หลังการประมูลทีวีดิจิทัลผ่านไปราว 4 ปี หลายช่องได้ทำการพิสูจน์ตัวแล้วว่าใครคือตัวจริงและใครคือผู้พ่ายแพ้ในสนามแห่งนี้ ซึ่งเราก็คงได้เริ่มเห็นกันไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายๆ ช่องต่างก็มีความน่าสนใจและความโดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งหนึ่งในคอนเทนต์ที่เป็นแม่เหล็กคนดูที่สำคัญคือ “กีฬา”
คอนเทนต์ด้านกีฬา ดูจะเป็นศึกที่ยอมกันไม่ได้เลยสำหรับสื่อทีวี การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา อย่างที่ทราบกันดีว่าในการสู้หรือประมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นการแข่งขันกันที่ดุเดือดมากไม่ต่างจากชนิดกีฬาเลยก็ว่าได้ ยิ่งในยุคทีวีดิจิตอลที่แข่งขันกันอย่างหนัก รายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬากลายเป็นคอนเทนต์ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะมันช่วยสร้างความนิยม กระชากเรตติ้ง เรียกจำนวนผู้ชมได้เป็นจำนวนมากและเห็นผลอย่างชัดเจนในเวลารวดเร็ว ดังนั้น จึงถือว่าหากช่องไหนได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาฮ็อต ก็คาดหวังได้เลยว่าจะได้รับการตอบรับดีทั้งคนดูและสปอนเซอร์ที่วิ่งเข้าหา
และหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการสื่อ “ไทยรัฐทีวี ช่อง 32” ที่วันนี้ประกาศตัวว่าจะขอขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการถ่ายทอดสดกีฬา พร้อมนำเอาเทคโนโลยี Immersive Graphic มาใช้เพื่อสร้างอรรถรสสีสันให้การรับชมกีฬาสนุกและมีสาระมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายการกีฬาไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และด้วยเหตุนี้เอง MarketingOops! จึงขอโอกาสเข้าพูดคุยกับผู้บริหารหนุ่มไฟแรง เจเนเรชั่นที่ 3 ของตระกูล “วัชรพล” ตระกูลผู้ทรงอิทธิพลของวงการสื่อไทย คุณวัชร วัชรพล หรือ “คุณจูเนียร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 จะมาเล่าให้ฟังถึงยุทธศาสตร์ในการก้าวขึ้นเป็น ผู้นำอันดับ 1 ของการถ่ายทอดรายการกีฬา และการนำเอานวัตกรรมมาต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
httpv://www.youtube.com/watch?v=ggBRKCKDXAg
ช่วยเล่าถึงรายละเอียดในการได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาของไทยรัฐทีวีด้วย
คุณจูเนียร์ เริ่มต้นเกริ่นว่า ในปี 2560 ไทยรัฐทีวี ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬามากมาย เกือบ 20 รายการตลอดทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นรายการที่ได้รับความนิยมจากคนไทยแทบทั้งสิ้น อาทิ การถ่ายทอดสดทุกแมทช์ของฟุตบอลทีมชาติไทยในทุกๆ รุ่นที่เตะในประเทศทั้งหมด, วอลเลย์บอลระดับเอเชีย AVC ทั้งชายหาดและในร่ม, ฟุตซอลทีมชาติไทย, ฟุตซอลลีก, MMA หรือ Mixed Martial Arts และยังมีทั้งมวยไทยทุกสัปดาห์ และมวยสากลแมทช์สำคัญๆ อีกด้วย ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายการกีฬาที่ไทยรัฐทีวีจะจัดให้แก่ผู้ชมในปีนี้
ทั้งนี้ การได้มาแต่ละสิทธิ์ในการถ่ายทอดนั้น คุณจูเนียร์ ระบุว่า มีความแตกต่างกันไป มีทั้งการเข้าไปประมูล และการเสนอตัวผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้บริหารจัดการสิทธิ์ของการแข่งขันนั้นๆ
