ในยุคที่ผู้ประกอบการกำลังครองเมือง ทุกคนต่างมองหาช่องทางการสร้างตัวให้เป็นผู้ประกอบการ ทำธุรกิจส่วนตัว หรือการเป็นสตาร์ทอัพ โดยมุ่งหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้พวกเขาได้มีอิสรภาพทางการเงินและการใช้ชีวิตตามแบบเหล่าบริษัทไอดอลใน Silicon Valley
ความเป็นจริงจะมีผู้ประกอบการสักกี่รายที่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง?
โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้สร้างหลอดไฟ และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วโลก ได้บอกว่า “ผมไม่เคยพบกับความล้มเหลว ผมเพียงแต่พบว่ามันมีเป็นหมื่นวิธีที่ใช้การไม่ได้” ทว่าในยุคที่การแข่งขันสูงและต้องการความรวดเร็วยิ่งกว่าอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ไฮสปีด ผู้ประกอบการคงไม่มีเวลาลองผิดลองถูกมากจนเกินไป แล้วทำอย่างไรล่ะ เราถึงจะเร่งฝีเท้าสร้างโอกาสที่จะก้าวสู่สิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จได้ตามที่ต้องการ
ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ “ผู้อยากประกอบการ” ใช้เป็นข้อมูลสู่การเป็นผู้ประกอบการอยู่มากมาย แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านั้นช่วยชี้นำให้ไปในทิศทางที่ต้องการเพื่อเติบโตเป็นผู้ประกอบการเหมือนชาว Silicon Valley
ไม่มีความคิดใดถูกหรือผิด เพียงแค่เรากล้าพอที่จะลองคิดต่าง เพราะในกระแสโลกใบเดียวกัน ทุกอย่าง real-time ต่างกันแค่เส้นแบ่งเวลาตามละติจูดของภูมิประเทศที่เราอาศัย ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่สามารถมองตลาดแค่เพียงละแวกบ้าน เมื่อตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก แล้วทำไมเราจะเป็นผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกบ้างไม่ได้ล่ะ?
“หลักแนวคิด Think Big, Act Small มีอยู่ว่า การเริ่มต้นความคิดด้วยการ Think Big เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
ดร. เอ็ดเวิร์ด รูเบช ผู้อำนวยการหลักสูตร ศูนย์ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ IDE Center โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center (Innovation-Driven Entrepreneurship Center) ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้
อยากสยายปีกไปสู่ระดับโลกต้อง Think Big แต่ Act Small
ดร.เอ็ดเวิร์ดกล่าวว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่า Think Big คือ การมองภาพที่เราต้องการในอนาคต แล้วไปให้ถึงสิ่งนั้นด้วยหลัก 3i ที่ประกอบไปด้วย 1) Innovation ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือด้านใดๆ ก็ตาม สร้างแนวความคิดใหม่ และเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจแบบเดิม เนื่องจากสภาพการแข่งขันของโลกนั้นเป็นลักษณะของ Knowledge Economy ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การบริหารจัดการข้อมูล และการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดได้
2) Impact โดยนำความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมที่ได้มาต่อยอดสร้างผลกระทบเชิงบวก โอกาสใหญ่ๆ มักจะมากับโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ และมีผลกระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก เพราะคนเหล่านั้นคือ ว่าที่ลูกค้าของผู้ประกอบการ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการเล็กๆ จะคิดการใหญ่ให้กับธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่ต้องสร้างคุณค่าให้สังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การสร้างกำไร แต่ยังต้องสร้างผลเชิงบวกให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า คู่ค้า และพนักงานบริษัท
และ 3) International ยิ่งขยายโอกาสให้ใหญ่ ก็จะยิ่งเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โลกของเราไร้ซึ่งพรมแดนไปแล้ว ความเป็นสากลจะพาให้นวัตกรรมและผลกระทบของผู้ประกอบการไปถึงผู้คนได้ง่าย ดังนั้นผู้ระกอบการต้องปรับทัศนคติในการบริหารธุรกิจให้มองเห็นทุกสิ่งเป็นโอกาส และสร้างความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลก หรืออย่างน้อยการก้าวออกจากประเทศไทย ไปสู่ภูมิภาคอาเซียนก็สร้างโอกาสที่จะได้พบกับผู้คนมากถึง 600 ล้านคนทีเดียว
“เมื่อเราคิดใหญ่ โอกาสที่เราจะได้พบกับนักลงทุนก็มีมาก ตัวเลขการลงทุนของเหล่านักลงทุนมีมากกว่า 700 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่า บนโลกนี้มีเงินลงทุนอยู่มากกว่าจำนวนของผู้ประกอบการเสียอีก”
สำหรับ Act Small ประกอบด้วย 3E ได้แก่ การเสาะหา (Explore) และทดสอบ (Experiment) ก่อนที่จะปล่อยของ (Execute)
ในส่วนของการ Explore วิธีที่ง่ายที่สุดคือการมองหาว่าคนอื่นทำอะไรและเรียนรู้อะไรจากสิ่งเหล่านั้น เพราะวิธีที่สั้นที่สุดในการเป็นผู้ประกอบการ คือ “เรียนรู้จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ล้มเหลว” ผู้ประกอบการควรมองหาอะไรบ้าง? อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่กดดันเราอยู่ อาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องการทำ หรือสิ่งที่เราไม่ต้องการทำ อาจจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี หรือสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือสิ่งที่เราอยากจะทำให้ดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องเสาะหาจากทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อนำไปสู่การ Experiment หรือการทดสอบสมมติฐานที่เร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ในทุกการทดสอบคือการเรียนรู้ที่จะหาโอกาส ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การถกเถียงอย่างเป็นทางการ การสัมภาษณ์ การสังเกตสถานการณ์ เอาตัวเองไปเข้าร่วมในสถานการณ์นั้นๆ หากเป็นสินค้าต้องมีการทดลองทำสินค้าต้นแบบ กระทั่งการใช้เครื่องมือ Social media ก็เป็นอีกทางในการทดสอบเช่นกัน
