สถานการณ์โทรคมนาคมของไทยเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น Truemove แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz รอบใหม่นี้ เพราะมีคลื่น 900 และ 1800 หรือมีหนี้เป็นต้นทุนอยู่แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ dtac ก็แสดงเจตนาชัดเจนเช่นกันว่า ไม่ขอเข้าประมูล มีเพียง AIS ที่เดินไปยื่นเอกสารเตรียมเข้าประมูลแต่เพียงรายเดียว เท่ากับว่าราคาประมูลจะเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท และไม่น่าจะเพิ่มจากนี้แล้ว
เท่ากับว่า ตลาดบริการโทรศัพท์มือถือบ้านเรา จะยังคงมีเพียง 3 รายหลักเท่านั้น คือ AIS, dtac และ Truemove ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยปีนี้ AIS และ Truemove ได้คลื่นใหม่ไปเพิ่มเติมกัน ส่วน dtac เป็นรายเดียวที่ไม่ได้คลื่นใหม่ไปเลย จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ได้มาพูดคุยและให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
คุณประเทศ บอกว่า dtac ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 1800 และ 900 เพราะเห็นแล้วว่าคลื่นที่มีอยู่ในมือ 850, 1800 และ 2100 MHz เพียงพอสำหรับให้บริการได้แบบสบายๆ ยิ่งในเวลานี้ คลื่น 1800 นำมาให้บริการ 4G อยู่ 15MHz และกำลังเพิ่มเป็น 20MHz ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นประสิทธิภาพได้ชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือประมาณเดือน ก.ย. นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้น และรองรับผู้ใช้ได้มากขึ้น
สาเหตุหนึ่งที่การยกระดับบริการ 4G ของ dtac ยังช้าอยู่บ้าง เนื่องจาก คลื่น 1800 ยังต้องให้บริการ 2G กับลูกค้าของ dtac ที่ยังมีอยู่กว่า 2 ล้านราย ถือเป็นการดูแลลูกค้าที่สำคัญ ขณะที่คลื่น 850 และ 2100 ใช้ให้บริการ 3G และ 4G ในบางส่วน ก็จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นกัน
ส่วนคำถามที่ว่า คลื่น 850 และ 1800 ของ dtac จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปีกว่า คุณประเทศ บอกว่า ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ถึงเวลานั้น dtac จะเป็นผู้ให้บริการที่มีศักยภาพในการประมูลสูงสุด จากเหตุผลต่อไปนี้
1. dtac มีสถานภาพทางการเงินที่ดีมาก ไม่มีหนี้สิน พร้อมสำหรับการประมูลในราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง
2. คู่แข่งในตลาดคือ AIS และ Truemove อาจจะเข้าร่วมแข่งประมูล แต่ปีนี้ทั้ง 2 ราย มีหนี้ต้องชำระจากการประมูลรวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น dtac จึงมีแต้มต่อที่ดีกว่า
3. คลื่น 1800 มีความถี่ประมาณ 45MHz ซึ่งหากนำมาแบ่ง อาจจะใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-15-10 สำหรับ 3 ใบอนุญาต ขึ้นกับการวางหลักเกณฑ์ของ กสทช. ดังนั้น dtac มีโอกาสสูงที่จะได้
4. แม้ว่าในปี 2561 dtac จะเหลือคลื่นในมือเพียง 2100 เท่านั้น แต่สถานการณ์นี้ AIS เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา (สัมปทานหมด เหลือคลื่น 2100 เพียงคลื่นเดียว รองรับผู้ใช้ประมาณ 40 ล้านราย) ดังนั้น dtac จะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
5. หากไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการเยียวยา โดย dtac มีสิทธิ์ใช้คลื่นเพื่อให้บริการประชาชนต่อไป และจ่ายค่าเช่าใช้คลื่นให้กับ กสทช.
อย่างไรก็ตาม dtac ได้ยื่นหนังสือปกขาว หรือ White Paper โดยหนึ่งในข้อเสนอคือ รัฐบาลควรนำคลื่นความถี่อื่นๆ มาจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์กับประเทศชาติ เช่น คลื่น 700 และ 2600MHz
อันดับแรกคือคลื่น 2600MHz ซึ่งอยู่ในมือของ อสมท แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้งานคลื่นนี้แล้ว ยิ่งถ้ามองในระดับโลก คลื่น 2600 ถูกนำมาใช้พัฒนาบริการ 4G LTE เป็นคลื่นแรก และเครื่องมือถือที่ใช้อยู่ในตลาดเวลานี้ ส่วนใหญ่ก็รองรับคลื่นนี้อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ขณะที่คลื่น 700 เดิมใช้เพื่อกระจายสัญญาณโทรทัศน์ แต่เวลานี้ไม่ได้ใช้แล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม
ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า การประมูลคลื่น 900 และ 1800 ที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อมีคลื่นที่ไม่ได้ใช้งาน รัฐยิ่งน่าจะนำออกมาประมูลเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ และเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ได้อีกด้วย
คุณประเทศ บอกว่า การเกิดผู้เล่นรายที่ 4 ยังมีความเป็นไปได้ ที่ผ่านมาแม้จะมี Jazz เข้ามาร่วมประมูลคลื่น 1800 และ 900 แต่ด้วยมูลค่าการประมูลที่สูงเกินไป ทำให้เป็นเรื่องยากในการทำตลาดสำหรับผู้เล่นรายใหม่ แต่ถ้ามีการประมูลคลื่น 700 หรือ 2600 เชื่อว่าต้นทุนจะไม่สูง และเอื้อให้เกิดรายใหม่ในตลาด
“การประมูลคลื่น 1800 dtac หยุดที่มูลค่า 17,000 ล้านบาท ถ้าไม่มี Jazz ร่วมประมูล การประมูลจะจบไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่พอมี Jazz เป็นรายใหม่ ทำให้มูลค่าคลื่นเพิ่มสูงขึ้นถึง 40,000 ล้านบาท อาจจะดีในแง่เงินที่รัฐจะได้ แต่ถ้าไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โอกาสที่รายใหม่จะได้คลื่น และสามารถแข่งขันในตลาด จะเป็นเรื่องที่ยากมาก”
ถือเป็นทัศนะที่น่าสนใจจาก คุณประเทศ ตันกุรานันท์ CTO ของ dtac ดังนั้นใครเป็นลูกค้า dtac อยากให้โฟกัสที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และอดใจรออีกนิด ภายในไตรมาส 3 จะได้ใช้ 4G แบบเต็ม 20MHz ในหลายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าอีก 2 ปีกว่าๆ dtac จะมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการได้ดีเช่นเดิม