เจาะลึก HERO HUB HELP โมเดลเพื่องาน Video Advertising จาก 3 กูรู Digital Agency

  • 48
  •  
  •  
  •  
  •  

การทำ Content Marketing นั้น มีหลากหลายรูปแบบ แต่คอนเท้นต์ที่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลปัจจุบันนิยมมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ Video Advertising ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นงานวิดีโอโฆษณาเป็นงานสร้างไวรัล   ซึ่งการทำงาน Video Advertising จริงๆ ไม่ได้มีแค่นั้น ความจริงแล้วมีโมเดลหนึ่งที่สามารถทำให้งาน  Video Advertising ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งในต่างประเทศนั้นทำกันอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ Hero Hub Help  ซึ่ง Marketing Oops! มองเห็นถึงประโยชน์ของการนำโมเดล Hero Hub Help จึงได้หาโอกาสพูดคุยกับ บุคคลในวงการเอเจนซี่แถวหน้าของเมืองไทย เพื่อทำความเข้าใจถึงโมเดล Hero Hub Help ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร จะทำให้งานครีเอทีฟดีขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือแบรนด์จะได้รับประโยชน์อะไรจากโมเดลนี้  พร้อมเคสดีๆจากผลงานที่ประสบความสำเร็จ โดยนักการตลาดแถวหน้า ซึ่งแต่ละท่านนั้นนั้นมีมุมมองกับการทำ Hero Hub Help ที่น่าสนใจ เราจึงอยากนำมาแบ่งปันให้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านต่อไป

“กิตติพัฒน์ มหพันธ์” Digital Strategy Director จาก Rabbit’s Tale หรือ คุณจ๊อบ

คุณจ๊อบ กล่าวถึงโมเดล Hero Hub Help  นี้ว่า เริ่มรู้จักกันมาสักพักหนึ่งแล้วราว 2-3 ปี เป็นโมเดลที่ทาง Google โดย YouTube เป็นคนคิดขึ้นมา ซึ่งเป็นการตีความหมาย Content Marketing ออกมาว่ามีกี่รูปแบบ แต่ละอันมีรูปแบบคอนเท้นต์ที่แตกต่างกันอย่างไร จนออกมาเป็น Hero Hub Help

jobสำหรับ Hero คือ วิดีโอเพื่อการโฆษณาอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่แบรนด์อยากจะพูด เป็นการตอบโจทย์ของแบรนด์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตามทฤษฎีนั้นจะเป็นคอนเท้นต์ในลักษณะที่ผู้บริโภคไป Browse แล้วพบกับคอนเท้นต์นั้นๆ เช่น การที่เรานั่งเล่นอินเตอร์เน็ทไปเพลินๆ แล้วก็ไปพบกับคอนเท้นต์ที่เป็น Hero เข้า ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์อยากจะโปรโมทออกมา ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็น Paid และ Viral เองด้วยก็ได้ มันจะขึ้นมาเป็นพักๆ ตามมาร์เก็ตติ้ง แพลน

ส่วน Help จะเป็นคอนเท้นต์ประเภทที่ seek หรือ search แล้วไปเจอ เช่น เราต้องการอยากรู้ว่าการทำบัตร ATM แบบใหม่มันเป็นอย่างไร เราก็จะเข้าไปค้นหา แล้วก็อาจจะไปเจอกับแบรนด์แบงก์กิ้งหนึ่งที่ได้ทำเอาไว้ ซึ่งคอนเท้นต์ประเภท Help เป็นอะไรที่ไม่ได้หวือหวา เป็นคอนเท้นต์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค หรือตอบคำถามตอบปัญหาของผู้บริโภค

ขณะที่ Hub เป็นอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างคอนเท้นต์ที่เป็น Browse กับ Seek แต่ในมุมมองของตนคิดว่ามันค่อนไปทาง Browse มากกว่า โดยที่ทางแบรนด์ทำตัวเป็น Publisher เป็นนิตยสาร หรือเป็นรายการทีวี มีการทำวิดีโอในลักษณะเป็นเอพิโซดต่างๆ เป็นรายการที่เราสนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น แบรนด์สายการบินทำรายการท่องเที่ยว แบรนด์อาหารทำรายการ cooking เป็นต้น

ในการทำงานของ Hero Hub Help นั้น คุณจ๊อบ มองว่า สามารถทำงานแบบแยกกันก็ได้ หรือจะทำงานในลักษณะเป็นแรงเสริมกันก็ได้ แต่ในโลกของดิจิทัลนั้นจะทำให้ แบรนด์สามารถพูดคุยกับผู้บริโภคได้ตลอดทั้ง 365 วัน หากนำมาผสมผสานกัน เช่น เมื่อแบรนด์หนึ่งปล่อย Hero ออกไปปีละ 2 ครั้ง ผู้บริโภคเห็นแล้วก็จบกัน แต่ถ้าแบรนด์อยากจะสื่อสารกับผู้บริโภคต่อก็จะต้องมี Help เข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาอยู่ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นวิดีโอ คอนเท้นต์ประเภท Hub เข้ามาเสริมเป็นซีรี่ย์หรือเอพิโซดที่คนสนใจ เช่นนี้แล้วเราก็จะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ตลอดอย่างต่อเนื่อง โมเดลนี้ ตอบพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลักอยู่แล้ว และหากเราได้ทำทั้ง Hero Hub Help ก็เหมือนกับว่าเราได้เปิดช่องให้คุยกับผู้บริโภคได้ตลอด

ยกตัวอย่างวิดีโอที่ทำตามโมเดล Hero Hub Help ที่ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ คือ ชาแนลของ Tesco Lotus ห้างสรรพสินค้าที่รู้ว่าจะต้องการโปรโมทอะไร จะเป็นในส่วน Hero จากนั้นถ้าเขาอยากจะพูดถึงเรื่องเสื้อผ้า ก็จะมีคอนเท้นต์ในทาง Hub อื่นๆ เข้ามาเสริม ในขณะเดียวกันก็จะมีคอนเท้นต์ที่เป็น Help เช่น How to วิธีในการแต่งตัวอย่างไรเวลาออกงานสำคัญ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งทุกแบรนด์ถ้าแคร็กไอเดียออกก็สามารถทำตามโมเดล Hero Hub Help นี้ได้หมด

สำหรับตัวอย่างวิดีโอที่มีความเป็น Hero ของ Tesco Lotus ได้แก่งานชิ้นนี้

พลัง…ชนะได้ทุกสิ่ง

และตัวอย่างของงานที่มีความเป็น Hub ของ Tesco Lotus ได้แก่งานชิ้นนี้

5 สุดภาษิต ช่วงสงกรานต์ รับรองเกิด!

ตั๊ก บริบูรณ์ กลับมาแล้ว …กลับมาทำอะไร!?

ส่วนตัวอย่างของงานที่มีความเป็น Help ของ Tesco Lotus ได้แก่งานชิ้นนี้

ขจัดคราบกาแฟในแก้ว (Removing Coffee Stain From Cups)

ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า (Cleaning Makeup Brushes)

ในแง่ของการตลาดนั้น คุณจ็อบมองว่า เป็น Content Marketing ที่เราอยากจะสื่อสารกับผู้บริโภคอยู่แล้ว เผื่อที่วันหนึ่งผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจมาเป็นลูกค้าของเรา ยุคนี้มันเหมือนการที่เราให้เขาสนใจเราไปเรื่อยๆ ถึงเวลาที่ผู้บริโภคมีความต้องการก็จะมาซื้อกับเรา เช่น วันนี้คนๆ หนึ่งอาจจะไม่สนใจซื้อรถยนต์ก็อาจจะไม่ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถ แต่มาวันหนึ่งเขาไปเจอข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่แบรนด์ทำเอาไว้ จนเราชอบแบรนด์นี้ขึ้นมาก็ได้จากที่ไม่เคยสนใจเลย อย่างไรก็ตาม มันอาจจะไม่ใช่ ปัจจัยเดียวที่ทำให้เขาซื้อ จะต้องมีการผสมผสานสิ่งอื่นๆ โมเดลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการ Convince ผู้บริโภคได้เท่านั้น

“โมเดลนี้ผมค่อนข้างชอบมากทีเดียว ยิ่งถ้าเป็นในรูปแบบ Video Advertising  ก็จะเห็นภาพชัดขึ้น เพราะวิดีโอก็เป็นอะไรที่ผู้บริโภคยุคนี้สนใจอยู่แล้ว มันมีประโยชน์ในแง่ของการ Inspire และ Entertain ได้ค่อนข้างเยอะ ยิ่งถ้ามุมมองต่อแบรนด์แล้วผมว่าโมเดลนี้ใช้ได้เลย ถ้าได้คุยกับลูกค้าที่รู้จักโมเดลนี้ก็จะยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ แค่เราใส่ความเป็นครีเอทีฟลงไป”

 

คุณหน่อง จาก Showroom

คุณหน่อง ให้ความหมายของ Hero Hub Help ว่า คือ Content Strategy หนึ่งเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพย์ Video Content เนื่องจากปัจจุบันอายุของคลิปมันสั้นและสั้นลงเรื่อยๆ การนำโมเดลนี้มาก็จะช่วยทำให้ engage กับผู้บริโภคไปตลอดช่วงเวลาของ Consumer Journey หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะเทิร์นหรือว่าคอนเวิร์สผู้บริโภคเหล่านั้นให้มาลองสินค้าหรือบริการของแบรนด์ หรืออาจจะมาเป็น Loyal Consumer ของเราก็ได้

showroom2

“Hero มันคือการเรียกร้องความสนใจ ในแบบ mass scale การที่แบรนด์จะเรียกร้องความสนใจของคนหมู่มากเราก็จะต้องทำสิ่งหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเราเรียกมันว่าเป็น Hero คล้ายกับการจุดไฟบางอย่างให้ติดในใจผู้บริโภค พอมันติดเสร็จแล้วถ้าเราไม่มีตัวต่อไฟมันก็จะหายไป

ดังนั้น ตัวที่ 2 ที่ถูกพูดถึงก็คือ Hub เป็นคอนเท้นต์ที่มีความต่อเนื่องมาจาก Hero โดยการที่เราจะแมทช์แบรนด์เข้ากับความสนใจของผู้บริโภค สมมุติ ผู้บริโภคเริ่มรู้แล้วว่าเราเป็นใคร เริ่มหันมาสนใจแบรนด์ของเราแล้ว จากนั้นเราก็จะเอาเรื่องของแบรนด์เราไปแมทช์กับความสนใจของเขา ที่ถูกจังหวะ และถูกจุด

หลังจากที่เขารู้จักเสร็จแล้ว ก็จะเริ่ม engage เริ่มลึกลงมา เข้าใกล้แบรนด์ของเรามากขึ้น หลังจากนั้นเขาอาจจะเกิดปัญหา หรือเกิดคำถาม ตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของ Help เพราะว่า Help เป็นเสมือนคำตอบที่บอกว่าเมื่อสนใจแล้ว เมื่อ engage แล้ว ถ้ามีคำถามนี้แบรนด์จะต้องตอบได้อย่างทันที ดังนั้น นอกเหนือจากสร้าง engage แล้วมันยังปิด gap ในใจของผู้บริโภค มันจะทำให้เขารู้สึกว่าตลอดเวลานั้นแบรนด์นี้เข้าใจเขา ดังนั้น เราจึงเรียก Hero Hub Help มันคือ Content Strategy”

เมื่อให้คุณหน่องยกตัวอย่างงานในประเทศและต่างประเทศที่ใช้โมเดล Hero Hub Help แล้วประสบความสำเร็จ คุณหน่องแนะนำงานแคมเปญ Flavour of Home ของ “คนอร์” โดยเราใช้คลิป “เมื่อปิ่นโตเดินทาง” เป็นตัว Hero ในขณะที่ Hub คือวิธีการทำอาหารตามอย่างในคลิป เป็นการขยายความออกจากตัว Hero ในขณะที่ Help เป็นเมนูอาหารต่างๆ นอกเหนือจากเมนูในคลิป เป็นงาน How to เพื่อตอบคำถามในใจผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งในรูปแบบคลิปและรูปแบบเท็กซ์ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของแบรนด์ เรียกได้ว่าทั้งหมดนี้ ทำให้คอนซูมเมอร์อยู่กับเราตลอดการเดินทาง เป็นการคอมพลีท Journey ของผู้บริโภค

“เมื่อปิ่นโตออกเดินทาง Flavour of home”

สำหรับผลงานต่างประเทศที่ชอบ และทำในโมเดลนี้ได้ดี เป็นงานของ Gillette Razors ซึ่งแม้ว่า Hero ของเขานั้นทำออมาเน้นการขายจองโดยตรงเลยแต่ก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจมาก ทั้งนี้ แคมเปญนี้เขาต้องการเน้นที่ว่าหัวเครื่องโกนหนวดของเขานั้นมันไดนามิกหมุนได้รอบทิศทาง โดยนำมาเปรียบเทียบกับการดีดของเครื่องดนตรีเปียโน

Son Lux and Gillette Razors Piano Performance

https://youtu.be/OgV8BsPvrzM

หลังจากงานชิ้นนี้แล้วก็ดึงลงมาที่ Hub ด้วยคลิปอีกคลิปหนึ่ง เป็นการนำเสนอเทคนิค one stroke หมายถึงการโกนหนวดแบบครั้งเดียวโดยไม่ยกมือ นอกจากนี้ ก็จะมีวิดีโอคอนเท้นต์อื่นๆ ที่เอาไปแมทช์กับเรื่องของแฟชั่น เป็นลักษณะของ How to ต่างๆ เพื่อตอบคำถามที่คนสนใจมันคือการทำ Help ถ้าเป็นสิวโกนหนวดทำอย่างไร การโกนขนหน้าอกทำอย่างไร เป็นต้น

เมื่อถามถึงในแง่ของแบรนด์แล้ว ตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์หรือไม่ คุณหน่องชี้ว่า ตอบโจทย์แน่นอนเลย เพราะมันไม่ได้แค่การสร้างแคมเปญ แต่มันคือการสร้างแบรนด์ดิ้งระยะยาว

“คอนเท้นต์ที่มันขึ้นไปบนดิจิทัลมันจะอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา อย่าง Hero คนดูดูแป๊ปนึงแล้วก็ผ่านไป แต่ Hub มันคือสิ่งที่เขาสนใจทุกครั้งที่ผู้บริโภคเสิร์ชในสิ่งที่เขาสนใจก็จะเจอกับแบรนด์ แม้ว่าแคมเปญจะจบไปแล้วก็ตาม แม้กระทั่ง Help มันคือคำตอบที่มาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคเกิดคำถามแล้วแบรนด์สามารถเป็นคำตอบให้กับเขาได้ อันนี้แหละคือการสร้างแบรนด์ มันคือ Long term engagement เพราะว่าเกมการตลาดในปัจจุบันมันคือเกม Top of Mind Battle เราไม่ได้แข่งกันเอง แต่เราแข่งกันให้อยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้”

อย่างไรก็ตาม คุณหน่องยังให้ข้อควรระวังในการหยิบโมเดล Hero Hub Help มาใช้ว่า จะต้องระวังในเรื่องการตีโจทย์ตั้งแต่แรก เพราะถ้าพลาดแล้วก็จะพลาดทั้งขบวนเลย แบรนด์ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะต้องมีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณหน่องทิ้งเอาไว้ให้วงการโฆษณาและแบรนด์คิดเกี่ยวกับโมเดลHero Hub Help ก็คือ “วงการโฆษณาไทยน่าจะหันมาลองทำงานตามโมเดลนี้ เพราะว่างานโฆษณามันไม่ใช่แค่บอกว่าเรามีอะไร มันคือการส่งต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นยิ่งเราแข่งขันกับการทำคอนเท้นต์ที่มีประโยชน์ให้กับคอนซูมเมอร์ สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นวงการเราเอง คอนซูมเมอร์คนไทยเอง หรือว่าตัวแบรดน์เอง มันก็จะวินวินไปพร้อมกัน ถึงได้บอกว่าโมเดลนี้มันน่าสนใจมาก เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันคือการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค เราจะทำคอนเท้นต์ที่ดีพอ ที่ทำให้ผู้บริโภคอยากซื้อ

“อย่าคิดว่าเราจะขายอะไร ต้องคิดว่าเราจะมีประโยชน์ในการที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร ให้คอนซูมเมอร์ นั่นคือ สิ่งที่โลกของโฆษณาในโลกดิจิทัลมันกำลังจะเป็น ล้านวิวแล้วไงต่อ เราต้องคิดเสต็ปที่สองแล้ว เมื่อเขาสนใจเรา และถ้าเห็นว่ามันเป็นประโยชน์นั่นต่างหากคือสิ่งที่เราควรจะเป็น”

 

“ดรากร ศิรโกวิท” Founder and Director of Strategy จาก Storyteller หรือคุณตูน

คุณตูนได้ให้คำนิยามของ Hero Hub Help ในแบบฉบับของ Storyteller ได้อย่างน่าสนใจว่า นอกเหนือไปจากความเข้าใจโดยทั่วไปที่ Youtube มาให้คำแนะนำในเรื่อง Hero Hub Help แล้วสำหรับบริษัทเรามองว่ามันคือ Creative of Opportunities ด้วยความที่มิสชั่นของเราคือทำให้แบรดน์ Go Younger หมายความว่า แบรนด์แต่ละแบรนด์แม้จะโตด้วยเวลา แต่จะต้องมีคอนซูเมอร์ใหม่เข้ามาได้ตลอดเวลา แบรนด์ไม่สามารถพึ่งแค่ Loyal user ได้แต่เพียงอย่างเดียว จะต้องมีคนที่ feed เข้าแบรนด์อยู่ตลอดเวลา

Toon2

“ผมอาจจะเห็น Hero Hub Help ไม่เหมือนคนอื่น ไม่ใช่แค่จำนวนคนที่เข้ามา แต่ว่าหนึ่งโปรดักส์อาจจะมีการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบได้ หรืออาจจะ inspire ให้ลูกค้าคนเดิมแต่ใช้งานมากขึ้นก็ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามองว่า Hero Hub Help มันมีความสามารถและศักยภาพได้มากกว่าแค่เป็น Content Strategy เราเห็นโอกาสที่จะทำได้มากกว่านั้น เป็นโอกาสที่จะดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เข้ามา มันมีทางที่จะ engage ได้หลายๆ ทางและหลายๆ มุม เป็นการคิดนอกกรอบมากกว่าโมเดลที่มี”

ลองให้คุณตูนยกตัวอย่างงานในลักษณะ Hero Hub Help ที่เข้ากับแนวคิดของ Storyteller คุณตูนบอกว่าเป็นงานของ Under Armour  ที่เน้นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “การซ้อม” โดยเขามีไลน์ที่บอกว่า  It’s what you do in the dark, that puts you in the light. #RuleYourself  สิ่งที่คุณทำตอนที่คนอื่นไม่เห็นจะทำให้คนทั้งโลกเห็น นั่นคือการซ้อม เป็น Hero คอนเท้นต์ที่ไป inspire คนได้