ทำไมผู้ประกอบการต้องทดสอบ? เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าที่เราคิดว่าจะเวิร์คในตลาดจริงแล้วจะเป็นไปอย่างที่เราต้องการหรือไม่ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญที่จะทดสอบก่อนที่เริ่มปล่อยของจริง ในช่วง Execute เพราะช่วงนี้คือของจริงที่ต้องมองหาลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นก็ต้องหาทางที่จะขยายฐานลูกค้าออกไป โดยผู้ประกอบการสามารถทำได้โดย เจาะจงกลุ่มเป้าหมายแล้วสร้างโอกาสในการขยายกลุ่มต่อไป
ดร.เอ็ดเวิร์ด ยกกรณีศึกษาของผู้ประกอบการในแบบฉบับ Think Big, Act Small อย่าง Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงแซงเจ้าใหญ่ ที่เริ่มต้นจากการผลิต Sport car และตั้งใจที่จะผลิตรถยนต์สำหรับลูกค้ากลุ่มเดิมของตัวเอง แรกเริ่ม Tesla เปิดเพียงร้านเดียว ที่ไม่มีดีลเลอร์ หลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อน แต่เจ้าของกลับมองว่านั่นคือโอกาสที่จะทำให้เติบโต และพัฒนารถให้สอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างชัดเจน จนปัจจุบันกลายเป็นรถที่หลายคนอยากจะครอบครอง หรือการเกิดขึ้นของ Uber ในซานฟรานซิสโก ที่เห็นปัญหาจากการเรียกแท็กซี่มารับแล้วต้องใช้เวลารอถึงครึ่งชั่วโมง ผู้ก่อตั้ง Uber มองเห็นโอกาสในปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนขับรถยนต์ และผู้โดยสาร ลดระยะเวลาในการรอรถแท็กซี่ลง และสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนที่มีรถยนต์ และอยากมีรายได้เสริมจากการขับรถ
แล้วพวกเราจะเริ่มต้นกันจากตรงไหน อย่างที่กล่าวไป วิธีที่สั้นที่สุดที่จะเป็นผู้ประกอบการ คือ “เรียนรู้จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ” และยิ่งดีขึ้นไปอีกเมื่อมี ศูนย์ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center (Innovation-Driven Entrepreneurship Center) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้นำด้านธุรกิจรุ่นใหม่ของประเทศไทยให้เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม IDE Center จะฝึกฝน พัฒนา และฟูมฟัก ให้เกิดผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อีกทั้งช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างยั่งยืน
ล่าสุด IDE Center ก็ได้จัด IDE Thailand 2017 ขึ้นเป็นครั้งแรก นำนวัตกรรมทางความคิดจากทั่วทั้งภูมิภาคมาไว้ด้วยกัน โดยรวมเอาการแข่งขันรายการใหญ่ MIT Enterprise Forum Competition และ Global Social Venture Competition ระดับภูมิภาครอบตัดสินไว้ในงานเดียว พร้อมทั้งได้จัด Think Big, Act Small Symposium งานทอล์คที่รวมเหล่านักสร้างสรรค์ผู้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามแบบฉบับ Think Big, Act Small จากทั่วโลกเพื่อมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวไทย ไม่ว่าจะเป็น Christopher Janney ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปินร่วมสมัยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงศิลปะได้ง่ายๆ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด สถาปนิกและนักดนตรี ผู้สร้างนวัตกรรมทางดนตรีอย่าง Sonic Forset ที่จัดแสดงในงานเทศกาลดนตรีที่โด่งดัง อาทิ Bonnaroo, Coachella และ Wireless หรือ Randy Komisar หุ้นส่วน บริษัท Kleiner Perkins Caufield & Byers บริษัท venture capital ที่มีชื่อเสียงใน Silicon Valley ที่เหล่า Startup ทั้งหลายล้วนอยากจะเข้าหา ร่วมด้วย Jimmy Jia ผู้ประกอบการผู้ประสบความสำเร็จที่จะเปลี่ยนมุมมองเรื่องพลังงานของเราเสียใหม่ Jagdish Chaturvediนักพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในแทบประเทศกำลังพัฒนามานักต่อนัก และ Edward Rubeschกับแนวคิด Think Big, Act Small อาจารย์ผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างสายพันธุ์ DNA ใหม่แก่ผู้ประกอบการไทย ให้หลุดออกจากขนบความกลัวเดิมๆ โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน
“ผมเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ Think Big, Act Small Symposium ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ IDE 2017 Thailand เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา เหล่าผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลกจะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชมงานนี้ทุกคนปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา” ดร.เอ็ดเวิร์ดกล่าวในตอนท้าย
สำหรับผู้ประกอบการ และผู้อยากประกอบการที่คิดอยากจะติดอาวุธทางไอเดียธุรกิจ ด้วยแนวคิด Think Big, Act Small สามารถร่วมงาน IDE Thailand 2017 ที่จัดขึ้นโดย IDE Center โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับน้ำดื่มสิงห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs BANK) และกลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างเวลา 9.00-17.30 น. โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและรับฟังฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ลงทะเบียนร่วมงานนี้ได้ที่นี่ ฟรี!
แล้วมาติดอาวุธสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยการสร้างแนวคิดธุรกิจใหม่ ตามแบบฉบับ Think Big, Act Small ด้วยกัน