“ยุทธศาสตร์ของเราก็คือ เราพยายามจะเลือกกีฬามหาชน กีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนดูคนไทย ซึ่งแน่นอนว่าตอนแรกเราได้ลองกับแมทช์ต่างประเทศก่อน อย่างการถ่ายทอดศึกวันแดงเดือดเราก็เคยทำ แล้วเราก็คิดว่านี่คือมหาชนแล้วแต่ว่าไม่ใช่ เพราะสุดท้ายคนไทยชอบดูคนไทย ชอบเชียร์คนไทย ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วคนไทยชอบเชียร์คนไทย นั่นคือยุทธศาสตร์ของเราที่เราจับทางได้”
มีสถิติตัวเลขยืนยันในเรื่องนี้หรือไม่
คุณจูเนียร์ ตอบหนักแน่นว่า แน่นอนเลยเพราะเราวัดได้จากเรตติ้ง อย่างที่บอกว่าตอนที่เราถ่ายทอดศึกวันแดงเดือดไปก็พบว่าเรตติ้งไม่ดีนัก ซึ่งต่างจากที่ทีมชาติไทยเตะมากๆ หรือแม้แต่ที่เคยถ่ายทอดทีมชาติอังกฤษเตะกับทีมชาติสเปน เรตติ้งก็ยังสู้ที่ทีมชาติไทยลงเตะไม่ได้เลย อย่างที่ทีมชาติไทยเตะคัดเลือกไปบอลโลกแต่ละแมทช์เรตติ้งไม่เคยต่ำกว่า 10 เลย ซึ่งตรงนี้มีตัวเลขบอกที่ชัดเจนมาก
ความแตกต่างของการถ่ายทอดกีฬาของไทยรัฐคืออะไร
ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวว่า เป็นเรื่องของความเอาใจใส่และความจริงจังทางด้านกีฬาของเรา ที่เราให้ก่อนแข่งขันและหลังแข่งขัน อย่างก่อนแข่งเราจะมีวิเคราะห์ความพร้อม สภาพทีม สภาพของนักกีฬาที่ลงแข่ง ส่วนหลังจบเกมก็จะมีการวิเคราะห์เกมด้วย เช่น วิเคราะห์ว่ามีโอกาสทำประตูได้ยังไง มากน้อยแค่ไหน มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสได้ รวมถึงเทคโนโลยีที่เราใช้ และสิ่งใหม่ๆ ที่เราใส่ลงไป
“ง่ายๆ เลยถ้าไม่พูดถึงเทคโนโลยีกราฟฟิคที่เรามี เอาแค่จำนวนกล้องที่เราใส่ลงไปส่วนใหญ่ก็เกินมาตรฐานหมด คือเราใส่กล้องไปเยอะมาก เพื่ออะไร เพื่อที่จะได้เก็บทุกมุม ทุกสีสัน เก็บทุกอย่างให้ครบ หลายๆ ครั้งเราพยายามทำให้เกินมาตรฐานที่ AFC กำหนดมาด้วยซ้ำ เช่น บางทีเขากำหนดมาว่าให้ใส่กล้องไป 12 ตัว แต่เราก็อัดลงไป 18-20 ตัวด้วยซ้ำ แค่ความทุ่มเทตรงนี้ก็เปลี่ยนมุมมองได้แล้ว แล้วก็ยังมีมุมแปลกๆ ในการถ่ายทอด ที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยได้เห็นมาก่อนอีก”
เทคโนโลยีที่ว่าจะนำมาใช้ในการถ่ายทอด คือ เทคโนโลยี Immersive ใช่หรือไม่
คุณจูเนียร์ กล่าวยอมรับพร้อมกับอธิบายว่า เทคโนโลยี Immersive มันช่วยในการอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น แผนการเล่น การวิเคราะห์ รูปแบบการเล่นอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเทคโนโลยีก็มีความยืดหยุ่นพอที่จะเลือกและเรียกใช้ได้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญได้ใช้อธิบายเกมและวิเคราะห์เกมได้เข้าใจมากขึ้น เหมือนมีของเล่นมากขึ้นในการอธิบาย คือแทนที่จะเหมือนสมัยก่อนที่จะเอากระดานขึ้นมาเขียนๆ ให้เราดู เราก็ใช้เทคโนโลยีกราฟฟิคนี้อธิบายไปเลย
httpv://youtu.be/d3gAwPqRPeQ
“เทคโนโลยี Immersiveมีมานานแล้วในต่างประเทศ และพอเราเห็นเราก็อยากที่จะยกระดับการถ่ายทอดกีฬาบ้านเราให้ดูสนุกมีสีสันมากขึ้น ให้ผู้ชมได้มีโอกาสได้รับชมการถ่ายทอดที่เจ๋งๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เราก็อยากทำออกมาให้มีคุณภาพที่ทัดเทียมกับต่างประเทศบ้าง ก็เลยเป็นที่มาที่เราตั้งใจอยากจะทำตรงนี้ ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามีความตั้งใจจริง เราทุ่มเทกับตรงนี้ และเราก็อยากจะพัฒนาและนำสิ่งใหม่ๆ มาให้คนดู”
รู้จักเทคโนโลยี Immersive ได้อย่างไร
คุณจูเนียร์ เล่าว่า คงตั้งแต่ไปดูงานต่างๆ ที่เมืองนอก หรือบางทีเราก็หาดูเรฟเฟอเรนซ์ในบ้านเราด้วย พอเห็นว่าต่างประเทศเขาทำกันไปอย่างไร ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้นำมาใช้กับงานกีฬา เราก็คิดว่าน่าจะดีถ้าได้มาใช้กับงานทีวีของเรา ซึ่งตอนแรกเริ่มก็นำมาใช้กับการรายงานข่าวก่อนเช่นกัน แต่พอเรามาจับทางกีฬามันก็สามารถทรานส์เฟอร์มาได้ เพราะ knowhow มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไร ทีมงานเราก็คล่องกับการใช้เทคโนโลยีอันนี้แล้ว เพียงแค่ปรับจากงานข่าวปกติมาใช้กับงานกีฬาแค่นั้น
ปัจจุบันทีมงาน Immersive กราฟฟิคมีอยู่ประมาณ 20 คน ซึ่งคุณจูเนียร์เล่าถึงการทำงานว่า ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้มา 3-4 ปีแล้ว ซึ่งทีมงานมีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงมาก ใน 1 ชิ้นงานสามารถทำได้ตั้งแต่คนหนึ่งคนถึง 3 คน โดยใช้เวลาไม่นานก็สามารถขึ้นงานกราฟฟิคสวยๆ ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับดีเทลด้วยว่ามีความละเอียดมากน้อยแค่ไหน
“ยกตัวอย่าง ถ้าช่วงพักครึ่งของฟุตบอลซึ่งไม่นานมากนัก แล้วต้องการแสดงงานกราฟฟิคทันที เราก็จะมีเทคโนโลยีบางตัวที่อำนวยความสะดวกด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งทีมงานอาจจะใช้เพียงแค่คนเดียวก็ได้ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ความเข้าใจของคนใช้ว่าสร้างสรรค์ออกมาอย่างไรเพื่อถ่ายทอดออกมาให้คนดูได้อะไรมากกว่าแค่รับชมการถ่ายทอดกีฬาแบบทั่วๆ ไป ซึ่งในมุมของลูกค้าก็สามารถเบลนด์อินโปรดักส์ตรงนี้เข้ามาอยู่ในสนามได้หรือบนหน้าจอได้ มันเสริมในส่วนของการตลาดและเสริมด้านธุรกิจอื่นๆ เข้ามาตรงนี้ได้ด้วย”
httpv://youtu.be/m5xXMVJ0wVA
กับการต่อยอดทางธุรกิจผ่านเทคโนโลยี Immersive จะทำอย่างไร
เมื่อกล่าวถึงการเบลนอินสินค้าหรือโปรดักส์ แสดงว่าไทยรัฐมีความตั้งใจที่นำเทคโนโลยีมาสร้างคอนเทนต์ด้านการตลาดด้วย คุณจูเนียร์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ตั้งใจจะนำมาเพื่อต่อยอดทางธุรกิจของเราด้วยทางเอเจนซี่หรือลูกค้าสามารถที่จะนำเสนอแบรนด์หรือโปรดักส์ที่สามารถเบลนเข้ากับการถ่ายทอดกีฬาของเราได้ โดยที่ไม่เคอะเขินและขัดตา ให้มันเนียนที่สุด โดยทางทีมของเราก็จะมีโชว์เคสที่พร้อมจะนำเสนอผลงานที่ผ่านมาให้ลองดูได้ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
“นอกจากนี้ เราก็ยังมีทีมครีเอทีฟที่เราพร้อมจะไปรับโจทย์แล้วก็ช่วยลูกค้าคิดว่าจะเอามานำเสนอในรูปแบบไหนดี ผสมผสานผ่านเทคโนโลยีที่เรามีให้เข้ากับประเภทกีฬาไหนบ้างที่เราได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดอยู่ เพื่อให้มันออกมาดีที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้เราก็มีทีมที่พร้อมจะเข้าไปรับโจทย์กับลูกค้าทันที”
จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านการตลาดตรงนี้อย่างไร
คุณวัชร อธิบายว่า ปัจจุบันลูกค้ามองหาอะไรมากกว่าแค่การลง TVC เพราะฉะนั้นตัวนี้จะต้องเข้ามาเติมเต็ม อาจจะใช้เวลานิดนึงในการนำเสนอและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ โดยที่เราจะชูด้านเทคโนโลยีของเราไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์งานและถ่ายทอดกีฬาไปด้วย ซึ่งคุณจะไม่พบรูปแบบนี้จากที่อื่น อย่างที่บอกว่าเราจะยกระดับการถ่ายทอดสดด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคด้านกล้อง เรื่องกราฟฟิค เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะนำเสนอคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งให้กับลูกค้า
