จากผู้ใช้กล้องแคนนอน สู่ในบทบาทครูอาสาโครงการ “Canon Blind Project”
“การถ่ายภาพ” สำหรับคนทั่วไปถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา คุณอาจสงสัยว่าพวกเขาจะถ่ายภาพไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็มองไม่เห็น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในทุกๆ ภาพที่ผ่านการกดชัตเตอร์ ล้วนมีความพยายาม ความทรงจำ และเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่แม้จะมองไม่เห็น แต่พวกเขาสามารถนำผลงานเหล่านี้ไปบอกเล่าให้คนอื่นได้ร่วมภาคภูมิใจได้ และยังถือเป็นผลงานที่แสดงถึงศักยภาพของผู้พิการทางสายตา ที่ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และยังทำได้ดีอีกด้วย
สำหรับคนสายตาปกติอย่างเรานั้น นอกจากจะทำหน้าที่ให้กำลังใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การให้โอกาส ในที่นี้หมายถึงการเข้าไปเป็นครูอาสาในโครงการ “Canon Blind Project” สอนผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพ เรียนรู้องค์ประกอบของภาพ และการใช้กล้องอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างโอกาสในการเดินตามความฝันให้พวกเขา
“โครงการนี้จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การที่อยากจะให้ทุกคนได้กลับมาฉุกคิดว่า สิ่งที่ผู้พิการทางสายตาเขาต้องการนั่นคือ ต้องการโอกาส จริงๆ แล้วมันสามารถทำได้ ขอเพียงแต่ว่าเรามีวิธีการที่เหมาะสมและให้โอกาสกับเขา” นพดล ปัญญาวุฒิไกร ผู้ดูแลโครงการหัวใจถ่ายภาพ ครูอาสา Pict4All
โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด และ Pict4All กลุ่มอาสาสมัครที่รักการถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสอนผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพ ด้วยความเชื่อที่ว่า คนด้อยโอกาสในสังคมไม่จำเป็นต้องไร้โอกาสเสมอไป โครงการนี้จะสร้างความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น และส่งเสริมให้ผู้พิการได้เห็นคุณค่าในศักยภาพของตนเอง ก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพ โดยการใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวส่งไปถึงคนอื่นๆ เพื่อให้ได้รู้จักและสัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของตน ในอีกรูปแบบนึง
“รูปนี้ เวลาผมถ่าย ผมสัมผัสเหมือนเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ รูปนี้เป็นรูปเถาวัลย์ ผมจินตนาการว่ามันเหมือนงู ก็เลยเห็นว่ามันแปลกดี มันขดๆ มันมีมิติ ก็เลยถ่ายมาครับ” น้องเอิร์ท นักเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด เชียงใหม่
ทั้งนี้ โครงการ Canon Blind Project เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรม CSR ของแคนนอน ที่ต้องการตอบแทนสังคม และแบ่งปันความสุขไปยังผู้ด้อยโอกาส ด้วยการใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อกลาง ก่อนหน้านี้แคนนอน ได้สนับสนุนโครงการของ Pict4all มาแล้ว 6 ปี และปีนี้เป็นปีแรกที่แคนนอนเปิดรับครูอาสาที่เป็นลูกค้าหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แคนนอนเข้าร่วมโครงการ และยังสนับสนุนอุปกรณ์การถ่ายภาพและอุปกรณ์การพิมพ์ภาพให้กับครูอาสา สำหรับการเรียนการสอนตลอดโครงการ พร้อมมอบอุปกรณ์ชุดใหม่รุ่นเดียวกันให้สถาบันนั้นๆ เพื่อใช้สอนต่อไป
โดยระยะเวลาของโครงการมีทั้งสิ้น 2 วัน คือ วันแรก (28 พฤษภาคม 2559) เป็นกิจกรรม Workshop ของคนตาดี ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เหล่าครูอาสาทุกคนต้องเรียนรู้เทคนิคและวิธีการสอนด้วยตัวเอง เริ่มจากการนำผ้าดำมาปิดตาทำให้ตัวเองเป็นเหมือนผู้พิการทางสายตา ใช้มือสัมผัสและใช้หูในการฟัง ศึกษาการใช้กล้องอย่างละเอียด เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อยังผู้ด้อยโอกาส และวันที่สอง (29 พฤษภาคม 2559) เป็นวันลงสนามจริง ครูอาสาต้องจับคู่กับผู้พิการทางสายตา แล้วสอนถ่ายภาพ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดเชียงใหม่
Blind Project by Canon: The Invisible
สำหรับโครงการนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับความอิ่มเอมใจกันไปถ้วนหน้าแล้ว ผู้พิการทางสายตายังได้พัฒนาทางด้านอารมณ์ การเข้าสังคม ทักษะการถ่ายภาพ และการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ในการใช้ภาพถ่ายเพื่อสื่อสารเรื่องราวได้เช่นเดียวกับคนปกติ โครงการนี้ไม่ใช่แค่ครูอาสา หรือแคนนอนเท่านั้นที่ได้เป็น “ผู้ให้” แต่ในขณะเดียวกันยังเป็น “ผู้รับ” อีกด้วย ได้รับทั้งแรงบัลดาลใจ และรอยยิ้มแห่งความสุขจากการร่วมโครงการดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั้งสองกลุ่มได้มาเรียนรู้โลกของกันและกัน
สำหรับโครงการต่อไป แคนนอน ยังเปิดรับครูอาสาเพื่อสอนผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพอยู่ ใครที่สนใจและต้องการมอบโอกาสในการสร้างสรรค์จินตนาการให้พวกเขา ติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ www.facebook.com/CanonLifeTH