GroupM เผย พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนของคนไทย

  • 282
  •  
  •  
  •  
  •  

C8gYPi5VYAIK2vn-700

จบไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงานสัมมนาดิจิตอลภายใต้ชื่อ GroupM FOCAL 2017 ที่จัดโดย กรุ๊ปเอ็ม บริษัทบริหารจัดการการลงทุนสื่อชั้นนำของประเทศไทยในเครือ ดัวบลิวพีพี (WPP) โดยจัดขึ้นเพื่อนำเสนอทิศทางการตลาดดิจิทัลสำหรับปี 2017 โดยภายในงาน GroupM นำเสนอผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนของคนไทย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมี คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ Head of Marketing & Development – GroupM (Thailand)  เป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

unnamed-700

อย่างที่ทราบกันว่า ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตที่ขาดไม่ได้ ซึ่งการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและแนวคิดอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนต่างจังหวัด หากเป็นเมื่อก่อนเมื่อเรียนจบก็อยากทำงานในเมืองใหญ่ แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยากเป็น Startup มากขึ้น อยากกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต

ผู้บริโภคต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

สำหรับผู้ใช้ในต่างจังหวัดหากเป็นเมื่อก่อน มือถือเครื่องเดียวก็ใช้กันทั้งบ้าน แต่ตอนนี้ทุกคนต้องมีมือถืออย่างน้อยคนละ 1 เครื่อง ส่วนใหญ่ใช้แบบเติมเงิน และต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มี Personal ID ของตัวเอง นั่นก็เพราะข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในเครื่องเป็นความลับที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ ทั้งการค้นหาข้อมูล, Log in และรหัสใน Social Media รวมถึงเว็บไซต์ที่เข้าประจำ ซึ่งถือเป็นข้อดีสำหรับการทำงานของนักการตลาด ในการทำ Personal Marketing เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

การเลือกใช้แอปฯ

ทาง GroupM ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัด พบว่า คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักจะติดตามข่าวสารจากหน้าฟีด Social Media เป็นหลัก ทั้ง Facebook, Twitter และ LINE โดยจะดูจากสิ่งที่เพื่อนแชร์มา

ด้านความบันเทิง แอปฯ ที่ได้รับความนิยมคือ LINE TV และ YouTube โดยรายการยอดนิยมในต่างจังหวัดคือ ไดอารี่ตุ๊ดซีส์ เดอะ ซีรีส์ (ดูย้อนหลังใน LINE TV) และรายการยอดนิยมในกรุงเทพฯ คือ The Mask Singer (ดูสดและย้อนหลังใน YouTube) ผู้บริโภคให้เหตุผลที่เลือกดู LINE TV อัปโหลดคอนเท้นต์ค่อนข้างเร็ว หลังรายการจบก็สามารถดูย้อนหลังได้ทันที และบางคอนเท้นต์ก็ไม่สามารถดูจากที่อื่นได้

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงการประกวด Miss Universe คนต่างจังหวัดจะลบแอปฯ ที่ไม่จำเป็นออก แล้วโหลดแอปฯ สำหรับการโหวต Miss Universes แทน ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจที่บอกว่า คนต่างจังหวัดจะใช้สมาร์ทโฟนที่มีความจุไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้ไอโฟน และเป็นไอโฟนมือหนึ่ง

17796435_10154290681596960_8634399839901534966_n-cut

Top Application

Social: Facebook, Twitter, LINE และ Messenger
Entertain: YouTube, Line TV และ Joox
Finance: KBank, SCB, Krungsri และ KTB
Transport: Google Map, Facebook, Grab และ UBER (เฉพาะผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่อยู่ในกรุงเทพฯ)

E-Commerce กับสมาร์ทโฟน

หากใครได้ติดตามผลสำรวจของ GroupM ในปี 2015 จะเห็นว่าผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์แรกในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ มาก่อน วันนี้ผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันเริ่มคุ้นเคย และใช้งานได้คล่องขึ้น จากที่เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านไลน์ แล้วต้องไปโอนเงินที่ตู้เพื่อชำระค่าสินค้า ก็เริ่มใช้แอปฯ จากธนาคารต่างๆ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน แทนที่การเดินทางไปธนาคาร

ในส่วนของการค้นหาสินค้า คนต่างจังหวัดจะค้นหาผ่าน Market Place และแอปฯ ช้อปออนไลน์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในการจัดส่งสินค้า หรืออื่นๆ ทำให้บางครั้งไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ คนต่างจังหวัดจึงต้องซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง/คนรับหิ้ว ซึ่งเป็น Local Platform ที่ทำหน้าที่รับออเดอร์ หาสินค้า และจัดส่งในท้องที่นั้นๆ วิธีนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอย่างมาก ส่วนระยะเวลาในการจัดส่ง คนต่างจังหวัดมองว่า 3 วัน คือเวลามาตรฐานที่จะต้องได้รับสินค้า หากนานกว่านั้น ก็มีโอกาสยกเลิกสินค้าได้

4 ประเด็นสำคัญสำหรับการทำตลาดในปีนี้

• Mobile – สำหรับนักการตลาด ตอนนี้ไม่ว่าจะทำแคมเปญอะไรต้อง “Think of Mobile First” นึกถึงสมาร์ทโฟนก่อนเสมอ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคทุกคนใช้

• Mobile Represents Owner’s Personality – Personal Marketing ต่อเนื่องมาจากอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้แบรนด์และนักการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น

• One-Stop Journey – Convenience แม้จะเป็นการทำตลาดบนสมาร์ทโฟน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสะดวกสบาย ง่าย และรวดเร็ว แบรนด์ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

• Variety is King – Influencer is Key เนื่องด้วยตอนนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์บอก ทำให้ Influencer กลายเป็นกระบอกเสียงแทน ทั้งนี้ ในแต่ละแคมเปญแบรนด์ต้องเลือก Influencer ที่เหมาะสม มีภาพลักษณ์ และกลุ่มเป้าหมายตรงกับแบรนด์


  • 282
  •  
  •  
  •  
  •