KFC drama

รากเหง้าของกระแส

ผมเคยเขียนไปครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง สังคมความเสี่ยง เมื่อโลกทุกวันนี้ช่างอันตราย มีภัยคุกคามอยู่รอบตัว มนุษย์จึงต้องระแวดระวังไปทุกฝีเก้าและตกอยู่ในความหวาดกลัวตลอดเวลา ความเสี่ยงตรงนี้ก่อให้เกิดกระแสต่างๆ มากมายและหนึ่งในนั้นคือกระแสการ “กลับมาทบทวนตัวเอง” ของมนุษย์โลก (การสะท้อนย้อนคิด) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี้

เมื่อโลกตรงหน้าเหมือนจะล่มสลายลงทุกวัน มนุษย์ผู้รู้สำนึกต่างหันกลับมาทบทวนว่าการที่เราทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง การที่เรากินทิ้งกินขว้าง การที่เราไม่เคยบริจาคเงินให้มูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าเลยเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เกิดปัญหาอาชญากรรม เกิดสงครามก่อการร้ายหรือเปล่านะ ความสำนึกนี้เลยเถิดไปถึงการหวนไปสำนึกต่อสิ่งนามธรรมที่เราเคยละเมิดหรือไม่เหลียวแลมาตลอด ตัวอย่างเช่น บาปบุญคุณโทษ ความกตัญญู ศีลธรรม ฟังดูอาจนึกภาพไม่ออกแต่ลองมองพวกกระแสปลูกป่าที่มาเข้าคู่กับการทำความดี ปั่นจักรยานลดโลกร้อนที่ไปผูกโยงกับการทำบุญเพื่อเด็กด้อยโอกาส มองรวมๆ คนสายนี้ก็จะเชื่อว่าการที่เราต้องมาเจอความเสี่ยงมากมายในโลกปัจจุบันนั้น นอกจากเพราะเราไม่รับผิดชอบต่อการกระทำแล้ว เรายังไม่รับผิดชอบต่อความคิดของเราด้วย เข้าทำนอง ไม่ “คิดดี พูดดี ทำดี” สังคมเลยแย่

ดังนั้น ตรรกะง่ายๆ เมื่อเราต้องการกลับไปหาแผ่นดินที่สงบสุขและปราศจากความเสี่ยงเหมือนในสมัยแม่พลอยที่ช่างไร้มลพิษ ไร้ภาวะโลกร้อน ไร้การตีรันฟันแทง (ซึ่งยังไม่ถามต่อไปว่าจริงไหม?) นอกจากเราจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เรายังต้องเป็น “คนดี” ตั้งแต่ความคิด ไม่ใช่เพียงเปลือกนอกแต่ต้องลึกลงไปในระดับตัวตนเลยทีเดียว

ปัญหาที่เกิดขึ้น

ปัญหาหลักที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความอยากเป็นคนดีของคนกลุ่มนี้ (ย้ำว่าการเป็นคนดีหรืออยากเป็นคนดีไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องไม่ดีเพราะมันมีประโยชน์อย่างแน่นอน) แต่ปัญหาเกิดเมื่อเขาเหล่านั้นอยากให้ทุกคนเป็นคนดีเหมือนตนและเมื่อใครก็ตามไม่ทำตามความดีในแบบที่ยึดถือ…เขาเหล่านั้นกลับกลายเป็นคน “ไม่ดี” ไม่รับผิดชอบ ไม่รักสังคม และควรถูกประณามออกสื่อ เลยเถิดถึงบางครั้งก็น่ากำจัดให้หมดไปจากสังคมซะที เมื่อถึงขีดสุดเราจะเห็นเหตุการณ์จำพวก “ล่าแม่มด” เกิดขึ้น ซึ่งเนื้อแท้แล้วไม่ได้ทำเพื่อล่าคนผิดแต่ทำเพื่อเปล่งรัศมีความเป็นคนดีของตนเองให้เจิดจรัสขึ้นอีก

เราไม่สามารถฟันธงได้ว่ากรณีหนุ่มบิ๊กไบค์นี้เป็นไปตามความคิดข้างต้น 100% หรือไม่ หากแต่ชัดเจนว่าการฟันธงว่าใครผิดใครถูกโดยไม่มองข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนน่าจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่นัก ด้านหนึ่ง หนุ่มบิ๊กไบซ์ก็อาจพูดถูกว่าการทิ้งภาระให้พนักงานรับผิดชอบทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่มีน้ำใจ แต่อีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่างานบริการเหล่านี้เป็นหน้าที่ของบริกรซึ่งได้รับค่าจ้างมาเพื่อทำหน้าที่ แน่นอนว่าในหลายประเทศพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดไม่ได้มีหน้าที่ในการเก็บถาดเก็บจานด้วยแต่นั้นเป็น “ข้อตกลง” ของแต่ล่ะสังคมที่แตกต่างกันออกไป สำหรับสังคมไทยร้านค้าตกลงกับเราที่จะมีบริการ “เก็บและอำนวยความสะดวก” ทั้งหมดเหล่านี้โดยแลกกับราคาค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ในต่างประเทศ อาหารฟาสต์ฟู้ดมีราคาถูกกว่าร้านอาหารทั่วไปมากแต่ในเมืองไทยกลับแพงกว่าเกือบเท่าไปซะได้)

อีกด้านหนึ่งเราอาจต้องมองด้วยว่าการจ้างงานเป็นไปตามภาระงานที่มี ในต่างประเทศเราจะเห็นว่าพนักงานร้านสะดวกซื้อมีจำนวนไม่เกิน 4-8 คนต่อหนึ่งร้านเนื่องจากไม่ต้องบริการ มีเพียงงานรับออเดอร์ เตรียมอาหารเท่านั้น แต่สำหรับประเทศไทยเนื่องจากภาระงานร้านฟาสต์ฟู้ดมีมากมายเหลือเกินดังนั้นปริมาณพนักงานก็มากตามไปด้วย คำถามคือแล้วถ้าวันหนึ่งไม่มีงานเหล่านี้ให้พวกเขาทำ เราคิดว่าบริษัทจะเก็บพนักงานที่ไม่มีงานทำเหล่านี้เอาไว้หรือไม่? มากไปกว่านั้นบริษัทจะลดค่าอาหารให้เราเหมือนอย่างที่เมืองนอกเป็นหรือไม่?

สุดท้าย ในความเห็นผมการเก็บหรือไม่เก็บถาดในร้านฟาสต์ฟู้ดซึ่งเราได้จ่ายเงินซื้อบริการเหล่านี้ร่วมไปกับค่าอาหารแล้วถือเป็น “สิทธิ” ที่เราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ยกตัวอย่างก็เหมือนการกินข้าวตามร้านอาหารทั่วไปหากเราเดินยกจานข้าวไปเก็บเองพนักงานก็คงดีใจที่งานน้อยลงแต่หากไม่ทำก็ไม่มีใครมีสิทธิว่าเราว่าช่างเห็นแก่ตัวเหลือเกิน ใช้งานคนอื่นเยี่ยงทาสเพราะเขาเหล่านั้นรับเงินค่าจ้างเพื่อมาทำงานเหล่านี้


  • 3.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง