บทสัมภาษณ์รอบนี้อาจจะเป็น industry ที่ไม่คุ้นเคยกันสักหน่อยสำหรับผู้อ่าน Marketing Oops! เราอยากให้คุณได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆในตลาดภาพยนตร์ในไทยที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ทั่วไป แต่เป็นภาพยนตร์สารคดี ซึ่งหลายคนอาจไม่คุ้นเคยหรืออาจไม่เคยรู้จักมันมาก่อนก็ไม่ต้องตกใจ เพราะหนังสารคดีนับเป็นอุตสาหกรรมที่เล็กและใหม่มากสำหรับบ้านเรา เพราะความเข้าใจดั้งเดิมของคนไทยเมื่อพูดถึงสารคดีแล้วก็มักจะนึกไปถึง ชีวิตสัตว์โลก สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งมันเป็นการเล่าเรื่องคนละรูปแบบกับหนังสารคดีที่เรากำลังพูดถึง แล้วทำไมเราจึงมองว่าตลาดหนังสารคดีในไทยเป็นตลาด Niche ที่น่าจับตา
มันเป็นเรื่องน่าเซอไพรซ์อย่างมาก เมื่อได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตลาดภาพยนตร์ในไทย ช่วงก่อนหน้านี้เมื่อสักสองถึงสามปีที่แล้วการได้เห็นหนังสารคดีสักเรื่องเข้ามามีพื้นที่ในโรงหนังเครือใหญ่เป็นเรื่องที่แทบจะไม่ปรากฎ หรือหากมีก็จะเป็นสเกลที่เล็กมาก แต่ใครจะเชื่อว่าวันนี้หนังสารคดีสามารถสร้างพื้นที่ให้ตัวเองในโรงใหญ่ได้ ยืนโรงนานนับเดือน และยังทำรายได้ได้เหนือความคาดหมายอีกด้วย
ปรากฎการณ์นี้ทำให้เราตระหนักกันได้ว่าหนังสารคดีในไทยมีตลาดรองรับ เป็นตลาดที่กำลังก่อตัวและมีแนวโน้มจะขยายใหญ่ขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยอินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี การได้เห็น ได้รู้ถึงข้อมูลและความหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคมีความเป็นปัจเจคบุคคลมากขึ้น ทั้งในเรื่องทัศนคติ การคิดวิเคราะห์แยะแยะ ทางเลือกใหม่ในการบริโภคจึงเกิดขึ้นมากมายเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของคนในสังคม ซึ่ง ‘หนังสารคดี’ คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สร้างทางเลือกใหม่ๆให้ผู้บริโภค
Documentary Club เกิดขึ้นจากแพชชั่นอันแรงกล้าของ “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์” คนตัวเล็กคนหนึ่งในสังคมบ้านเราที่ชื่นชอบการดูหนังสารคดี เธอเห็นคุณค่าที่อยู่ในสิ่งที่เธอชอบและต้องการจะแบ่งปันมันไปสู่คนอื่นๆ โดยหวังว่าหนังสารคดีจะนำไปสู่ทางเลือกใหม่ๆที่ก่อให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิด Documentary Club จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ที่มั่นคงให้แก่ตลาดหนังสารคดีในไทย
* คุณธิดา เป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร “Bioscope” (ไบโอสโคป) ปัจจุบันเปลี่ยนเส้นทางมาบริหาร Documentary Club เต็มตัว แต่ยังเป็นที่ปรึกษาให้ ‘ไบโอสโคปอยู่’ ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้เราจะเรียกคุณธิดาว่า ‘พี่ดา’ และเรียก Documentary Club ว่า Doc Club ตามคำที่นิยมเรียกกันโดยปกตินะคะ :)
แพชชั่นอะไรที่ผลักดันพี่ดาให้เริ่มมาทำ Documentary Club
จริงๆมันเริ่มตั้งแต่ตอนทำ ‘ไบโอสโคป’ ตอนที่เริ่มทำไบโอฯและทำมาเรื่อยๆมันก็ทำโดยอยู่บนแนวคิดที่ว่าหนังมันเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะวัฒนธรรม มีความหลากหลายในตัวมันเอง แล้วมันก็เป็นวัฒนธรรมแบบที่คนเข้าถึงง่ายตั้งแต่เด็กจนโตมาเราก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของหนังในบ้านเราสำหรับการดูหนังในโรงของคนรุ่นก่อนเค้ามีทางเลือกมากกว่าปัจจุบัน แต่พอผ่านไปทางเลือกมันถูกทำให้แคบลงๆจนมาวันนี้เราเห็นหนังในโรงอยู่ไม่กี่แบบ แล้วหนังที่ครองตลาดหลักก็จะเป็นฮอลลีวูดประเภทหนึ่ง หนังอื่นๆก็ถูกทรีทเป็นนอกกระแสหมด แล้วก็แทบจะไม่มีใครสนใจให้พื้นที่มันเลย
