ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวการปิดตัวของนิตยสารหลายรายไม่ว่าจะเป็นเปรียว บางกอก อิมเมจ I Like หรือแม้แต่สกุลไทย ที่ต้องหายไปจากแผงหนังสือ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนนิยมเสพย์สื่อออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้เกิดความคิดว่า E-Book จะมาแทนที่นิตยสารสิ่งพิมพ์
แต่ความคิดนี้อาจจะไม่ใช่เสมอไป
เมื่อจุดจบของหนังสือเล่ม อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของ E-Book
คนเริ่มอ่านหนังสือที่เป็นตัวเล่มน้อยลงก็จริง แต่เมื่อ Ookbee ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-Book ได้สักระยะก็เข้าใจว่าคนไม่ได้เปลี่ยนมาอ่าน E-Book กันมากขึ้น แต่จะเสพย์คอนเทนต์บน Facebook และ Instagram กันมากกว่า โดยเฉพาะคนอายุราว 12 – 24 ปีที่ Active ในการเสพย์คอนเทนต์บนสื่อสังคมออนไลน์แทน
ทำให้ Ookbee ต้องปรับโมเดลธุรกิจหันมาเป็นแพลตฟอร์มให้คนทำคอนเทนต์แทน (User Generated Content หรือ UGC)
เมื่อ Ookbee หันมาทำธุรกิจแบบ Trickle Down Model
ซึ่ง Trickle Down Model ที่ว่าจะเหมือนสามเหลี่ยมคว่ำ โดยมี “ชุมชนคนเสพย์และสร้างคอนเทนต์” (Community) อยู่ด้วยกัน ชั้นถัดลงมาจะเป็นพวกผลิตคอนเทนต์ (Creator) เช่นศิลปินนักร้อง นักเขียน วาดการ์ตูน ที่สามารถอัพโหลดคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มพันธมิตรของ Ookbee ได้ไม่ว่าจะเป็น ฟังใจ (เพลง) Storylog Fictionlog ธัญวลัย และ Ookbee Comic
ซึ่งพอมีคนเสพย์และแชร์คอนเทนต์ออกไปก็จะเกิดเป็น Snowball Effect มีคนติดตามผลงานมากขึ้น คนทำคอนเทนต์ก็ใช้โอกาสนี้ต่อยอดจัดอีเวนต์ จัดคอนเสิร์ต จัดสัมมนาได้ เกิดเป็นรายได้ให้กับศิลปิน
หรือหากเป็นนักเขียนนิยาย ถ้านิยายนั้นขายดี มีคนชอบก็มีโอกาสถูกแปลเป็นภาษาเกาหลี และญี่ปุ่นตีตลาดต่างประเทศได้
เช่นการอ่านนิยายบนแพลตฟอร์มอย่าง “ธัญวลัย” ที่คนหันมาอ่านบนมือถือกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่ E-Book เหมือนที่หวังไว้ตอนแรก
เวลาอ่านก็จะมีโฆษณาคั่น หากอยากอ่านต่อก็ต้องรอให้โฆษณาเล่นจนจบ ถึงจะได้อ่านต่อ หากไม่อยากเห็นโฆษณาก็ต้องจ่ายเงิน กลายเป็นรายได้ของ Ookbee อีกทางหนึ่ง
และถ้าอยากอ่านนิยายบทต่อไปก็ต้องจ่ายเงินซื้อเหรียญ ถ้าไม่อยากจ่ายก็ต้องยอมดูโฆษณาอีก 30 วินาทีแล้วจะได้กุญแจเพื่ออ่านบทต่อไป
Ookbee Comic ก็เช่นกัน ตอบโจทย์ทั้งคนวาดการ์ตูนหน้าใหม่ๆที่อยากแจ้งเกิดผลงานของตัวเอง และคนอ่านที่ไม่ต้องมานั่งรอสำนักพิมพ์ขอลิขสิทธ์จากต้นทาง เอามาทำเป็นรูปเล่ม และวางแผน ได้อ่านการ์ตูนที่อยากอ่านบนมือถือได้ทันใจ
อีกคอนเทนต์แพลตฟอร์มของ Ookbee อย่าง “ฟังใจ” ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินนักร้อง วงดนตรีได้แต่งแพลงและอัพโหลดเพลงของตัวเองขึ้นบนแพลตฟอร์ม ให้คนฟังได้เสพย์ จนเกิดเป็นแฟนคลับ และโอกาสในการจัดแสดงคอนเสิร์ต ซึ่ง Ookbee ก็บริการจัดอีเวนท์บริการช่วยขายตั๋วด้วย
ความได้เปรียบของ Ookbee คือการทำแพลตฟอร์มและชุมชนเชื่อมคนเสพย์คอนเทนต์เช่นแฟนคลับกับคนทำคอนเทนต์ที่เป็นศิลปิน นักเขียน นักวาดการ์ตูน ซึ่งรวมทั้งหมดตอนนีมีกว่า 3 แสนคนแล้วและจะโตขึ้นเร็วมากๆ
รายได้ที่มากกว่าการเก็บค่าสมาชิกอ่าน E-Book
ส่วน Ookbee ก็จะได้รายได้อีกทางจากบริการแพลตฟอร์มไปในที่สุด (เป็น Cream ที่เป็นส่วนล่างของโมเดลธุรกิจ) เช่น
1. รายได้จากการให้บริการแพลตฟอร์ม: เป็นส่วนแบ่งรายได้ที่คนทำคอนเทนต์ได้มาจากการขายผลงาน
2. Subscription Fee: เป็นค่าสมาชิก เช่นเป็นสมาชิกของร้านหนังสือ E-Book ที่ Ookbee ยังให้บริการอยู่
3. Crowdfunding: ซึ่งล่าสุด Ookbee ก็ได้ระดมทุนไป 19 ล้านเหรียญสหรัฐจาก Tencent Holding Limitted เพื่อขยายธุรกิจ UGC ในแถบอาเซียนโดยเฉพาะในไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินดดนิเซีย และเวียดนาม
4. Event / Tickleting: บริการจัดอีเวนท์และช่วยขายตั๋วให้กับคนทำคอนเทนต์
Ookbee App ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับขาย E-Book ยังมีอยู่ และได้รายได้เป็น Subscription Fee
สุดท้ายการทำสตาร์ทอัพหรือแม้แต่ธุรกิจเอง ถ้าไม่ปรับตัวก็ไม่รอด ใครรู้จักเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการของตลาดก็จะอยู่รอดได้ในที่สุด
แหล่งที่มา
บรรยายของ คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO ของ Ookbee และ Venture Partner ของ 500 TukTuk ในช่วง Scaling Ookbee through User Generated Content and Digital Content Monetization ในงาน Echelon Thailand 2017 วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่ C ASEAN ชั้น 10 ตึก CyberWorld Tower