“อย่างผลงานที่แค่ทีมงานเราทำกันเล่นๆ ทดลองทำดู แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง คือเราออกแบบตัวหุ่นยนต์ตัวหนึ่งกระโดดลงไปในสนามฟุตบอล แล้วก็ไปเล่าอธิบายถึงสถิติต่างๆ เป็นสีสันอีกหนึ่งอย่างที่แสดงถึงความทันสมัยและก็ยังไม่ค่อยมีใครทำ โดยน้องๆ ในทีมงานก็ตั้งชื่อว่าเจ้าตัวนี้ว่า Robonior (โรโบเนียร์) ซึ่งตรงนี้ถ้าแบรนด์หรือเอเจนซี่สนใจมันสามารถมาสร้างสรรค์อะไรได้อีกเยอะแยะเลย”
มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนในจุดนี้
คุณจูเนียร์ตอบอย่างมั่นใจว่า มั่นใจแน่นอน เพราะว่ากีฬาที่เราเลือกทุกอย่างเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม เพราะฉะนั้นมันก็ค่อนข้างง่ายในการที่ลูกค้าจะตัดสินใจลงโฆษณากับเรา และตัวเลขเองก็ซัพพอร์ตว่ามันป๊อปปูล่า เรามั่นใจว่าน่าจะเป็นคอนเทนต์แม่เหล็กมากทีเดียวที่จะดึงทั้งผู้ชมและลูกค้า (แบรนด์/เอเจนซี่) เข้ามาหาเราได้
“แน่นอนว่าเราก็คาดหวังอยู่แล้วทั้งเรตติ้งและก็รายได้ แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากตรงนี้ก็คือ เราอยากเป็น Top of mind Brand ของคนไทย ในด้านข่าวและกีฬา เราอยากได้รับความไว้วางใจจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า แบรนด์ หรือเอเจนซี่ หรือสมาคมกีฬาต่างๆ ที่จะคิดถึงเรา เชื่อใจ และไว้วางใจเรา ทุกครั้งที่นึกถึงการถ่ายทอดสดกีฬา”
นโยบายด้านสื่อดิจิทัลของไทยรัฐเป็นอย่างไร
คุณจูเนียร์ ย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘คอนเทนต์’ ดังนั้น สิ่งที่ทางไทยรัฐจะทำก็คือการปรับคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับช่องทางที่จะไปเช่นถ้าเป็นเนื้อหาออนไลน์ก็จะสั้นๆ เข้าใจง่าย หรือถ้าเป็นคลิปก็ไม่ควรยาวมากเกินไปแต่ตัวคอนเทนต์ก็ยังจะต้องสำคัญมีความน่าสนใจพอที่จะดึงดูดผู้บริโภคได้ โดยที่รูปแบบในการนำเสนอก็ปรับเปลี่ยนไปตามแพล็ทฟอร์มและตามยุคสมัย
“อย่างที่กล่าวว่าเทคโนโลยีจะมาตอบโจทย์ได้อย่างไร คือถ้ามันมาเป็นแบบ Branded หรือจะ tie in ไปอยู่ในเนื้อรายการหรือเนื้อกีฬาของเราได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตรงก็เป็นความมั่นใจให้กับลูกค้าได้เลยว่าเรา ถ้ามาอยู่กับเรามันคุ้มค่า จะได้ eyeball ตามที่ลูกค้าต้องการแน่นอน ซึ่งความจริงช่องทางออนไลน์ของเราแข็งแรงมาก อย่างการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทย VS ทีมชาติไต้หวัน (วันที่ 12 พ.ย. 2015) ผ่านทาง Youtube Live : Thairath ก็มีผู้เข้าชมพร้อมกันสูงสุด 228,738 คน และมีผู้ชมรวมกันกว่า 1.7 ล้านคน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็เพิ่งได้รับรางวัล Gold Button จากเวที Youtube Submit 2017 จากการที่มีผู้ติดตามทางยูทูบ 1,138,849 คน เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่าในส่วนของช่องทางออนไลน์เราก็แข็งแกร่งมากทีเดียว หรือแม้แต่ระบบออนไลน์ของเราก็เตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่”
ในฐานะที่เราเป็นสื่อจะช่วยส่งเสริมวงการกีฬาอะไรอย่างไรได้บ้าง
คุณวัชร กล่าวว่า นอกเหนือจากการที่เราได้นำเสนอผ่านทุกๆ สื่อที่เรามี ซึ่งรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ก่อนการแข่งขันด้วย เราก็จะมีการติดตามความเคลื่อนไหวของในแวดวงกีฬาอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่โปรโมทๆ อัดอย่างเดียว แต่บางทีเราก็จะมีการไปฟอลโล่วอัพ มีการติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ในการส่งเสริมเราก็จะทำหน้าที่สื่อให้เต็มที่ในการประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือกระจายข่าวของแต่ละสมาคมอย่างเต็มที่
“แต่ที่สำคัญเลยสิ่งที่เราเห็นคือ ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้เกิดการแข่งขันแบบอาชีพมากขึ้นในประเทศไทย ความจริงกีฬามันจะไปได้หรือไปไม่ได้ ทีมชาติมันจะดีหรือไม่ดี ส่วนสำคัญที่สุดมันคือการพัฒนารากฐานกีฬาให้เป็นกีฬาอาชีพ ถ้ากีฬาเป็นอาชีพที่แข็งแรงแล้ว ผลพลอยได้มันก็ตกไปอยู่กับประเทศชาติทั้งนั้น มันก็ไปอยู่กับทีมชาติต่อ ยกตัวอย่างฟุตบอล คือพอเรามีลีกอาชีพที่แข็งแกร่ง ที่พัฒนาดีขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็ส่งผลให้ทีมชาติไทยทำผลงานดีขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็ประสบผลสำเร็จเวลาไปแข่งระดับโลก ต่างกับตอนที่มันยังไม่ได้เป็นกีฬาลีกอาชีพแบบนี้”
มุมมองยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ ที่มีทั้งทีวี ออนไลน์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ อยากให้ช่วยให้ทัศนะกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันว่าจะต้องทำอย่างไร ถึงจะอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง
คุณจูเนียร์ กล่าวว่า มันคือเรื่องของการปรับตัว ให้ไปอยู่ทุกๆ ช่องทางของผู้บริโภค แล้วปรับวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ของเรา ข่าวสาร หรืออะไรก็ตาม ให้มันเหมาะสมกับช่องทางนั้นๆ และถูกจริตของผู้ชม ซึ่งปัจจุบันก็มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของเจเนเรชั่น ทั้งเรื่องของช่องทางต่างๆ ก็ต้องมีการเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสม และนำเสนอไปให้ผู้อ่านตรงนั้น
“ส่วนไทยรัฐเองนั้น เราก็ได้พิสูจน์ให้ได้เห็นแล้วจากความสำเร็จที่เราได้ลงมือทำไป ก็คือตอนทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษครบ 100 วันในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ซึ่งจากตรงนี้เราก็กำลังคิดต่อยอดต่อไปอีกด้วย และมั่นใจได้ว่าจะมีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอประชาชนอีกอยางแน่นอน”
แน่นอนว่าการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการรักษาอันดับ 1 นั้นไปได้นานแค่ไหน และในวันนี้ไทยรัฐที่แข็งแกร่งมาจากสื่อเก่า ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าในการแข่งขันของสื่อยุคใหม่ ไทยรัฐ ทีวี เองก็ยังสามารถยืนหยัดและแข็งแกร่งอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคสมัยและการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการประกาศตัวว่าจะเป็น เบอร์ 1 ด้านคอนเทนต์กีฬา น่าจะเป็นอีกความท้าทายที่สำคัญของผู้บริหารหนุ่มที่จะกุมบังเหียนขับเคลื่อนไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ให้ก้าวไปสู่จุดหมายต่อไปได้หรือไม่ น่าจับตามากทีเดียว
Copyright © MarketingOops.com