เมื่อก่อนประเภทหนังที่ถูกเอามาเข้ามาฉายในไทย มีความหลากหลายกว่าปัจจุบันมากขนาดไหนคะ
ก่อนมันจะมีโรงหนังเครือใหญ่แบบทุกวันนี้ตอนนั้นยังเป็นโรงแบบสแตนอโลน แต่ละโรงเค้าก็จะตัดสินใจเอาหนังเข้ามาเองเลือกให้เหมาะกับพื้นที่ สมัยพี่เด็กๆหนังไต้หวันนี่เป็นหนังกระแสหลักเลย หนังญี่ปุ่น หนังไต้หวันดูในโรงกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้พอมีหนังแบบนี้เข้ามาก็ถูกทรีตเป็นหนังนอกกระแสทั้งที่มันก็ไม่ใช่หนังอาร์ท ไม่ได้ดูยากอะไรเลย
ตอนทำ ‘ไบโอสโคป’ ก็เลยพยายามทำให้คนรู้ว่าหนังมันมีอีกเยอะในโลกภายนอก แล้วเทคโนโลยีทุกวันนี้ก็ผลักดันให้หนังมีความหลากหลายสารพัดสารเพ เราก็เลยรู้สึกว่าพอมุมมองเรื่องนี้ของคนถูกทำให้แคบมันทำให้การรับรู้เรื่องอื่นๆแคบไปด้วยตอนทำไบโอฯมันอยู่บนพื้นฐานของความคิดแบบนี้ แล้วสารคดีเป็นหนังประเภทหนึ่งที่โดยส่วนตัวแล้วเราชอบดู มันไม่ใช่หนัง fiction ปกติทั่วไป คือมันมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และหลายครั้งก็ให้แรงบันดาลใจที่เหนือไปกว่าหนังปกติ เลยรู้สึกว่าน่าเสียดายที่มันไม่มีพื้นที่ของมันเลย และกลายเป็นว่ามันไปปรากฏอยู่ในเทศกาล หรือกิจกรรมเฉพาะที่หยิบเอาหนังสารคดีมาเป็นประเด็นทางสังคมอะไรแบบนี้ ดังนั้นก็เลยคิดว่าทดลองทำแล้วก็หาพื้นที่ที่จะเป็นที่ประจำของมัน
“…มันไม่ใช่หนัง fiction ปกติทั่วไป คือมันมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และหลายครั้งก็ให้แรงบันดาลใจที่เหนือไปกว่าหนังปกติ เลยรู้สึกว่าน่าเสียดายที่มันไม่มีพื้นที่ของมันเลย”
ตอนเริ่มทดลองเราใช้ทุนจากไหนคะ
จริงๆตอนเริ่มต้นเราใช้เงินคราวด์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) ซึ่งช่วง 2 ปีก่อนจะเริ่มทำ Doc Club เราก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว แล้วตอนนั้นก็ได้ไปทำงานร่วมกันองค์กรนู่นนี่นั่น เลยมีโอกาสได้เสนอหนังสารคดีให้เค้าใช้งานในกิจกรรมต่างๆ พอแต่ละกิจกรรมมันจัดขึ้นเราก็ได้เห็นจำนวนคนดูซึ่งมันเยอะพอสมควร พี่ก็เลยมีความเชื่ออย่างนึงผุดมาว่า “เออเว๊ย! ความคิดเบื้องต้นของคนทั่วไปที่พอได้ยินคำว่าหนังสารคดีแล้วปฏิเสธทันทีเพรารู้สึกว่ามันน่าเบื่อมันลดลงแล้วว่ะ” จำนวนคนที่สนใจหนังสารคดีบ้านเราก็จัดว่าไม่น้อยนะยิ่งถ้าหนังมันมีประเด็นที่แข็งแรงก็ยิ่งดึงดูดคนให้สนใจ เข้ามาเรียนรู้ประเด็นนั้นๆแล้วเราก็เริ่มจะได้เห็นหน้าตาคนอยู่ประมาณนึงว่าคนแบบไหนที่สนใจคอนเทนท์เรา
แต่ตอนเริ่มเราก็ไม่ได้มีทุนหรอกมันคือการทำธุรกิจแบบ Distributor คือหมายความว่าเราต้องมีทุนในการซื้อหนังเข้ามา พี่ก็เลยหย่อนลงไปถามใน Facebook ว่าถ้าเรามีไอเดียในการทำแบบนี้ๆ เราจะเริ่มต้นยังไงดี (ปี 2557) แล้วก็มีน้องที่เคยทำงานด้วยกันเค้าทำเว็บเทใจดอทคอม (www.taejai.com) เค้าก็ชวนเรามาทำระดมทุนเพราะทางเค้าเองก็อยากได้โปรเจคประเภทนี้เข้ามา ก็เลยลองเริ่มต้นด้วยคราวด์ฟันดิ้ง ปรากฎว่าฟีคแบคเกินคาดหมาย ฮ่าๆๆ ตอนแรกก็ลุ้นว่าจะรอดไม่รอดๆ แต่ผลออกมาเกินความคาดหมายไปมาก
ตอนแรกเราวางเป้าทดลองประมาน 1 ปี ทำ 1 ปีฉาย 7 เรื่องใช้ทุนประมาณหนึ่งล้านบาท ‘เทใจ’ ก็เสนอ gimmick ว่าพอระดมได้แสนแรกเราก็ทำอีเวนท์เลยสิ คนจะได้ไม่ต้องรอตั้งปีนึงกว่าจะได้เห็น ปรากฎว่าแสนแรกนี่มันเร็วมากคือภายในสองสัปดาห์ก็ได้เลย เราก็รายงานความคืบหน้าคนไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกระตุ้นคนเนอะ พอผ่านไป 2 เดือนมันได้มาสี่แสนกว่า เรารู้สึกว่า ‘เฮ้ย! สี่แสนนี่มันดำเนินการได้แล้วนะ’
อยากให้เล่าถึงขั้นตอนดำเนินการคร่าวๆค่ะ
ขั้นตอนมันก็เหมือนการ Distributor หนังปกติเลย คือเราก็เลือกหนังว่าอยากเอาเรื่องไหนเข้ามาฉายแล้วก็หาคอนแทคคุยกับคนที่ถือสิทธิ์หนังเรื่องนั้นในต่างประเทศ หากหนังเรื่องไหนมันไม่มีคนดำเนินการจัดจำหน่ายเราก็คุยกับคนทำหนังโดยตรง แต่โดยมากแล้วหนังที่เข้ามาสู่ระบบตลาดมันก็จะมีตัวกลางที่ถือสิทธิ์ของหนังเรื่องนั้น คือหมายถึงถ้าทั่วโลกอยากจะซื้อหนังเรื่องนี้ไปฉายก็ต้องมาติดต่อผ่านค่ายนี้เหมือนนายหน้าอะค่ะ เราก็ดีลแบบนี้แหละเลือกหนังแล้วดูว่าใครถือหนังที่เราสนใจแล้วก็คุยกันเรื่องค่าสิทธิ์ส่วนแบ่ง เงื่อนไขทางธุรกิจ แล้วก็จ่ายตังค์เอาหนังเข้ามา
พอเอาหนังเข้ามาแล้วเรามีวิธีการเลือก channel เพื่อเผยแพร่อย่างไรคะ
จริงเราๆก็มองไว้หลายที่แหละแต่เจตนาเราอยากจะทำให้มันมีตลาดเหมือนหนังปกติทั่วไป ดังนั้นมันไม่ใช่เอาเข้ามาเพื่อแค่ฉายเป็นอีเวนท์ หรือกิจกรรมเฉพาะ หรือฉายตามที่ที่มันไม่ได้ดูหนังตามปกติดังนั้นก็เลยนึกถึงโรงหนัง
ทีนี้ SF เนี่ยเค้ามีนโยบายสนับสนุนหนังนอกกระแสเพราะเค้าก็มีพื้นที่ที่มันเหมาะ หลักๆเค้าคือสาขาเซนทรัลเวิล์ด ถ้าสังเกตเราจะเห็นว่าสาขานี้มีรอบให้กับหนังนอกกระแส ถึงจะยังเล็กๆน้อยๆแต่เค้าก็กำลังพยายามปั้นให้มันเป็นแบบนั้น เราก็เอาโปรเจคเข้าไปคุย เค้าก็โอเคก็ลองดูสิ โปรเจ็กต์ที่ SF กับ Doc Club ปั้นร่วมกันเลยเกิดขึ้นมาในชื่อ Doc Holiday ซึ่งเริ่มด้วยการนำหนังสารคดีเข้าฉายเฉพาะศุกร์เสาร์อาทิตย์ ถ้าเรื่องไหนมีแนวโน้มจะไปได้ดีก็ได้รับรอบเพิ่มโรงเพิ่ม ได้มีพื้นที่ฉายเป็นประจำและมีความต่อเนื่อง ซึ่งมันดีมากๆ
เรื่องแรกในโรง SF ของ Doc Club คือ Finding Vivian Maier ใช่ไหมคะ ฟีดแบคเรื่องแรกเป็นอย่างไรบ้าง?
ใช่ๆซึ่งมันดีเหนือความคาดหมายไปมาก ตอนเริ่มทำเราก็ทดลองกันเลยคือเอาเรื่องนี้ละกัน ‘วิเวียน’ ซึ่งจริงๆบังเอิญมาก คืออ่านพล็อตแล้วมันน่าสนใจแต่เรานึกไม่ออกหรอกว่าจะมีคนสนใจอะไรมากมาย เราก็ดูหนังแล้วเออเฮ้ยสนุกดี ดูง่ายแล้วมันก็เริ่มมีกระแสในเมืองนอกแต่ว่ายังไม่ได้ชิงออสก้งออสก้าอะไรในตอนนั้น ซึ่งมันก็มีอยู่สองสามเรื่องที่เราเลือกมาพร้อมๆกัน แต่พอดี ‘วิเวียน’ ดีลจบก่อนก็เลยอะๆเรื่องนี้เลยละกัน ปรากฎว่าพอพีอาร์ออกไปคนก็สนใจกันเยอะ เราก็มาสังเกตว่านอกจากตัว subject มันจะน่าสนใจแล้วหนังมันยังเป็นเรื่องของ street photo ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังฮิตพอดีมันเลยค่อนข้างอยู่ในความสนใจของคนหลายกลุ่ม
พอ ‘วิเวียน’ เปิดฉายคนจองเต็มเร็วกว่าที่คิดไว้มาก อันนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่าง ในจังหวะเดียวกับที่ ‘วิเวียน’ เข้าฉายเราก็ระดมทุนใน ‘เว็บเทใจ’ มาถึง 400,000 บาทเรากับ ‘เทใจ’ เลยตัดสินใจว่าหยุดระดมทุน เราไม่เอาให้ครบล้านละเพราะว่าเรากำลังจะพิสูจน์ว่าหนังมันไปด้วยตัวของมันได้ แล้วเราก็รบกวนเงินคนทางบ้านแค่นี้ เพราะว่าเออ… คนเค้าก็เห็นอยู่เนอะว่า ‘วิเวียน’ มันก็ไปได้แล้วยังจะมาขอระดมทุนต่อทำไมกัน
รายได้วิเวียนปิดที่เท่าไหร่คะ
ปิดประมาณ 700,000 บาทโดยที่มันไม่เคยเข้าโปรแกรมปกติเลยนะ คือมันเข้าแค่วันหยุด แล้วตัวเลขรายได้ประมาณนี้แสดงว่ามันเต็มเกือบทุกรอบ
หากเปรียบเทียบกระแสของหนังสารคดีในบ้านเราตอนนี้ กับตอนที่ Doc Club เพิ่งเริ่มต้น มันมีความแตกต่างหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ
ยังเปรียบเทียบไม่ได้ขนาดนั้นเพราะเราเพิ่งทำมาได้แค่ 2 ปีแ ต่ก่อนที่ Doc Club จะเริ่มมันก็มีหนังสารคดีเข้ามาฉายอยู่บ้างนะก็เข้ามาแบบหนังปกตินี่แหละ แต่มันยังไม่มีหนังสารคดีที่เข้ามาฉายในไทยอย่างต่อเนื่องรายได้มันก็ตามสเกลหนังนั่นแหละซึ่งพอเราเริ่ม Doc Club สิ่งที่เราทำมันมีความต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงก็คงเกิดมาจากความต่อเนื่องนี่แหละแต่ยังไม่สามาถเปรียบเทียบความต่างที่ชัดเจนได้ขนาดนั้นเพราะเราก็เพิ่งเริ่ม
“พอพูดถึง ‘สารคดี’ คนบ้านเรายังติดภาพการศึกษาเรื่องข้อมูล หลายครั้งที่เราไปคุยกับช่องทีวีที่เค้าควรจะฉายสารคดีเค้าก็ยังมีความรู้สึกว่า ‘โอยช่องเราก็มีแล้วเนี่ยก็ยังฉายอยู่เที่ยงคืนเป็น National Geography, Discovery สารคดียิงขีปนาวุธอะไรก็ว่าไป”
Doc Club ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกหนังเข้ามาฉาย
หลักๆเลยคือเอาตัวเองเป็นตัววัดก่อน ฮ่าๆๆ ประสบการณ์จากที่ทำ ‘ไบโอสโคป’ ทำให้พี่รู้สึกอย่างนึงว่าเราเหมือนเป็นคนกึ่งๆคือเราก็เป็นคนสนใจหนังนอกกระแสหรือหนังแปลกๆนะ แต่เราก็ไม่ใช่คอหนังตัวจริงที่ดำดิ่งเจาะลึกรายละเอียดขนาดนั้น ขณะเดียวกันเราก็ดูหนังแมสด้วยแต่หนังแมสบางเรื่องเราก็ไม่ได้อยากดู เลยรู้สึกว่าเออความชอบของเรามันก็กลางๆ ในแง่ไม่ดีคือ อะไรวะ…ทำไมไม่ไปทางไหนสักทาง แต่จุดแข็งคือมันน่าจะพอสื่อสารกับคนทั้งสองกลุ่มได้ มันไม่ถึงขนาดมุ่งไปทางใดทางหนึ่ง พี่เลยรู้สึกว่าพอมันเป็นเส้นกลางๆก็ช่วยตอนเราเลือกหนังเข้ามาฉายได้ดีเหมือนกัน
คือเรารู้สึกว่าหนังสารคดีมันยากโดยหน้าตา โดยรูปแบบ หรือว่าการรับรู้ของคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พอเราเลือกประเด็นที่มันสัมผัสคนได้ คือสัมผัสเราก่อน พอเราดูแล้วเรารู้สึกว่า เออเฮ้ย…มันอิมแพคว่ะ มันสนุก เราก็เชื่อว่ามันก็น่าจะทำงานกับคนที่อยู่แถวๆเดียวกับเราได้
โดยมากหนังสารคดีในยุคใหม่ๆจะพูดเรื่องคนเป็นหลักใช่ไหมคะ
สารคดีส่วนใหญ่ก็พูดเรื่องคนแหละ โดยเฉพาะสารคดีใหม่ๆเนี่ยมันก็สัมพันธ์กับเรื่องมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อย ความคิดวิถีชีวิตเพียงแต่ว่ามันก็มีอย่างอื่นมาแวดล้อม เช่น เรื่อง Iris พูดเรื่องคุณยายที่แต่งตัวเก่ง แต่บริบทแวดล้อมเค้าก็คือเรื่องแฟชั่น หรือว่า Where to invade next ที่พาคนไปดูประเทศต่างๆ แต่ว่าโดยจริงๆมันพูดเรื่องมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐที่มันมีการพัฒนาที่ดี
จากประสบการณ์พี่ดาคิดว่าบริบทแวดล้อมอะไรในหนังที่อิมแพคกับตลาดคนดูบ้านเรา
เอาเฉพาะส่วนที่ Doc Club ทำนะคะ คือพี่ไม่แน่ใจว่ามันครอบคลุมเป็นภาพใหญ่มั้ย แต่พี่ว่าคนไทยค่อนข้างสนใจเรื่องศิลปะวัฒนธรรมเยอะเหมือนกัน เออ…แปลกมากเลย เพราะเราเคยคิดว่าคนบ้านเราไม่ค่อยสนใจเรื่องศิลปะ
อย่างเรื่องดนตรีอะแน่นอนอยู่แล้วเพราะมันสัมผัสคนง่ายที่สุดเนอะ แต่ว่าเรื่องศิลปะมันอาจจะมีความรื่นรมย์บางอย่างอยู่ในนั้นแล้วทำให้เรารู้สึกแฮปปี้เวลาได้ดู ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะแต่ฟีดแบคหนังศิลปะวัฒนธรรมก็ได้รับกระแสที่ดีอยู่
ส่วนใหญ่คนที่มาดูเค้าจะบอกกันปากต่อปากเหรอคะ?
ใช่ๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าสื่อโปรโมทของเราคือโซเชียลเป็นหลัก ดังนั้นมันก็จะทำงานกับคนที่ติดตาม แต่พอหนังมันจะอยู่ในวีคต่อๆไปเนี่ยมันต้องอาศัยกระแสปากต่อปาก ถ้าหนังมันโดนมันก็จะพาตัวเองไปได้ไกลโดยเฉพาะถ้าประเด็นของมันทำงานกับคนดูมากเป็นพิเศษ คือหนังสารคดีนี่มันพาเราไปพบอะไรน่าเซอร์ไพร์ซหลายอย่าง หนังอย่าง Citizenfour, Whare to invade next เป็นหนังที่พูดเรื่องสังคม การเมือง รัฐบาลอะไรแบบเนี้ย ประเด็นมันซีเรียสแต่ก็เป็นสองเรื่องที่คนมาดูกันเยอะ อาจเพราะมันมีการพูดถึง มีการบอกต่อกันในโซเชียลด้วย
พื้นที่หนังสารคดีในตลาดต่างประเทศเปรียบเทียบกับตลาดในบ้านเรามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ
คิดว่าจริงๆแล้วโดยหลักๆมันอยู่ในสถานะที่ Niche สุดๆแม้แต่ในอเมริกาเอง พี่มองว่าหนังสารคดีมันเป็นตลาดเล็กๆ สำหรับทุกที่คือมันเป็นหนังนอกกระแสเพียงแต่ความต่างของแต่ละประเทศเนี่ยมันก็มีสัดส่วนของทางเลือกที่ไม่เหมือนกัน
อะพูดง่ายๆสมมุติประเทศแทบยุโรปหลายประเทศเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน พวกนี้ตลาดเค้าจะมีทางเลือกที่หลากหลายแม้ว่าจะมีหนังใหญ่ๆที่เป็นหนังเมนสตรีมจากฮอลลีวูดเข้ามา แต่สมมุติว่าถ้าในเครือนั้นมี 5 โรงเค้าจะมีพื้นที่ให้กับเมนสตรีมโรงนึงหรือสองโรงซึ่งคนก็คงจะดูโรงที่ฉายหนังเมนสตรีมมากที่สุดอยู่แหละ ที่เหลือก็จะเป็นหนังจากชาติอื่นๆคือไม่ใช่แบบฉันมี 5 โรง หนังฮอลลีวูดเอาไปเลย 4 โรง ชาติที่เหลืออีกหลายชาติเบียดกันอยู่ในโรงเดียวแบบที่บ้านเราเป็น จะด้วยนโยบายรัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เค้าสั่งสมมา มันส่งให้เค้ามีการจัดสัดส่วนที่นึกถึงความหลากหลายของทางเลือกแต่ว่าประเทศที่อยู่ภายใต้เสรีทางการค้ามากๆแบบไทยหรืออเมริกาเป็นต้นเนี้ย มันก็จะเปิดรับไอก้อนหนังฮอลลีวู้ดเป็นพื้นที่ใหญ่แล้วหนังจากประเทศอื่นก็ไม่ได้ถูกสร้างวัฒนธรรมการดูให้มันก็จะไปเบียดๆกันเป็นตัวแถม
Doc Club มีแผนจะเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้างไหม
เป็นเรื่องที่ยากมาก ฮ่าๆๆ ตั้งแต่ตอนทำ ‘ไบโอสโคป’ เราก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาครัฐบ้างแต่เราไม่ได้เป็นฝ่ายขอเพราะเราไม่ใช่ผู้ผลิตหนังโดยตรง เราก็จะเห็นว่ามันไม่ได้มีความต่อเนื่อง อย่าว่าแต่หนังนอกกระแสเลยหนังในกระแสหรือหนังไทยเองก็ยังไมรู้เลยว่าเค้าจะขอความช่วยเหลืออะไรจากรัฐ ฝ่ายรัฐเองก็มองไม่ออกว่าจะช่วยเหลืออะไร เค้าไม่เห็นโร้ดแมพของภาพยนตร์ว่ามันเป็นอะไรยังไง เหมือนเค้าก็ยังเห็นว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ในโลกที่มันเปลี่ยนไปอย่างวันนี้ ภาพยนตร์มันก็เป็นสินค้าได้ ซึ่งพี่ว่าบ้านเรายังมองไม่เห็นเส้นนี้กัน เส้นที่ว่าเราจะทำมันเป็นสินค้าในบ้านเราและในระดับโลกได้อย่างไรอะค่ะ
ตอนนี้พี่มองว่าการดำเนินงานของ Doc Club ยังมีความเสี่ยงอยู่ไหมคะ
ถ้าพูดจริงๆก็คือเรายังไม่สามารถแน่ใจได้ว่ามันมีความเติบโตหรือความแข็งแรงรออยู่จริงๆมั้ย เพราะว่ามันก็ยังอยู่ในช่วงที่หาความลงตัว Doc Club เราก็ทำกิจกรรมหลายส่วนแต่ส่วนหลักก็คือฉายหนังในโรง ซึ่งความลงตัวระหว่างเรากับโรงหนังมันยังอยู่ในช่วงที่ต้องเรียนรู้กันอีกเยอะ เป็นสิ่งที่ยังต้องทำงานกันต่อไปอีกเรื่อยๆเลยยังพูดไม่ได้ว่ามันจะอยู่ตัว
คือตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า Doc Club ประสบความสำเร็จแล้ว?
มันก็เกินความคาดหมายเมื่อเทียบกับที่คิดไว้ตอนเริ่ม แต่บอกไม่ได้ว่าความสำเร็จนี้จะเสถียรมั้ย แต่ว่าเราก็ได้เห็นหลายอย่างที่มันมีความหวัง ถ้าเราทำให้พาร์ทเนอร์เราเค้าเชื่อมันได้อะ
“แต่ในโลกที่มันเปลี่ยนไปอย่างวันนี้ ภาพยนตร์มันก็เป็นสินค้าได้ ซึ่งพี่ว่าบ้านเรายังมองไม่เห็นเส้นนี้กัน เส้นที่ว่าเราจะทำมันเป็นสินค้าในบ้านเราและในระดับโลกได้อย่างไร”
นอกจากฉายหนังในโรง Doc Club มี channel อื่นๆเพิ่มเติมอีกไหมคะ
หลักๆของเราคือฉายในโรง SF ส่วนอย่างอื่นเราก็มีกิจกรรมร่วมกับหอศิลป์ฯ (BACC) แต่ว่าก็จะเปิดหน้าหนังคนละแบบ หนังที่หอศิลป์ฯจะแตกต่างจากหนังที่ฉายใน SF หน่อยนึง จะไม่ใช่หนังแมสมากแล้วก็เหมาะกับการ talk มากหน่อย ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงของการพัฒนาอยู่เนอะ ในแง่ของการฉายเราก็จะพยายามเพิ่มพื้นที่ ซึ่งมันก็จะมีเล็กๆน้อยๆอย่างคาเฟ่เล็กๆ ร้านกลางคืนเล็กๆที่เอาหนังเราไปฉายแล้วจัดเป็นอีเวนท์ให้คนได้มาร่วมกันดูหนัง ดื่มกิน ละเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นในหนัง เหมือนเป็น community ย่อยๆตามที่ต่างๆของ Doc Club มันก็เป็นการสร้าง value อย่างนึงให้แบรนด์ของเราแล้วมันน่ารักดี พี่อยากเห็นแบบเนี้ย เป็นคลับของหนังสารคดีหนังนอกกระแสเล็กๆที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แล้วตอนนี้เราเป็นเจ้าของคอนเทนท์เองมันก็ยิ่งง่าย แบบ… เออเอาไปเลยจ้ะ เราอนุญาตเลย ใครอยากทำไรทำ มันจะมีร้านกลางคืน ร้านคาเฟ่ หรือแกลอรี่ที่เอาหนังเราไปจัดกิจกรรมฉายให้คนซื้อตั๋วมานั่งดูหนัง กินดื่มกัน พูดคุยกันเป็นกิจกรรมสนุกๆ นอกจากกรุงเทพฯก็จะมีที่หาดใหญ่ ภูเก็ต ด้วย
จริงๆ พี่ก็คิดลึกๆว่ามันควรจะมีแบบนี้กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แล้วมันจะค่อยๆทลายกรอบการดูหนังในโรงที่จำกัดเราอยู่แค่หนังแบบเดียว อย่างย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วใครจะคิดว่าการดูหนังสารคดีนี่มันสามารถเป็นเรื่องบันเทิง ดูไปกินเบียร์ไป จิบกาแฟไป มันเข้ากันตรงไหน แต่นี่มันก็สามารถทำได้ มันเกิดขึ้นแล้ว
อย่างอื่นนอกจากฉายในโรง, อีเวนท์ประจำเดือนร่วมกับหอศิลป์ฯ, พาร์ทเนอร์กับร้านเล็กร้านน้อยในพื้นที่ต่างๆ เราก็จะมีการขายสิทธิ์หนังจำนวนหนึ่งให้แพลตฟอร์มอื่นๆด้วย ทางช่องทีวีอย่าง ‘เนชั่น’ แล้วก็เป็นแพลตฟอร์ม Video on demand ของ‘Monomaxxx’
วิดีโอออนดีมานด์มีฟีดแบคอย่างไรบ้างคะเพราะตอนนี้ในเมืองนอกระบบแบบ Netflix , Iflix ก็กำลังมาแรง
ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆค่ะ จริงๆบ้านเราก็มีหลายเจ้าที่พยายามจะทำแต่ก็ยังยากอยู่ คือเหมือนมันใหม่มากๆสำหรับผู้บริโภคบ้านเรา แต่ทุกอย่างที่มันเข้าไปทดลองในแพลตฟอร์มใหม่ๆแบบนี้ พี่คิดว่ามันก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรแหละ
“ในเมืองนอก พี่คิดว่าประเทศที่วงการหนังสารคดีเค้ามีความเติบโต มันต้องอาศัยหลายๆแพลตฟอร์มที่ทำให้โมเดลธุรกิจมันเกิด”
ในมุมมองพี่ดา คิดว่าหนังสารคดีในไทยมีศักยภาพขนาดไหน
มีสารคดีไทยที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องเหมือนกันเพียงแต่บ้านเราไม่มีพื้นที่ให้มันทำงานมากพอช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของสารคดีไทยค่อนข้างเงียบ พี่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร บ้านเราอาจจะไม่มีโมเดลอาชีพของคนทำหนังสารคดีก็เป็นไปได้ หมายถึง วงจรทางอาชีพที่คนซึ่งอยากทำหนังสารคดีจะรู้ได้ว่าสามารถหาทุนจากไหน ทำแล้วมีใครสนับสนุนเรื่องการเผยแพร่ ผลที่ตอบแทนมาทำให้เขาเลี้ยงตัวและทำงานต่อไปอีกได้อย่างไร ฯลฯ ซึ่งวงจรแบบนี้ยังไม่เกิดในบ้านเรา
