กลายเป็นประเด็นร้อนแรงให้ติดตามต่อเนื่องสำหรับกรณีบริการอูเบอร์ที่รัฐบาลชี้ว่านาทีนี้ยังเป็นบริการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายไทย ขณะที่อีกฝ่ายยืนยันว่าบริการอูเบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบบริการร่วมเดินทางของอูเบอร์มากกว่า สวนทางกับความพยายามผลักดันธุรกิจเกิดใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่พยายามผลักดันเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจแบบเดิมหรือสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจขึ้นมา
แม้จะยังไม่มีบทสรุปที่ขัดเจนจนถึงตอนนี้ ลองมาดูมุมมองจากกูรูในแวดวงอุตสาหกรรมไอที “จาริตร์ สิทธุ” ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยตลาดไคลเอนต์ ดีไวซ์และหัวหนัานักวิเคราะห์ไอดีซี ประเทศไทย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจแชริ่ง อีโคโนมีในตลาดไทย
สุดท้ายแล้วไทยก็ยังไม่พร้อมกับโมเดลแชริ่ง อีโคโนมี
ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่เกิดกับทุกประเทศที่เริ่มมีแชริิ่ง อีโคโนมีหรือเศรษฐกิจแบ่งปันเข้าไป ซึ่งคอนเซปท์หลักคือนำทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ปัญหาใหญ่คือ กฎหมายตามไม่ทัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีข้อบังคับอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจให้บริการรถแท็กซี่ที่มีต้นทุนต่างกับรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นตัวรถ ค่าต่อมิเตอร์ หรือค่าโดยสาร ดังนั้นเมื่อเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมาทับรอยกันก็จะเกิดอาการยอมไม่ได้ กลายเป็นเรื่องเป็นราว
บทเรียนในต่างประเทศที่จะเป็นไปได้กับตลาดไทย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเกินคาดว่าจะไม่เกิดในไทยแม้อูเบอร์จะเปิดให้บริการมาแล้วหลายปี แต่เพิ่งเริ่มเกิดกระแสต่อต้านเพราะธุรกิจที่เริ่มขยายตัว และส่งผลกระทบให้เห็นมากขึ้นกับคนในอุตสาหกรรมเดิม จาริตร์ มองว่าความเป็นไปได้ของเรื่องนี้อาจต้องเจอกันคนละครึ่งทาง เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่นประเด็นของแอร์บีเอ็นบี ที่ใช้โมเดลคล้ายกันคือ เจ้าของที่พักส่วนบุคคลใช้แพลตฟอร์มของแอร์บีเอ็นบีให้บริการเช่าที่พักได้ ซึ่งก็เกิดกระแสต่อต้านจากธุรกิจโรงแรมหรือห้องพักที่ทำตามระเบียบข้อกฎหมาย แต่ในญี่ปุ่น ยอมให้ธุรกิจแอร์บีเอ็นบีให้บริการได้โดยที่ผู้ให้บริการจะต้องจดทะเบียนหรือจ่ายภาษีรับรู้รายได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเพิ่มมาตรการกำหนดให้ผู้ให้บริการในระบบแอร์บีเอ็นบีปล่อยให้เช่าห้องได้จำนวนวันเท่าที่กำหนดเท่านั้น
“ณ จุดนี้เรายังไม่พร้อม แต่ถ้าจะอยู่ด้วยกันได้ต้องยอมกันบ้าง ฝ่ายรัฐก็ต้องยินดีที่จะปรับกฎหมายให้ทันสมัย อูเบอร์ก็ต้องยินดีที่จะทำตามกฎหมายไทยในบ้างข้อ ซึ่งก็อาจจะแตกต่างกับกฎหมายในประเทศอื่นๆที่อูเบอร์เข้าไปดำเนินธุรกิจก็ได้”
ดูตัวอย่างเพื่อนบ้าน
ยกตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจไรด์ แชริ่ง (ร่วมขับ) ในสิงคโปร์ที่รัฐมีใบขับขี่พิเศษให้กับผู้ขับรถประเภทนี้ ซึ่งขอบเขตคร่าวๆคือ ให้บริการขับได้ไม่เต็มเวลา และมีกฎข้อบังคับให้ต้อง ตรวจสภาพรถให้ได้มาตรฐานการให้บริการสาธารณะตามที่รัฐกำหนด โมเดลดังกล่าวก็อาจนำมาปรับใช้กับการให้บริการในไทยได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คงต้องให้เวลากับทุกฝ่ายไม่ว่าจะแท็กซี่ แบบเดิมที่ต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือพฤติกรรมของผู้ใช้ยุคใหม่ที่นิยมความสะดวกด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างอูเบอร์ที่ต้องทำตามกฎระเบียบของไทย และคนกลางสำคัญอย่างรัฐบาล ที่ต้องหาทางออกที่ทุกฝ่ายจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข หรือดูแลแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียม
“คนจะปลดล็อกปัญหานี้ได้คือ รัฐเท่านั้น” ซึ่งจาริตร์ยังมองว่า เรื่องนี้ไม่มีใครผิดอยู่ฝ่ายเดียวเข้าข่าย “ผิดร่วมกัน” ที่ไม่ทำให้เกิดความชัดเจนตั้งแต่แรก
เพราะอูเบอร์หรือไรด์แชริ่งรายอื่นๆไม่ใช่ธุรกิจที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวานนี้ แต่เข้ามาเติบโตในไทยหลายปีแล้ว แต่กลับเพิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เพราะเริ่มส่งผลเสียกับธุรกิจเดิมซึ่งก็ต้องโทษรัฐส่วนหนึ่งที่ไม่จริงจังกับการแก้ไขตั้งแต่ต้นปล่อยให้ธุรกิจเกิดใหม่ขยายตัวโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม
คนที่แพ้รัฐก็ต้องดูแล
แต่ไม่ว่าจะบทสรุปจะเป็นเช่นไร เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา และให้ความเห็นใจทุกฝ่าย เพราะถ้าเปรียบเป็นเกมแล้ว คู่ชกตัวจริงคือ “แท็กซี่”และ “ธุรกิจแบบอูเบอร์” ที่ชกกันภายใต้กติกาที่แตกต่างกัน “รัฐ” ก็ต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการกลางที่ต้องทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาแข่งกันในกติกาเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียบเปรียบ และถึงจะมีผู้แพ้รัฐก็ต้องดูแลคนแพ้ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย