การสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียหรือผ่านทาง IM (Instant Messaging) เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมนอกจากค่าใช้จ่ายการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต โดย LINE ผู้ให้บริการ IM (Instant Messaging) รายใหญ่ในไทยเผยตัวเลขการสื่อสารผ่านการใช้งานผ่านระบบออนไลน์กว่า 80%
การใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 80% ของผู้ใช้งานออนไลน์จะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือ IM (Instant Messaging) เป็นประจำทุกวัน ตามการศึกษาล่าสุดโดยบริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส ผู้ค้นคว้าวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำระดับโลก ชี้ว่าแอพพลิเคชั่น LINE ครองพื้นที่การสื่อสารในระบบออนไลน์มากที่สุด โดยมีผู้ใช้ชาวไทยมากถึง 92%
โดยปัจจุบันผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในประเทศไทยแตะ 20 ล้านคน ยิ่งเมื่อกล้องโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ยิ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถอัพเดตเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ยิ่งไปกว่านั้นในยุคโมบายเฟิร์ส (Mobile First) สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นจุดประสงค์หลักของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม แม้แอพพลิเคชั่น LINE จะได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่สื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ยังคงได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดย 86% มีการใช้ Facebook ขณะที่ 31% มีการใช้ Instagram อีก 16% ใช้ แอพพลิเคชั่นTwitter และ 6% มีการใช้ Snapchat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกิดใหม่
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ผู้ใช้งานออนไลน์นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียหรือ IM เฉลี่ยใช้คนละ 5.6 แพลตฟอร์ม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้งานออนไลน์ใช้ช่องทางอื่นๆ ในการติดต่อสื่อสารนอกเหนือจากแอพพลิเคชั่น LINE
ยกตัวอย่างเช่น Instagram จะมีผู้ใช้เป็นคนรุ่นใหม่เป็นหลัก โดยเกินครึ่งหนึ่งจะมีอายุระหว่าง 16-24 ปีหรือประมาณ 59% Instagram จึงถือเป็นช่องทางที่ดีในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัยดังกล่าว ในทางกลับกัน Snapchat ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยมีเพียง 6% เท่านั้นที่ใช้งาน แม้จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากจากจำนวนผู้ใช้ในปี 2558 ที่มีเพียง 1% เท่านั้น
ขณะที่แบรนด์ต้องเข้าใจทัศนคติของผู้ใช้งานออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือ IM (Instant Messaging) ซึ่งจากการสำรวจเผยว่า 1 ใน 4 ของผู้ใช้งานออนไลน์ในไทยหรือราว 27% ปฏิเสธการรับรู้โพสต์ทางโซเชียลมีเดียที่มาจากแบรนด์โดยตรง โดย 29% ชี้ว่า รู้สึกคล้ายถูกโฆษณาออนไลน์ติดตามอยู่ตลอดเวลา จึงควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจก้าวก่ายกิจกรรมทางออนไลน์ของผู้บริโภคจนเกินไป
ที่สำคัญยังพบว่า ผู้มีอิทธิพลทางความคิดหรือกลุ่มผู้มีชื่อเสียง รวมถึงดารานักแสดงคือกุญแจสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภค โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีหรือราว 48% เชื่อในสิ่งที่ผู้คนเหล่านี้กล่าวเกี่ยวกับแบรนด์ในโลกออนไลน์มากกว่าข้อมูลของแบรนด์ที่มาจากสื่อในช่องทางต่างๆ
อีกทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีอิทธิพลทางความคิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่มักจะเชื่อบล็อกเกอร์และบุคคลรอบข้างมากกว่าข้อมูลที่ได้รับจากแบรนด์โดยตรง