จากการคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีจำนวนปนะชากรเพิ่มสูงขึ้นแตะที่ระดับ 9 พันล้านคน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าอุตสาหกรรมการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นหมายถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าอุตสาหกรรมด้านการเกษตรจะมีศักยภาพ แต่อาหารก็ยังไม่พอเพียงต่อความต้องการของคนทั้งโลก
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ถูกจัดให้เป็นครัวของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยก็กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ขณะที่ญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยการเตรียมนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเช่น หุ่นยนต์และระบบ IT เข้ามามีส่วนช่วยในอุตสาหกรรม
เทคโนโลยี Agri-Tech จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำยันถึงปลายน้ำ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตโดยลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรให้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน การใช้น้ำและการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงคุณภาพการผลิตและการจัดจำหน่ายอีกด้วย
โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่นได้ริเริ่มโครงการเทคโนโลยีด้าน Agri-Tech มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Mitsubishi, Panasonic, Fujitsu เป็นต้น โดยมีแผนในการเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมจาก “การเกษตรเพื่อธุรกิจ” มาสู่ “ธุรกิจการเกษตร” ให้ได้ในปี 2025
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาไปสู่ “เกษตรแนวตั้ง” โดยจะใช้เทคโนโลยีในรูปของหุ่นยนต์ทำงานควบคู่กับระบบไอที ซึ่งจะช่วยให้ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อยแต่ได้ผลิตผลในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งระบบจะช่วยให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดมีความต้องการอีกด้วย