Under Armour | Rule Yourself

และเมื่อเราเข้าไปใน Hub ของแบรนด์นี้ก็จะพบว่ามีคอนเท้นต์อีกหลายอย่างเลยเป็นเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จจากการซ้อม ในขณะที่ Help คือวิธีที่จะซ้อมให้ดีที่สุด โดยที่ Under Armour มีการใส่โปรดักส์ของเขาเข้าไปในส่วนนี้ เป็น How to คอนเท้นต์ที่สามารถเชื่อมโยงกับโปรดักส์ได้เลย ซึ่งไม่ได้แค่ทำหน้าที่เฉพาะกับคนที่อยู่ใน Hub อยู่แล้วเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่ในการดึงคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังมองหาวิธีในการวิ่งอยู่ให้เร็วที่สุด หรืออุปกรณ์ช่วยเสริมในการวิ่งคืออะไร ฯลฯ ซึ่งมองว่าเป็นวิธีการที่เข้ากับแนวคิดของบริษัทด้วย โดยการทำหน้าที่ในการหาคนกลุ่มใหม่ๆ มาด้วย

ในการทำงานของเอเจนซี่แล้วตามแนวคิดของ Storyteller แล้วคุณตูนเห็นว่า Hero Hub Help มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยในการแบ่งหน้าที่ระหว่างฝ่ายครีเอทีฟและแพลนเนอร์ออกจากกันอย่างชัดเจน คือฝ่ายครีเอทีฟทำหน้าที่ในการเล่า Brand Story คือการทำ Advertising ในขณะที่แพลนเนอร์ทำหน้าที่ไปหาโอกาสใหม่ๆ หาคอนซูเมอร์ใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ เพื่อให้มาพบกับคอนเท้นต์ที่ฝ่ายครีเอทีฟได้ทำไว้ จะเห็นหน้าที่ที่ชัดเจนมากขึ้น

ในขณะที่ประโยชน์สำหรับแบรนด์นั้นคุณตูนมอง มันคือโอกาสในการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เข้ามาที่แบรนด์ เพราะว่าข้อเสียของโลกดิจิทัลคือคนดูโฆษณาไม่ว่าแพล็ทฟอร์มอะไรก็ตาม มักจะดูแค่ครั้งเดียว หรืออาจจะดูไม่จบ หรือแย่ไปกว่านั้นคือไม่ได้ดูเลยก็ได้ เพราะผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมายให้เสพย์ได้

“ดังนั้น สำหรับ Hero Hub Help มันจะช่วยในการทำหน้าที่เข้าหาผู้บริโภคกลุ่มเดิม และผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้ตลอดเวลา ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะไม่สนใจ Hero ของเราก็ได้ แต่อาจจะไม่สนใจคลิป How to (Help) ของเราก็ได้ มีประโยชน์ต่อแบรนด์ในแง่ของการสื่อสารกับผู้บริโภคตลอดเวลา และเปิดโอกาสให้ลองหาคอนซูเมอร์ใหม่อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน” 

ได้ฟังทัศนะเกี่ยวกับ Hero Hub Help ของทั้ง 3 ท่านไปแล้ว ซึ่งแต่ละท่านก็เห็นแง่มุมดีๆ ในการเดินตามโมเดลดังกล่าวนี้แตกต่างกันไป ซึ่งเเราหวังว่าบทความนี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนไอเดียและแนวคิดดีๆ ของคนที่กำลังสร้างสรรค์ผลงาน Video Advertising อยู่ในขณะนี้ หากคุณอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมของ Hero Hub Help รวมทั้ง Framework ของการสร้างคอนเท้นต์ คุณสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่  YouTube Playbook for Brands อาจจะทำให้คุณเกิดความเข้าใจในโมเดลนี้เพิ่มมากขึ้นค่ะ

YouTube Playbook for Brands Ep 2/6 – A Content Creation Framework

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 48
  •  
  •  
  •  
  •