คือพอพูดถึง ‘สารคดี’ คนบ้านเรายังติดภาพการศึกษาเรื่องข้อมูล หลายครั้งที่เราไปคุยกับช่องทีวีที่เค้าควรจะฉายสารคดีเค้าก็ยังมีความรู้สึกว่า ‘โอยช่องเราก็มีแล้วเนี่ยก็ยังฉายอยู่เที่ยงคืนเป็น National Geography, Discovery สารคดียิงขีปนาวุธอะไรก็ว่าไป’ ฮ่าๆๆ เค้าก็ยังคิดว่าหนังที่เราเสนอมันคือแบบเดียวกันกับที่เค้ามี คือเค้านึกไม่ออกว่าไอ Documentary Feature มันเป็นแบบนี้ถ้าเค้าจะซื้อหนังสารคดีฟีเจอร์เค้าก็ไปซื้อหนังฮอลลีวูดที่คนชอบดูมาฉายไม่ดีกว่าหรอ คือมันอธิบายยากภาพจำหนังสารคดีของคนบ้านเรายังเป็นแบบนั้นอยู่
ประเทศที่ตลาดหนังสารคดีเค้ามีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เค้ามีโมเดลการทำงานแบบไหนกันคะ
ในเมืองนอกพี่คิดว่าประเทศที่วงการหนังสารคดีเค้ามีความเติบโต มันต้องอาศัยหลายๆแพลตฟอร์มที่ทำให้โมเดลธุรกิจมันเกิด อย่างเช่นในอเมริกาเค้าก็มี HBO หรือแม้แต่มี Netflix ซึ่งเป็น VOD (Video on demand) BBC อังกฤษ, NHK ญี่ปุ่นอะไรพวกนี้
คือช่องเหล่านี้เค้าโปรดิวซ์หนังสารคดีที่เป็นภาพยนตร์ไม่ใช่รายการสารคดี เค้าทำเองเลยค่ะ แล้วหนังเรื่องไหนมีศักยภาพก็ดันเข้าโรงอย่าง Netflix นี่ดูออนไลน์แท้ๆนะ แต่เค้าก็ยังมีหนังสารคดีของเค้าเองคือลงทุนเองเลย ทำหลายเรื่องแล้วออกมาดีมากออสการ์ปีหน้าเค้าคาดการณ์กันไว้ว่าหนังที่เข้าชิง 5 เรื่อง จะเป็นหนังที่สร้างโดยสถานีโทรทัศน์หรือบริษัท VOD เหล่านี้ซะเกินครึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีผู้สร้างหน้าใหม่หลากหลายขึ้น และแต่ละรายก็ให้ความสำคัญกับหนังสารคดีที่แข็งแรงทั้งเนื้อหาและแผนการตลาดด้วย พอโมเดลทางธุรกิจแบบนี้มีความหมายชัดเจน ก็ยิ่งดึงดูดให้คนทำหนังมือดีๆเดินเข้าไปเสนอโปรเจ็กต์กับเขามากขึ้นเรื่อยๆ
มันต้องเกิดโมเดลแบบนี้แหละมันถึงจะมีคนอยากทำ แต่บ้านเราคือใครอยากทำสารคดีก็ไปทำกันเอง ทำแล้วจะยังไงต่อใครจะให้พื้นที่ฉายบ้างก็ยังไม่ชัด ต้องไฟท์อีกหลายเรื่องกว่าหนังจะได้ฉาย ต้องทำการตลาดแบบเริ่มใหม่หมดเพราะมันยังไม่มีโมเดลที่ใครเริ่มไว้เลย แล้วยังไม่มีเจ้าใหญ่ไหนๆโปรดิวซ์หรือจะมีใครทำก็ไม่ได้จัดจำหน่ายซึ่งมันยังเสี่ยงสำหรับทุกฝ่ายเพราะมันไม่มีโมเดลที่ชัดเจนมันไม่เกิดวงจร ตอนนี้คือใครอยากทำหนังสารคดีในไทยเนี่ยมีแค่ 2 แบบคืออยากทำเองแล้ววิ่งหาทุนหรือมีองค์กรที่อยากได้หนังสารคดีไปใช้งานก็หาคนทำหนังเก่งๆมาทำให้ ซึ่งมันก็จบเป็นเรื่องๆไปมันไม่ได้เกิดธุรกิจขึ้นมา
พี่ดามีจุดมุ่งหมายอยากให้ Doc Club เติบโตหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภคอย่างไรบ้างคะ
มันเป็นเป้าตั้งแต่ตอนเราเริ่มคราวด์ฟันดิ้งแหละ เราอยากให้หนังสารคดีมันเข้าถึงคนวงกว้าง เข้าถึงกลุ่มคนให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆก็ตามแต่ ให้เนื้อหาของหนังมันได้ทำงานกับความคิดของคนดูในหลายๆประเด็นเพราะพี่ว่าหนังสารคดีหลายเรื่องมันมีประเด็นที่นำไปสู่การถกเถียง หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคนได้ เพราะหนังสารคดีสามารถเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ๆทำให้คนดูได้เข้าใจความหลากหลายที่มันมีอยู่ในโลกและมันก็สนุกด้วย เราเลยอยากให้หนังแบบนี้มันมีโอกาสได้ไปทำงานของมันอย่างเต็มที่ค่ะ โดยในส่วนของเราก็คงจะพยายามทำงานเพิ่มทั้งในแง่ของการขยายพื้นที่เผยแพร่ และเข้าไปมีส่วนในการผลักดันคอนเทนต์บางแบบให้เกิดขึ้นจริงจังค่ะ
ณฐพล บุญประกอบ – นักศึกษา, School of Visual Arts, New York City
ฟีดแบคของ Doc Club ตอนนี้ค่อนช้างชัดเจนอยู่นะ อย่าง Oasis นี่มันสามารถดึงแฟนโอเอซิสคนเดียวไปดูหนังได้เป็นสิบรอบ คือเราว่าสารคดีมันมี potential ในการดึงคนมาดูด้วยความที่มันผูกอยู่กับความเป็นจริง แล้วหนังที่ Doc Club นำเข้ามาก็ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้มีแค่โลกร้อน อาหาร สังคมหนักๆ แต่มันมีทั้งดนตรี ทั้งศิลปะ ซึ่งเราว่ามันดีมากเลย มันช่วยทำลาย perception เดิมๆของคนบ้านเราที่มองว่าหนังสารคดีเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า สงคราม วงเวียนชีวิต จริงๆโลกทุกวันนี้มันไปไกลมากอะ แล้วเทรนด์การทำสารคดีมันก็ฮิตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยี ด้วยการเข้าถึงข้อมูลไร ทำให้คนเข้าถึง tools ในการทำหนังได้ง่าย แล้วเราว่าทุกคนมันมีเรื่องเล่ารอบตัวที่อยากนำเสนอ เรารู้สึกว่า Doc Club ไม่ได้มองแค่ตัวเองเป็นแค่ Distibutor คือเค้ารู้ว่าสารคดีมันต่อยอดเป็นสิ่งอื่นๆได้ มันจึงมีงาน Talk หรือกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นจากหนังสารคดีที่เค้านำเข้ามาฉาย เค้ากำลังสร้างพื้นที่ แบบสร้างจริงๆอะ ซึ่งเรารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่น่ายินดีมาก เราว่าเมืองไทยต้องการวัฒนธรรมที่มีการวิเคราะห์ วิจารณ์อยู่บนเหตุผลอะ ซึ่งหนังสารคดีเหล่านี้มันมี clue ที่นำไปสู่อะไรแบบนั้นได้ มันกระตุ้นให้คนทำความรู้จัก กระตุ้นให้คนคิด วิพากษ์วิจารณ์ด้วยการดูหนังสารคดี เราว่ามันเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ
พิชญา คงศิเรืองไล – Senior marketing, Central marketing group
โดย mindset ของคนไทยพอพูดถึงสารคดีก็จะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ดูยาก มันก็เลยทำให้คนไม่สนใจหนังประเภทนี้ Distibutor ก็ไม่อยากเสี่ยงซื้อมาฉาย แต่พอเราได้ดู Oasis ก็รู้สึกประทับใจ เราก็ตั้งเพจ Documentary Club เป็น See first เลย เพราะเค้านำเสนอเรื่องราวของ Oasis ออกมาเยอะดีแล้วหนังมันก็สนุกด้วย ตอนนี้ถ้า Doc Club แนะนำเรื่องไหนก็อยากไปดูนะ เหมือนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในการเลือกดูหนังไปแล้วนิดนึงเลย
ปิยพร ธรรมสถิติ – Content editor, นิตยสารแพรว
คิดว่าการที่มีหนังสารคดีอย่าง Documentary Club มันดีมากเลยนะ ในแง่ผู้บริโภคมันเพิ่มช่องทางการเลือกที่มากขึ้น อย่างเราเองเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เสพหนังเยอะ ไม่ได้เป็นคอหนังเลย ก็ไม่ได้อยากดูแค่หนังแมสอย่างเดียว ยิ่งช่วงที่หนัง Marvel เข้านี่แทบจะไม่มีอะไรให้ดู พอมีพวกหนังสารคดีเข้ามามันก็เพิ่มช้อยส์ให้คนดูมากขึ้น เราชอบความ real ของหนังสารคดีด้วย อย่างเรื่อง Amy Winehouse ที่ดังทะลุ เพิ่มรอบไม่รู้กี่รอบ ดูแล้วรู้สึกถึงความจริง กินใจมากกว่าหนังทั่วไปบางเรื่องด้วยซ้ำ และชอบที่มันไม่ได้แค่ความบันเทิง แต่มันเปิดโลกในวงกว้างให้เราเห็นวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกับบ้านเรา หลายเรื่องเลยที่ชอบแต่บางเรื่องก็ยอมรับว่าหลับเลยก็มี แต่คิดว่ายังไงมีอยู่มันก็ดีกว่าไม่มี ถึงแม้กลุ่มคนที่ดูตอนนี้จะค่อนข้าง niche แต่เชื่อว่ายังไงก็จะขยายมากขึ้นแน่นอน เพราะคนเรามีความชอบที่หลากหลายกันมากขึ้น
พุฒิยศ ผลชีวิน – ร็อคสตาร์, วิศวกร
เรามองว่าปัญหาของคำว่าสารคดีในไทยคือ พอพูดถึงคำนี้คนมักจะนึกถึงการเดินป่า ชีวิตสัตว์โลก แต่ Documentary Club เอาหนังสารคดีที่มีความหลากหลายเข้ามาฉายในไทยอย่างจริงๆจัง หนังที่เขาเลือกมาก็ดูสนุก คือถ้ามันเป็นหนังสารคดีที่สนุกคนก็ดู และพอมันมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมันก็เริ่มทำให้คนเห็นมุมมองที่น่าสนใจที่พวกเค้าจะได้จากการดูหนังสารคดี และที่สำคัญคือพวกเขาเห็นความเชื่อมโยงของสารคดีกับชีวิตตัวเอง อย่างตลาดปลาซึกิจิฉายอยู่ในโรงเกือบ 2 เดือน Oasis ก็ทำเงินได้เป็นล้านเลย
Documentary Club กับ หนังสารคดี 25 เรื่อง
2559 – Cartel Land // Tangerine // The Act of Killing // The Look of Silence // The Hunting Ground // All Things Must Pass // Bolshoi Babylon // Creature Designers – The Frankenstein Complex // Where to Invade Next // The Lovers & the Despot // Tsukiji Wonderland // Oasis : Supersonic
2558 – The Circle // Life Itself // CITIZENFOUR // 1971 // A Matter of Taste // The Wolfpack // Amy // Man on Wire // The New Rijksmuseum // Gayby Baby // IRIS
2557 – Finding Vivian Maier // The Case Against 8
Source: Copyright © MarketingOops.com