มีสุภาษิตจีนนั้นบอกไว้ว่า He who asks a question is a fool for five minutes; he who does not ask a question remains a fool forever.。ซึ่งแปลว่า ใครที่ถามคำถามนั้นอาจจะดูโง่เพียงชั่วคราว แต่ผู้ใดที่ไม่ถามนั้นจะโง่ไปตลาดชีวิต สุภาษิตนี้ให้ข้อคิดในเรื่องการถามคำถามอย่างมาก เพราะการตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาได้มากมาย จนทำให้มนุษยชาติพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
ผมนั้นจบในสาขาที่ในยุคนี้เรียกว่า STEM ซึ่งสิ่งที่ผมเรียนนั้นเรียกได้ว่าเป็น Pure Science เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของตัวเองนั้นเดินหน้า หรือพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิดเพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แม้ว่าจะน้อยนิดแต่ก็ทำให้เรารู้เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตและนำไปสู่การตั้งคำถามเพิ่มเติมได้ต่อไป ด้วยการหัดตั้งคำถามเช่นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยสามารถขจัดอวิชชาหรือความเชื่อที่ใช้แค่สัญชาตญาณออกไปได้ ทำให้การทำอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาจะต้องเกิดการตั้งคำถามและทดสอบดูว่าสิ่งที่เชื่อนั้นถูกหรือผิด ดีกว่าเชื่ออย่างหัวปักหัวป่ำโดยไม่ตั้งคำถามเลย
จากยุคนี้การตั้งคำถามนั้นสำคัญมากกว่าอดีต เพราะการตั้งคำถามที่ถูก ย่อมทำให้สามารถเดินทางไปยังหนทางที่ถูกต้องได้ หรือเข้าใจได้ว่าต้องทำอะไรต่อไป สิ่งหนึ่งเด็กและคนที่มีสามารถสร้างนวัตกรรม หรือสามารถสร้างกิจกรรมทางการตลาดที่เจ๋ง ๆ ออกมาได้มีเหมือนกันนั้นคือ การชอบตั้งคำถามจากสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นได้จากเด็กวัยเล็ก ๆ ที่จะชอบถามคำถามแบบเจ้าหนูจำไมกับสิ่งรอบตัวต่าง ๆ จนผู้ใหญ่นั้นต้องรีบหนีเพราะเหนื่อยที่จะตอบคำถามของเด็ก ๆ เหล่านี้ ทั้งนักนวัตกรรมและเด็กเหล่านี้ต่างเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวผ่านการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อได้คำถามที่ถูกแล้วก็พยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหาและได้คำตอบที่ดีที่สุดในคำถามออกมา วิธีารเหล่านี้หลาย ๆ คนนั้นหลงลืมไปเมื่อเติบโตขึ้นมา ทำให้เราไม่ตั้งคำถามและทำสิ่งต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่มีและไม่ให้ค่าต่อการตั้งคำถามที่จะท้าทายความเชื่อในประสบการณ์มา ในยุคนี้เราจึงเกิดศาสตร์ที่กลับมาได้รับความนิยมอย่าง Design Thinking ที่เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีรอบ ๆ ตัวและหาทางว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหรือคำถามที่เกิดขึ้นได้ตรงจุดไหมซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่รากเหง้าหรือต้นตอจริง ๆ ออกมา
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผมได้ประสบการณ์มาคือ หลาย ๆ คนนั้นไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสภาพสังคมของประเทศไทย ที่การถามคำถามต่าง ๆ เป็นการท้าทายความเชื่อเก่า ๆ หรือการตั้งคำถามต่อคนที่มาก่อนหรือทำมาก่อนกลายเป็นการท้าทายอำนาจ หรือการตั้งคำถามและมาพิสูจน์กลายเป็นการก้าวร้าวต่อความเชื่อต่าง ๆ ประกอบกับการที่สังคมในประเทศไทยมักจะลงโทษคนที่ทำผิดหรือสร้างความผิดพลาด กลายเป็นว่าทำให้ไม่ใครอยากทำผิด หรืออยากพิสูจน์แล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ความผิดพลาดนั้นคือบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากมายและเกิดประสบการณ์ที่จะทำให้เราก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมากมาย สิ่งหนึ่งที่การตลาดหรือการทำการสื่อสารทางการตลาดขาดไปคือการไม่ชอบตั้งคำถามหรือหลักเลี่ยงการตั้งคำถามต่าง ๆ และทำงานตามประสบการณ์ที่มีมา เรามักจะเจอคำพูดว่า “ใคร ๆ ก็ทำแบบนี้” หรือ “ทำไมต้องเปลี่ยน ทำแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เกิดนวัตกรรม หรือทำให้เกิดความก้าวหน้าของการทำงานขึ้นมาเลย ทำให้งานที่ทำ ๆ กันมานั้นทำตามความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมา หรือทำตามที่กูรูบอกกันมาโดยไม่ได้มีการคิดตั้งคำถามว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นมาถูกทางหรือไม่ และความจะทดลองเพื่อพิสูจน์คำถามนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ออกไป การตั้งคำถามต่องาน ยิ่งถามมากยิ่งทำให้เราได้ insigth หรือตัวเลือกคำตอบที่ดีมากขึ้น และทำให้งานของตัวเองนั้นพัฒนามากขึ้นได้ต่อเนื่องอย่างมากมาย
การไม่ตั้งคำถามนั้นร้ายแรงกว่าการตั้งคำถามโง่ ๆ หรือคำถามที่ผิดอีก เพราะการตั้งคำถามที่ไม่ดี ยังทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามให้ฉลาดขึ้นและเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถามนั้นมันผิดไป แต่การไม่ถามเลยนั้นทำให้เราไม่ได้อะไรเลย และชาชินต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สิ่งที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ และทำให้มันดีขึ้นถ้าเราตั้งคำถามกับมันขึ้นมาและหาคำตอบต่อปัญหานั้น ๆ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้องค์กรก้างหน้าต้องส่งเสริมให้พนักงานหรือคนในองค์กรตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ หรือสงสัยต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมา สังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ไหม มองสิ่งต่าง ๆ โดยตัดประสบการณ์ที่เคยมีมาทิ้งไปมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ออกมา และลองตั้งคำถามในหลาย ๆ มุมมองเพื่อให้เกิดการมองภาพของปัญหาในหลากหลายรูปแบบเพื่อได้คำตอบในหลากหลายรูปแบบออกมา
คำถามที่ดีจะสามารถสร้างการกระตุ้น การปลุกให้ตื่น การให้ความรู้และการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ออกมาได้ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่จะทำให้งานนั้นมีพัฒนาการเพิ่มเติมขึ้นมาได้ และทำให้องค์กรนั้นนำหน้าคู่แข่งอย่างแน่นอน